นายกแพทยสภา นำเครือข่ายหมอเด็ก ค้านร่างพ.ร.บ.นม-คุมโฆษณาอาหารทารกถึง 3 ปี
นายกแพทยสภา นำเครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้พ.ร.บ.นมสุดโต่ง หวั่นกระทบพัฒนาการเด็กไทย ด้านหมอรามา ขอตัดคำว่า อาหารทางแพทย์ ออกจากกฎหมายนี้ หวั่นกระทบทารกที่คลอดก่อนกำหนด ที่มีมากถึง 4 หมื่นคน
วันที่ 14 ธันวาคม แพทยสภา นำโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและ นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.เกียรติคุณนายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานใหญ่ที่กรุงโรม รศ.พญ.ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ประธานชมรมเวชศาสตรทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และรศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ ประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย แถลงข่าว เรื่อง "เครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้พ.ร.บ.นมสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย แนะทางแก้ไขเหมาะสม" ณ ห้องประชุม 4 อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อ. เมือง จ. นนทบุรี
ทั้งนี้ เครือข่ายหมอเด็ก ต่างแสดงจุดยืนต้องการส่งเสริมให้ทารกไทยได้รับนมแม่ และเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ….. ที่จะช่วยลดการส่งเสริมการขายที่ไม่เหมาะสม แต่มีข้อห่วงใย นิยามของกฎหมาย หากไม่แก้จะมีผลกระทบกว้าง ควรแก้ไขเป็น พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก พ.ศ….. ,กฎหมายนี้ควรครอบคลุมเฉพาะอาหารสำหรับทารก อายุแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้น ไม่ควรการครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กถึง 3 ปี เพราะแรกเกิดถึง 1 ปีเป็นช่วงอายุที่นมยังเป็นอาหารหลัก สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรรับประทานอาหารแข็งหรือกึ่งแข็งเป็นอาหารหลัก วันละ3 มื้อ และดื่มนมวันละ 2—3 มื้อ เป็นอาหารเสริม อีกทั้งหวั่นว่า การให้ทารกและเด็กบริโภคนมแม่นานมากเกินไปอาจจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาของทารกและเด็กได้
นอกจากนี้ เครือข่ายหมอเด็ก เห็นว่า อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ในกฎหมายนี้ไม่ควรรวมถึงอาหารทางการแพทย์ เพราะเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถใช้นมแม่ได้ และไม่ควรรวมถึงอาหารเสริม อาหารแข็ง อาหารกึ่งแข็ง รวมทั้งยังมีข้อเสนอควรให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายสามารถสนับสนุนการประชุมอบรม หรือสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็กได้ โดยได้รับการอนุมัติจากสถาบัน องค์กร หน่วย และสามารถบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อใช้สำหรับทารกที่มีความจำเป็นต้องใช้ และเพื่อการสังคมสงเคราะห์ได้ โดยได้รับการร้องขอจากสถาบัน องค์กร หน่วยบริการซึ่งเป็นต้นสังกัดอย่างเปิดเผย โปร่งใส
นพ.สมศักดิ์ กล่าวแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยระบุว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทนม ไม่เคยขายนม ได้งบทำวิจัย เดินทางไปต่างประเทศ หรือมีหุ้นส่วนกับบริษัทนมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ที่ต้องออกแสดงจุดยืนต่อร่างกฎหมายนี้ เพราะอยากให้เด็กไทยได้มีพัฒนาการเต็มที่ตามแบบประเทศพัฒนาแล้ว
รศ.นพ.สังคม กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับหลักการของร่างพ.ร.บ.นี้ ที่ห้ามโฆษณาเกินจริง ลด แลก แจก แถม หรือมีการทำการตลาดแบบผิดๆ และเห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เนื่องจากพ.ร.บ. นี้ ได้ครอบคลุมเขียนกว้าง อาจสร้างปัญหาในทางปฏิบัติส่งเสริมการเจริญเติบโตและสติปัญญาของเด็กไทย ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้กลับไม่ได้ไปครอบคลุมอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาหารไม่เหมาะสม อาหารขยะ เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ
ส่วนศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ แสดงความเห็นด้วยว่า ควรมี พ.ร.บ.นี้ แต่ หลักการควรควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 12 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้น ไม่ควรตีครอบถึง 3 ปี
"หลังจาก 1 ปีข้อแนะนำสำหรับเด็กไทย ซึ่งไม่ใช่ทารกแล้ว คือ ให้ดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ช่วง 1-6 ปี แสดงว่า กฎหมายฉบับนี้จะออกมาเพื่อควบคุมนมแล้ว แต่ไม่ได้ไปดูเรื่อง อาหารคบเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลมแต่อย่างใด"ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าว และว่า ฉะนั้น อยากให้กฎหมายฉบับนี้ เน้นอาหารสำหรับทารก สนับสนุนควบคุมให้เต็มที่ไปเลย ขณะเดียวกันก็ควรมีการกำหนดให้แม่ได้ลาคลอดได้ 6 เดือน เช่นเ สวีเดนลาคลอดได้ถึง 12 เดือน นี่จึงเป็นการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกทาง
รศ.นพ.สรายุทธ กล่าวถึงสถิติทารกเกิดประมาณ 7 แสนคนต่อปี เป็นทารกแรกเกิดก่อนกำหนดประมาณ 4-5 หมื่นคน ซึ่งต้องใช้เวลาในโรงพยาบาลมากกว่าปกติ ขณะเดียวก็มีวิทยาการสมัยใหม่ๆ มีอาหารทางการแพทย์สามารถช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมอง และการเจริญเติบโตของทารกแรกเกิดก่อนกำหนดได้ ควบคู่กับการให้นมแม่
“เราสนับสนุนนมแม่ 100% และต่อต้านการส่งเสริมทางการตลาดกับแม่โดยตรง แต่อย่าลืมว่าการตลาดกับคำว่า การเผยแพร่ทางวิชาการ เป็นคำที่ก่ำกึ่ง วันนี้เราเลี้ยงเด็กไม่ใช่แค่ให้แม่ดีใจลูกรอดจากรพ. แต่สุขภาพ พัฒนาการ การเจริญเติบโตต้องปกติด้วย”รศ.นพ.สรายุทธ กล่าว พร้อมกับขอให้กฎหมายนี้ อย่าควบคุมอาหารทางการแพทย์ได้หรือไม่ ยืนยัน หมอทารกแรกเกิดในประเทศนี้สนับสนุนกฎหมายนี้ อย่าโฆษณานมผงมาแข่งกับนมแม่ในปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีกฎหมายวันนี้เราก็ทำอยู่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นพ.ศิริวัฒน์ ชี้ร่างพ.ร.บ.คุมนมผงทารกถึง 3 ปี ไม่สุดโต่ง ลดเหลือ 1 ปี เป็นแค่กระดาษเปล่า
เลขาธิการศูนย์นมแม่ฯ ลุ้นร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารก เข้าสนช.
วิจัยชี้นมผงเสี่ยงทำทารกเกิดโรค จี้คลอดกม.ควบคุมตลาดฯ เน้นกินนมแม่