สนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เพิ่ม กก. กลั่นกรอง 9 คน-กมธ.ยันไม่ละเมิดสิทธิชัวร์
สนช. ไม่สน 3 แสนเสียงค้าน เดินหน้าผ่านวาระ 2-3 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปรับแก้หลายประเด็น ตัดทิ้งคำ 'บริการสาธารณะ' เพิ่ม คกก.กลั่นกรอง 9 คน การันตีที่นั่งภาคสิทธิมนุษยชน-สื่อสารมวลชน-เทคโนโลยีสารสนเทศ ยันมาตรา 14 (1) จุดประสงค์เชือดพวกบิดเบือน-ฉ้อโกง ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ลั่นบังคับใช้โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระที่ 2 ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 และจะมีการพิจารณาวาระที่ 3 ต่อเนื่องด้วย
โดยเบื้องต้นมีสมาชิก สนช. หลายราย เช่น นายสมชาย แสวงการ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น อภิปรายร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะในหลายมาตราที่ใส่เนื้อหาว่า การบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นคำที่คลุมเครือ และตีความยาก ซึ่งต่างกับคำว่าความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงทางสาธารณะ ที่ต้องกำหนดโทษไว้สูงอยู่แล้ว
นอกจากนี้มีสมาชิก สนช. หลายรายเช่นกัน อภิปรายถึงมาตรา 14 (1) และ (2) ที่มีการเพิ่มคำว่าบิดเบือน ซึ่งอาจทำให้ตีความหมายได้ยากขึ้น รวมถึงมาตรา 20 และมาตรา 20/1 ที่เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 5 ราย โดยจะพิจารณาตีความบทบัญญัติที่ว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน อย่างไร รวมถึงยังสามารถลบเนื้อหาที่ไม่ผิดได้ด้วย
ประเด็นเหล่านี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ชี้แจงสรุปได้ว่า ประเด็นการบริการสาธารณะนั้น เบื้องต้นใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 เคยมีบทบัญญัตินี้ไว้อยู่แล้ว แต่อาจไม่สำคัญ อย่างไรก็ดี กมธ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของคำนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน ส่วนในมาตรา 14 (1) วัตถุประสงค์ของมาตรานี้คือมุ่งเรื่องการทุจริต หลอกลวง การฉ้อโกง หรือพวกปลอมอีเมล์อะไรต่าง ๆ ทั้งหลาย ซึ่งชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ส่วนคำว่าบิดเบือนนั้น หมายความว่า เป็นข้อมูลจริงแต่ไม่ทั้งหมด ไม่ทำให้ตรง ๆ คำนี้มาจากกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากคำว่าปลอม เพราะบิดเบือนคือการให้ข้อมูลไม่หมด ทำให้เกิดการเสียหายขึ้นได้ ส่วนที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทคือ มาตรา 16 วรรคแรก เช่น การตัดต่อภาพ ทำให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาในมาตรา 20 และมาตรา 20/1 ของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีสมาชิก สนช. หลายคนอภิปรายเกี่ยวกับกรณีขัดกับความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ต้องการให้เพิ่มจำนวนของคณะกรรมการฯ จากเดิม 5 ราย ให้เป็นอย่างน้อย 7 ราย หรือ 9 ราย เพื่อช่วยคัดกรองข้อมูล
กระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 13.49 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. สั่งพักการประชุม เพื่อให้ กมธ. ไปพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในส่วนของคณะกรรมการฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ แถลงต่อที่ประชุม สนช. ว่า พิจารณาแล้วเห็นว่าคณะกรรมการฯชุดนี้มีความสำคัญ แม้ไม่มีผลชี้ถูกชี้ผิดในทางคดี แต่มีผลนำไปสู่การนำเรื่องราวไปยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบข้อมูล ดังนั้นจากที่ กมธ. ปรึกษาหารือกันเห็นว่าถ้ามี 5 ราย ครึ่งหนึ่งเหลือ 3 ราย อาจน้อยไป ที่เหมาะสมควรเป็น 9 ราย ครึ่งหนึ่งเหลือ 5 ราย ดังนั้นควรเพิ่มจาก 5 ราย เป็น 9 ราย โดยใน 9 ราย จะมี 3 ราย เป็นตัวแทนจากภาคสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้เห็นว่าไม่ถูกครอบคลุมหรือถูกจำกัดเกินไป และอาจมีการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเข้ามาด้วย โดยให้ยื่นคำร้องไปที่ศาล ให้ศาลไต่สวนคำร้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ตัดคำว่าการบริการสาธารณะออกไปจากเนื้อหาทั้งหมดด้วย
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า ในมาตรา 20 มีการระบุถึงการระงับการเผยแพร่ และการลบข้อมูลหลายประเด็น ซึ่งถ้าศาลสั่งแล้วไม่ทำในกฏหมายเดิมมีอยู่แล้ว ดังนั้นเห็นว่าถ้าแยกมาตรา 20 เป็นมาตรา 20/1 ก็อาจไม่ครอบคลุมถึงความผิดได้ จึงเห็นควรให้ยุบรวมมาตรา 20 และมาตรา 20/1 ไว้ด้วยกัน โดยจะยกมาตรา 20/1 เข้ามาแทนวรรค 3 ของมาตรา 20 เลย ส่วนกระบวนการของศาลตามและวรรค 4 ให้การดำเนินการของศาลตามวรรค 1 และวรรค 2 นำประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม โดยให้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ออกประกาศ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ถ้าบางเรื่องต้องรีบทำ ให้เจ้าหน้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลก่อนจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก็ได้ แต่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบด้วย
“ตัวแทนภาคเอกชนในส่วน สิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ จะมีได้แค่ 3 ราย เกินกว่านี้ไม่ได้แน่ ๆ แต่ต้องเข้าใจว่าในมาตรา 20 วรรค 3 ที่แทนด้วยมาตรา 20/1 แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นว่ามีคณะเดียว แต่มีหลายคณะได้ ดังนั้น ตัวแทนภาคเอกชนทั้ง 3 ส่วนข้างต้น ก็สามารถปะปนอยู่ในหลายคณะได้ ส่วนด้านอื่น ๆ เป็นการเปิดกว้างไว้ โดยอย่างน้อยคือให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องว่า ข้อมูลขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว
หลังจากนั้นที่ประชุม สนช. ได้ลงมติในรายมาตราตามที่ กมธ. ได้ปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯดังกล่าว โดยมาตราที่ถูกสมาชิก สนช. อภิปรายบ่อยครั้ง คือ มาตรา 8 แก้ไขมาตรา 14 (1) และ (2) เห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 6 ราย จากทั้งหมด 175 ราย มาตรา 11 แก้ไขมาตรา 16/1 และมาตรา 16/2 เห็นด้วย 170 เสียง งดออกเสียง 4 ราย จากทั้งหมด 174 ราย และมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 20 เห็นด้วย 170 เสียง งดออกเสียง 4 ราย ไม่ลงคะแนน 1 ราย จากทั้งหมด 175 ราย
ส่วนการลงมติทั้งร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวาระที่ 3 เห็นด้วย 168 เสียง งดออกเสียง 5 ราย จากทั้งหมด 173 ราย
ภายหลังการลงมติในวาระที่ 2 พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวต่อที่ประชุม สนช. ว่า ที่มีภาคประชาชนลงชื่อค้าน 2-3 แสนชื่อ ทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนว่า การพิจารณากฎหมายต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสมดุลพอดี ระหว่างการใช้อำนาจหน้าที่ของบ้านเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ซึ่งได้พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เป็นข้อกังวลของหลายฝ่ายคือจะมีเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์ (Single Gateway) หรือไม่ เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีเรื่องนั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้กังวลทั้งหมดคงกระจ่างชัดเจน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ และคณะรัฐมนตรีเห็นความสำคัญ นำมาซึ่งกฎหมายที่นำมาสู่การพิจารณาของ สนช. โดยเป็นกฎหมายที่ต้องใช้ต่อไป แต่ไม่ไปละเมิดสิทธิของประชาชน หรือสิทธิบุคคลอย่างแน่นอน ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้กฏหมายนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(อ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 : http://bit.ly/2hoLrEi)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ตร่วมกับแอมเนสตี้ นำโดย น.ส.สฤนี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารเครือข่ายพลเมืองเน็ต ยื่นหนังสือที่มีรายชื่อประชาชนกว่า 3 แสนชื่อ ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอให้ดำเนินการทบทวนและแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน