เวทียูนิเซฟ ชี้โพสต์รูปเด็กในโซเชี่ยลมีเดียอันตราย หวั่นเป็นการส่งต่อข้อมูลให้มิจฉาชีพ
เวทีเสวนา "บทบาทสื่อในการส่งเสริมการพัฒนาการในเด็กไทย" เตือนพ่อแม่ไม่ควรแชร์รูป-เรียกชื่อเด็ก ชี้เป็นการเปิดช่องให้มิจฉาชีพ รวมถึงถ่ายภาพลูกโป๋อาบน้ำตอนเด็กๆ ขณะนอนหลับ แชร์หรือเรียกชื่อในที่สาธารณะ
วันที่ 14 ธ.ค. 59 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัล “ข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก” ประจำปี 2559 สนับสนุนโดย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งภายในงานมีเวทีเสวนา "บทบาทสื่อในการส่งเสริมการพัฒนาการในเด็กไทย" ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ถนนราชปรารภ กรุงเทพฯ
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ สถาบันเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กยุคนี้ถูกเลี้ยงดูมากับสมาร์ทโฟน สื่ออยู่ในมือของทุกคน ฉะนั้นบทบาทสื่อยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะเด็กจากเป็นผู้รับสื่อ กลายเป็นผู้ถูกนำเสนอจากสื่อตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนไม่รู้ถึงผลกระทบที่ตามมา สิ่งแรกที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตคือโลกออนไลน์ รูปที่เคยโพสต์ลงไปแม้ว่าจะลบหรือบล็อคไปแล้วก็ตามก็จะมีคนบางกลุ่มแอบเซฟเก็บไว้ และก็ส่งต่อไปเป็นล้านๆครั้ง สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นรูปบางรูป เช่น เวลาลูกอาบน้ำเวลารูปโป๊น่ารัก แต่เมื่อเวลาเด็กโตขึ้นเด็กไม่อยากให้มีรูปแบบนี้อยู่ในโลกของออนไลน์ และอาจจะมีคนเอาภาพเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งเคยมีกรณีของแก๊งค่ามนุษย์ข้ามชาติ นำภาพลามกของเด็กไปขายต่างประเทศ จึงเกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดทางเพศได้
"ตอนนี้เราอยู่ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง เพราะตอนนี้ทุกคนมีกล้องอยู่ในมือหมด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่เห่อลูกก็จะโพสต์รูปลูกตลอดเวลาบางคนบอกเคยดูรายการแพนด้า 24 ชั่วโมง ก็มีคุณแม่บางคนโพสต์รูปลูก 24 ชั่วโมงเหมือนกันโพสต์ทุกอิริยาบท"
นางสาวเข็มพร กล่าวถึงกรณี เด็กกลายเป็นเน็ตไอดอลมีแฟนคลับ อาจมีคนที่ไม่หวังดีตามไปที่โรงเรียนทำให้เด็กสูญเสียชีวิตส่วนตัวไป พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจก็จะเปลี่ยนไป รวมถึงการที่พ่อแม่เด็กที่ชอบแกล้งบอกว่าจะมีคนมาลักพาตัวไป พ่อแม่บางคนแกล้งตายดูเหมือนเป็นเรื่องน่ารัก มองว่า ก็เป็นการละเมิดสิทธิเด็กในหลายๆด้าน เพราะในโลกของเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องน่ารักเลย ซึ่งสังคมไทยจะให้ความสำคัญในด้านนี้น้อยมาก
ด้าน หนูดี- วนิษา เรซ Friend of Unicef กล่าวเตือนพ่อแม่เด็ก ไม่ควรแชร์ภาพเด็กพร้อมชื่อบนโลกออนไลน์ เพราะเป็นการส่งต่อข้อมูลให้มิจฉาชีพที่จะลักพาตัวเด็ก อีกทั้งการโพสต์รูปเด็กที่ดูน่ารักในตอนปัจจุบัน อนาคตอาจเป็นรูปที่เด็กคนนั้นอับอาย
"ภาพเด็กกำลังนอนหลับก็ห้ามแชร์หรือโพสต์ เพราะถือว่าเด็กนั้นไม่มีสติ ภาพเวลารูปถอนฟันดูยังไงก็ไม่น่ารัก ถามว่าถ้าเด็กคนนี้อายุ 30 คงไม่อยากให้คนอื่นเห็น" หนูดี- วนิษา เรซ กล่าว และว่า อีกสิ่งที่อันตราย คือการแชร์หรือเรียกชื่อลูกตัวเองในที่สาธารณะ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ระวังตัวของพ่อแม่ ที่อาจทำให้มิจฉาชีพรู้ชื่อเด็ก และหลอกล่อโดยการพูดชื่อของตัวเด็กให้เข้ามาหา เพราะเด็กถูกสอนมาให้เชื่อใจผู้ใหญ่
ขณะที่นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน นิตยสาร Mother&Care กล่าวว่า เด็กกับสื่อเป็นของคู่กัน เด็กแต่ละวัยจะมีความแตกต่างกัน ตอนที่เด็กยังเล็กอยู่คนที่จะมีบทบาทเลือกสื่อให้คือพ่อแม่ เด็กวัยประถมต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่คัดสรรสื่ออย่างไรให้มีประโยชน์ต่อเด็ก
สำหรับบทบาทสื่อกับการพัฒนาของเด็กไทย
นางสรวงมณฑ์ กล่าวว่า คนที่เป็นสื่อควรที่จะมีความรู้เกี่ยวกับเด็ก ไม่ใช่ใครจะเขียนไปเรื่อยๆอย่างเดียว สื่อในปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น แต่คุณภาพกลับน้อยลง ทั้งๆ ที่สื่อคือผู้รายงานสถานการณ์ ใครทำอะไร ที่ไหน อย่าไร แต่สำหรับการเป็นสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีบางเรื่องที่ไปละเมิดสิทธิเด็ก มีบางเรื่องที่ไม่ควรเขียน เพราะเขียนแล้วจะไปกระทบต่อตัวเด็ก ในฐานะคนทำสื่อเพื่อสิทธิเด็กและเยาวชนต้องคิดมากกว่าแค่รายงานข่าว
"การที่มีตัวอย่างพ่อแม่โพสต์รูปเด็กจนได้เป็นดารา กลายทำให้พ่อแม่คนอื่นเอาลูกตัวเองมาโพสต์บ้างเพื่ออยากให้ลูกเป็นดาราหรือเน็ตไอดอล วิธีคิดแบบนี้เป็นทัศนะคติที่อันตรายมาก"
นางสรวงมณฑ์ ยังได้ยกกรณีตัวอย่างที่น่าตกใจคือพ่อแม่แกล้งลูกจนลูกร้องไห้แล้วก็แกล้งซ้ำๆแล้วก็เอาคลิปลงไปในโลกโซเชี่ยล โดยคิดว่า ตลกเป็นเรื่องสนุกน่ารัก เคยมีคนหนึ่งเข้าไปเตือนพ่อแม่อย่าโพสต์แบบนี้เลยสงสารเด็กและเป็นการละเมิดสิทธิลูกด้วย แต่ปรากฎว่าคนนี้ถูกคนมาคอมเมนท์ถล่ม การกระทำแบบนี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรคือการที่เห็นลูกร้องไห้แล้วมองเป็นเรื่องตลก ถือว่า เป็นการทำร้ายเด็ก แม้ว่าพ่อแม่อาจทำไปเพราะไม่รู้ แต่หากสื่อไม่ช่วยทำหน้าที่ความเป็นสื่อ ด้วยการส่งต่อความรู้อย่างถูกต้องก็จะมีคนไม่รู้อีกจำนวนมาก
"ปัจจุบันกลายเป็นสื่อที่ไม่ระมัดระวังกลายเป็นสื่อละเมิดสิทธิเด็กเอง อันนี้เป็นสิ่งที่อันตรายมากเป็นปัญหาของสังคม"