ทำไมต้องมี "พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ" เป็นกฎหมายกลางของประเทศ
“การจัดสรรน้ำเป็นเรื่องใหญ่ ที่กฎหมายทุกฉบับไม่ผ่านก็เพราะเรื่องนี้ บอกจะเก็บค่าน้ำ ไม่ใช่เก็บค่าน้ำประชาชน เก็บค่าน้ำภาคอุตสาหกรรม ก็จะมีคนมาต่อต้านทันที ฉะนั้นทำอย่างไรเป็นที่เข้าใจ หรือมีการอธิบายมากกว่าที่เป็นอยู่ว่า รัฐไม่ได้เก็บค่าน้ำจากประชาชน ในกฎหมายต้องเขียนให้ชัด”
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนา “ทำอย่างไร พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะเป็นกติกาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีพลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาและพิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อเกษตรกรรม ประธานเปิดงาน
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แม้ที่ผ่านมามีความพยายามตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมา แต่ก็ไม่มีกฎหมายรองรับเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกฯ มองว่าไม่พอ เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งทรัพยากร คน งบประมาณก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย
“การจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ มีความยาก ที่จะรวบรวมหน่วยงานถึง 33 หน่วยงานที่ดูแลบริหารจัดการน้ำของประเทศมาไว้ด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาทำงานแบบแยกส่วน ฉะนั้น กรมทรัพยากรน้ำ พยายามร่างกฎหมายกลางของประเทศออกมา ให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกันถือว่าดีมาก แม้ยังมีจุดอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถไปได้”
ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า การเขียนกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรอำนาจนั้นจะให้กรมใดกรมหนึ่งไปเหนือกว่าอีกกรมหนึ่งไม่ได้ ซึ่งหากมีกฎหมายกลางของประเทศ จึงกฎหมายจะไม่ใช่เป็นของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเด็ดขาด ต้องมีคนกลาง
สำหรับการเขียนกฎหมายจัดการทรัพยากรน้ำ แก้ปัญหาความขัดแย้ง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องให้อำนาจไปอยู่ที่ภาคประชาชน ท้องถิ่น ที่ผ่านมากฎหมาย 4-5 ร่างไม่เคยผ่านรัฐสภาได้สักครั้ง เราอยากให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาให้ได้ เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลชุดนี้
“เมื่อรัฐบาลต้องการวางแผนประเทศระยะยาว น้ำคือชีวิตเป็นเรื่องใหญ่มาก และการบริหารจัดการน้ำสำคัญที่สุด หากไม่แก้เรื่องนี้วิกฤตครั้งต่อไปจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเราเห็นแนวโน้มมากขึ้น ไม่ได้มีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนแล้ง น้ำท่วมบ่อยเท่านั้น การบริหารจัดการก็แย่ลงทุกทีด้วย ฉะนั้นบทเฉพาะกาลในกฎหมายถือเป็นโรดแมป ขั้นตอนทำอย่างไรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ”
ด้านผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. นำมาจากร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มี 9 หมวด 117 มาตรา ซึ่งวัตถุประสงค์ของการร่างกฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายกลางสำหรับการใช้พัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักา และการอนุรักษ์ทรัพยากรร้ำ สิทธิการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ การเก็บค่าใช้น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ยังให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3 ระดับ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำสาขา และระดับผู้ใช้น้ำ พร้อมกันนี้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมและเหมาะสม และกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและบรรเทาสภาวะวิกฤตน้ำแบบบูรณาการ
“ถามว่า ทุกฉบับเป็นอย่างนี้หรือไม่ เท่าที่สัมผัสมา 4- 5 ฉบับ แตกต่างกันนิดหน่อย ที่พูดกันมาก คือ หากกฎหมายนี้ออกมาจะไปครอบทับกฎหมายฉบับอื่นหรือไม่ ทำให้มีปัญหาขัดแย้งกัน ซึ่งในกลไกการป้องกันซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ ฯลฯ ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัย ขณะเดียวกันเมื่อไปดูโครงสร้างคณะกรรมการฯ ก็มาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงว่า จะเอียงไปทางอนุรักษ์อย่างเดียวหรือไม่ ทั้งๆ ที่ภาพใหญ่การใช้ทรัพยากรมี 2 ซีก คือการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์”
ผศ.อิทธิพล กล่าวถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชน ปัญหาคือ อย่างไร ตรงนี้ไม่ได้พูดถึงเลยในกฎหมายว่ามีรายละเอียดอย่างไร อย่างน้อยใช้คำว่า รายละเอียดไปยังกฎกระทรวงก็ยังดี ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)และลงมาที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ยังห่างไกล ฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาช่วงเชื่อมต่อ อาจมีคณะกรรมการระดับปฏิบัติการหรือไม่ รวมถึง รัฐมนตรีควรมีกระทรวงอื่นเข้าไปเป็นคณะกรรมการ กนช.ด้วยหรือไม่ นอกจากรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เดิมเคยมีรัฐมนตรี 3 กระทรวงหลักคอยดูแลเรื่องเหล่านี้
“การจัดสรรน้ำเป็นเรื่องใหญ่ ที่กฎหมายทุกฉบับไม่ผ่านก็เพราะเรื่องนี้ บอกจะเก็บค่าน้ำ ไม่ใช่เก็บค่าน้ำประชาชน เก็บค่าน้ำภาคอุตสาหกรรม ก็จะมีคนมาต่อต้านทันที บอกประชาชนรัฐจะเก็บค่าน้ำแล้ว ประชาชนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านทันที ฉะนั้นทำอย่างไรเป็นที่เข้าใจ หรือมีการอธิบายมากกว่าที่เป็นอยู่ว่า รัฐไม่ได้เก็บค่าน้ำจากประชาชน กรณีใช้น้ำประเภทหนึ่ง ต้องเขียนให้ชัด แต่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งสาธารณูปโภคอย่างไร เช่น การขุดลอกคูคลอง บำรุงรักษา เป็นต้น”
ขณะที่รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเขียนกฎหมายหากนำทุกเรื่องมาใส่ไว้เหนื่อยมาก ซึ่งวันนี้เรายอมรับ อยากให้มีพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ไม่มีทำงานไม่ได้ จึงพยายามใส่ทุกอย่างเข้าไปทำให้เกิดปัญหา ความจริงแล้วสามารถลดลงได้ และนำไปใส่ในกฎ ระเบียบแทน
“พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ควรมองเรื่องการบริหาร ให้กนช.มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แยกบริหารกับจัดการให้ชัดเจน พร้อมกันนี้เสนอให้สำนักนโยบายและแผน ดูแลพื้นที่ตามภูมิภาค เช่นเดียวกับเรื่องพลังงาน สิ่งสำคัญกฎหมายต้องแบ่งแยกระหว่างบริหารกับจัดการให้ชัด กนช.ทำงานน้อยๆ คิดให้เยอะๆ และมีสำนักงานนโยบายและแผน เป็นเรื่องเป็นราว มีผู้ควบคุมออกใบอนุญาต นอกนั้นเป็นเรื่องวิจัยพัฒนา เรื่องของคน องค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยี เรื่องน้ำ ซึ่งไม่มีเขียนในกฎหมาย”
รศ.ดร.สุจริต กล่าวด้วยว่า ภาพจากนี้ไปหากประเทศไทยอยากจะก้าวหน้า เรามีปัญหาเรื่องน้ำ การมีกฎหมายถือว่า เป็นการบังคับนักการเมืองด้วย เป็นกติการ่วม
“ผมเห็นด้วยกับการมีกฎหมาย แต่มีหลายมิติที่ต้องใส่ลงไป เช่น การให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมอยู่ตรงไหน ซึ่งไม่มีในกฎหมาย”
สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชนที่กำหนดในกฎหมาย รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า น้ำแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางครั้งต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภาครัฐอย่าพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ที่มากจนเกินไป
นายมนัส กำเนิดมณี ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมชลประทาน กล่าวว่า การมีถึงการระบุการเก็บค่าน้ำ ไว้ในกฎหมาย เกิดยากมาก เพราะกระแสสังคมไม่ได้ดูเก็บน้อยมากแค่ไหน แม้แต่รัฐบาลก็คิดหนักหากนำกฎหมายเข้าสภาฯ ฉะนั้นกฎหมายต้องแยกเป็น 2 ส่วน
“วันนี้ปฏิรูปกฎหมายน้ำ ต้องทำควบคู่กับปฏิรูปองค์กรด้านน้ำ วันนี้กฎหมายน้ำออกมาไม่ได้ เพราะองค์กรด้านน้ำ 33 หน่วยงาน เห็นไม่ตรงกัน ผมมองว่า 5-10 ปีกระทรวงน้ำต้องเกิด ถึงวันนั้นกฎหมายน้ำฉบับสมบูรณ์จึงเกิด”