นพ.ศิริวัฒน์ ชี้ร่างพ.ร.บ.คุมนมผงทารกถึง 3 ปี ไม่สุดโต่ง ลดเหลือ 1 ปี เป็นแค่กระดาษเปล่า
อดีตรองปลัดสธ. จับตาร่าง พ.ร.บ.นม ที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.วาระที่ 2 หลังรอคอยมา 35 ปี ยันไม่อยากให้เป็นแค่กระดาษเปล่า เนื้อหาในกฎหมายฯ ห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยคนแรก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. .... ซึ่งได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 ว่า ในตัวบทกฎหมายห้ามการโฆษณานมผงโดยตรงกับแม่และเด็ก หรือญาติ เพราะที่ผ่านมาบริษัทนมทำการตลาดลด แลก แจก แถม กับแม่ โดยเฉพาะแม่ที่ไม่รู้ทันการตลาด ยิ่งเมื่อได้ของฟรีก็นำนมผงไม่เลี้ยงลูก จนลูกไม่ดื่มนมแม่ในที่สุด
"ลูกค้าของบริษัทนมผง คือแม่ที่ด้อยโอกาส ยากจน แม่ที่ลาคลอดได้แค่ 3 เดือน ขณะที่ประเทศเวียดนาม มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดฯ แล้ว สามารถให้แม่สามารถลาคลอดได้ 6 เดือน แม้แต่ลาว ฟิลิปปินส์ก็มีแล้ว แต่ไทยยังผลักดันไม่สำเร็จ"
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวถึงความพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เข้าครม.ไม่ทัน จนกระทั่งรัฐบาลชุดนี้สามารถมาผลักดันเข้าสู่ครม.และสนช.ได้ กำลังมีการพิจารณารายมาตราอยู่
"แต่วันนี้บริษัทนมมีความพยายามบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เช่น บอกว่ากฎหมายนี้สุดโต่ง จะห้ามให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้ไม่ได้ห้าม แต่ต้องให้ข้อมูลผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ห้ามให้โดยตรงกับแม่ และหากให้ข้อมูลบนฐานข้อเท็จจริง ไม่หวังผลกำไร ก็ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาบริษัทนมมีการโฆษณาเกินความเป็นจริง อีกทั้งการลด แลก แจก แถม ยิ่งทำให้แม่เข้าใจผิดเข้าไปใหญ่ว่า นมผง ดีกว่านมแม่"
สำหรับเนื้อหาในกฎหมายฯ ที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า หากกฎหมายลดการควบคุมลงไปเหลือเพียงอายุ 1 ปีตามข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจนมผง ก็จะเป็นแค่กระดาษเปล่า รวมทั้งบริษัทนมยังมีกลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์ที่คาบเกี่ยว ตั้งแต่ 6 เดือน - 3 ขวบ ซึ่งเลี่ยงกฎหมายได้
“กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กฉบับนี้ เราล่าช้ามา 35 ปี ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้นักการเมืองให้ออกกฎหมายนี้ได้ ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกออกเป็นกฎหมาย หรือข้อปฏิบัติตั้งแต่ปี 2524 หลายประเทศมีกฎหมาย มีบทลงโทษแล้ว แต่ของประเทศไทยยังเป็นแค่ข้อตกลงกับบริษัทนม และก็มีการละเมิดมาตลอด เช่น ใช้การตลาดที่ผิดจริยธรรม ลด แลก แจก แถม สมัยก่อนให้หมอ พยาบาล เภสัชกร แจกตัวอย่างนม เป็นพรีเซ็นเตอร์ นับว่า ผิดจริยธรรม”นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว และว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามโรงพยาบาลรัฐรับแจกนม ห้ามหมอ พยาบาล เป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ห้ามได้เฉพาะรพ.สาธารณสุข ขณะที่รพ.เอกชน กับรพ.ทหาร ตำรวจ ไปยุ่งกับเขาไม่ได้ ดังนั้น ข้อตกลง ที่ห้ามการตลาดที่ผิดจริยธรรมจึงเป็นเหมือนกระดาษเปล่า เพราะไม่มีบทลงโทษแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เลขาธิการศูนย์นมแม่ฯ ลุ้นร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารก เข้าสนช.
วิจัยชี้นมผงเสี่ยงทำทารกเกิดโรค จี้คลอดกม.ควบคุมตลาดฯ เน้นกินนมแม่