เลขาฯ ACT มั่นใจพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ผ่านสนช.แล้ว-ป้องกันการคอร์รัปชันดีกว่าเดิม
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ชี้ มาตรา 7 พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฉบับใหม่เป็นการแก้ไขการทุจริต โดนโทษทั้งคนให้และคนรับ แนะปรับแก้กม.อื่นเพื่อตรวจสอบการซื้ออาวุธ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ว่า การจัดซื้อจัดจ้างคือการเปลี่ยนเงินแผ่นดินให้เป็นสินค้าและบริการ เพื่อพัฒนาประเทศหรืออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และเนื่องจากการจัดซื้อมีความหลากหลายมากไม่ใช่แค่ซื้อ โต๊ะ เก้าอี้ บางครั้งเป็นการซื้อเครื่องการแพทย์ เครื่องวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก อย่างเช่นกรณีภัยพิบัติ ฉะนั้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องมีการยืดหยุ่นพอสมควร
"ที่ผ่านมาประเทศไทยมีแค่ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นคล่องตัวในการทำงาน แต่การคอรัปชั่นไปสร้างความเสียหายให้กับการจัดซื้อจัดจ้างตลอดมา ทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นจึงต้องออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ โดยได้มีการวางหลักการหลักๆ ไว้ คือกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น มีคณะกรรมการ 5 ชุด มีผู้แทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นกรรมการด้วยและมีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่นำเสนอมาตรการการมีส่วนรวมของภาคประชาชนโดยตรง ซึ่งอดีตที่ผ่านมาไม่มี อันนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉบับใหม่
ดร.มานะ กล่าวถึงมาตรา 7(1) ได้ยกเว้นการใช้บังคับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การจัดซื้อจัดจ้างจากเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ
"กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เรื่องการยกเว้นพ.ร.บ.นี้ต่อการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรานี้ และคิดว่า นี่คือความตั้งใจอยากแก้ปัญหาในหลายด้าน เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์ของทหารซึ่งเป็นความลับ การทำเทิร์นคีย์เป็นปัญหาโกงขนาดใหญ่ของประเทศมาโดยตลอด อะไรก็เป็นกรณีเร่งด่วน อะไรก็เป็นกรณีพิเศษพวกนี้ทำให้เกิดปัญหา ถ้ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ยืดหยุ่นได้เลยจะไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ รัฐต้องมีมาตรการอื่นๆเข้าไปเสริมควบคุม เช่น เรื่องของการโปร่งใส ซึ่งไม่ได้เขียนไว้โดยตรงในพ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มเรื่องความโปร่งใส"
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวถึงการไปแก้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ รัฐต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม รัฐต้องทำให้เหมือนตามที่รัฐธรรมนูญเขียนว่า สิทธิของประชาชนที่จะติดตามเร่งรัด ร่วมทั้งสิทธิของประชาชนที่จะไปร้องเรียนหน่วยงานที่ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ เช่น ไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ แบบนี้ต้องไปเสริมมาตรการเข้ามาแทน
"ที่น่าสนใจคือพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้กระทรวงการคลังจะต้องไปออกกฎหมายลูกอีก 20 กว่าฉบับ อันนี้สำคัญว่าจะมีการกำหนดรายละเอียดอย่างไร ถ้าเกิดไปซื้อเทิร์นคีย์จะต้องกำหนดรายละเอียดและความชัดเจน เรื่องกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำ 1 ปีสูงสุด 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นอกจากจะมีมาตรการควบคุมแล้ว ยังมีการลงโทษที่รุนแรงขึ้นกฎหมายจะสอดรับกัน กฎหมายของปปช.ที่ออกมาใหม่ ที่บอกว่าคนให้และคนรับมีความผิดเท่ากัน ในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างก็จะเหมือนกันมีการลงโทษทั้งคนให้และคนรับ และกฎหมายได้เพิ่มแนวทางให้กับเจ้าหน้าที่จัดซื้อของรัฐ จากนี้ไปจะได้รับการฝึกอบรมทางด้านจรรยาบรรณในหน้าที่และจะมีเงินเดือนพิเศษให้ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความมืออาชีพยิ่งขึ้นและตัดปัญหาการเอาคนของตัวเองเข้ามาทำงาน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ศิริพล ยอดเมืองเจริญ' ยันไม่คิดถอนร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ออกจากสนช.
เปิดข้อสังเกตศาลปกครอง 2 ฉบับ ที่มีต่อร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
นักนิติศาสตร์จี้รัฐถอนร่างกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ้นสนช. หวั่นทำปท.ถอยหลังไปยุคจอมพลสฤษดิ์