ศ. ดร.เกื้อ ชี้ผลคะแนน PISAไทยแพ้เวียดนาม เหตุมีครูสอนวิทย์ฯ น้อยไป
นักวิชาการเผยอีก 30 ปีจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 20 ล้านคน เด็กเกิดใหม่น้อยลงเนื่องจากคนแต่งงานแล้วไม่ยอมมีลูก ชี้ผลทดสอบPISAไทยแพ้เวียดนามเพราะมีครูสอนวิชาวิทยศาสตร์น้อยไป
วันที่ 15 ธันวาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สวทช. และเบทาโกร จัดการประชุมวิชาการ ศาสตาจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การพัฒนากลยุทธ์เพื่อสุขภาวะชุมชนท่ามกลางความผกผันทางประชากร" ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อาคารเคเอกซ์) ชั้น 10 ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ
ศ.ดร.เกื้อ กล่าวถึงจำนวนประชากรประเทศไทยปัจจุบันมีประมาณ 65 ล้านคน แบ่งเป็นผู้อายุประมาณ 12-13 % ซึ่งในอนาคตอีก 30 ปีประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมาขึ้นถึง 20 ล้านคน ในขณะที่ประชากรอายุตั้งแต่ 15-59 ปี เริ่มมีสัดส่วนลดลง
"ตอนนี้สัดส่วนผู้ดูแลคสูงอายุมีประมาณ 5 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2040 ผู้สูงอายุ 1 คนจะมีดูแลประมาณ 1.7 คน หรือขณะนี้ใครที่อายุ 55-60 ปี ไม่มีปัญหา เพราะยังมีคนดูแลอยู่ 5 คน แต่คนที่อายุ 30-40 ปีวันนี้ ถ้ายังมีเงินเก็บไม่ถึง 7.2 ล้านในอีก 3 ปีข้างหน้า จะลำบากมาก เพราะคนไทยจะจนก่อนที่จะสูงวัยไม่ค่อยเก็บเงิน ในขณะที่ต่างประเทศคนจะรวยก่อนที่จะแก่"
ศ. ดร.เกื้อ กล่าวอีกว่า สังคมสูงวัยจะเกิดขึ้นมากที่สุดที่ภาคเหนือเพราะมีผู้สูงวัยจำนวนมาก เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ของภาคเหนือต่ำกว่าระดับทดแทนและภาคเหนือมีอัตราการย้ายถิ่นสูงมาก โดยที่ประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงยกเว้นกลุ่มอายุ 55-60 ขึ้นไปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่องครัวเรือนเดี่ยว นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากขึ้น ครัวเรือนเดี่ยวคือคนที่ไม่แต่งงาน โดยที่เมื่อก่อนสังคมไทยแต่งงานแล้วจะมีลูก แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นแต่งงานแล้วไม่อยากมีลูก และบางคนเลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียว
"อย่างประเทศญี่ปุ่นมีภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่จะทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเก็บภาษีคู่สมรสแค่คนเดียวไม่ว่าจะทำงานคนเดียวหรือสองคน เพื่อกระตุ้นให้มีลูกและแม่อยู่บ้านเลี้ยงลูกไม่ต้องทำงาน และอีกตัวอย่างคือในอียู ก็มีมาตรการเบบี้โบนัส เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดใหม่ของประชากร หากมีลูกหนึ่งคนก็จะได้ 2,000 ยูโร สี่คนได้ 10,000 ยูโร ซึ่งเป็นแนวคิดการลงทุนในมนุษย์เพื่อสังคมในอนาคต ทางอียูไม่มองข้ามเรื่องตรงนี้และโยนว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละครอบครัว"
ศ. ดร.เกื้อ กล่าวถึงเรื่องการศึกษาด้วยว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนประมาณ 3 หมื่นกว่าโรง 2 หมื่นกว่าโรงเป็นโรงเรียนประถมศึกษา แต่โรงเรียนเหล่านี้ประสบปัญหาขาดแคลนครู เพราะมีนักเรียนประมาณ 12 ล้านคน แต่มีครูประมาณ 6 แสนคน และครู 6 แสนคนนั้นมีแค่ 5 หมื่นคนที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ อีก 5 แสนกว่าสอนวิชาอื่น แต่ละโรงเรียนก็จะขาดครูแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลามีผล PISA ประกาศออกมาทีไรประเทศไทยจะแย่กว่าเวียดนาม เพราะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากนักเรียนทั้งประเทศ และนักเรียนไทยส่วนใหญ่ 79 % เรียนสังคมสาสตร์ แต่เวียดนาม 70% เรียนวิทยาศาสตร์
"ถ้าการศึกษาไทยยังเป็นแบบนี้วัดกี่ครั้งผลPISA ก็ต้องแย่เพราะ 3 ตัวอย่างที่สุ่มถามเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนวทางจะแก้ไขคือต้องทำให้ครูจำนวน 6 แสนกว่าคน มาสอนวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 50 % เพราะครูจำนวน 5 หมื่นคนที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเน้นที่เด็กมัธยมศึกษาช่วง4-6 ไม่ได้สอนมัธยมศึกษา 1-3 เท่าไหร่นัก" ศ.ดร.เกื้อ กล่าว และว่า การที่รัฐบาลบอกให้เน้นการสอนของนักเรียนอาชีวะมากขึ้น ในแผนการศึกษา 8 ก็ควรจะมีจำนวนครูที่สอนวิทยาศาสตร์ แบบ 50-50 แต่ตอนนี้ไปถึงแผนการศึกษาที่ 12 ไม่ได้ เพราะเด็กมีพื้นฐานตรงนี้ไม่พอ