นักวิชาการสกว.เปิดงานวิจัยตอกย้ำคะแนน PISA ร่วง ยันจาก 100 มี 2 คนผ่านเกณฑ์คิดวิเคราะห์
ผอ.สกว.เผยผลสำรวจ PISA ไทยร่วงมาอยู่อันดับที่ 54 เรื่องสำคัญมากสำหรับคนทั้งประเทศ รศ.ดร.ปัทมาวดี ชี้ผลวิจัยเด็กเรียนเก่งคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ด้านอาจารย์ม.สงขลานครินทร์แนะต้องทำให้เด็กมีวินัย เปลี่ยนวิธีการสอน นำข้อสอบPISAให้ครูทำเพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสอนได้
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุน (สกว.) จัดงานแถลงข่าว TRF Press Forum “กรณี PISA และทางออกการศึกษาไทย” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สกว. อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวย สกว. กล่าวถึงผลจากการสำรวจโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA การศึกษาไทยอยู่ที่ 55 จาก 72 จากการประเมินทักษะของนักเรียนระดับนานาชาติ สิ่งที่กังวลคือผลการทดสอบปีนี้ของประเทศไทยลดลงจาก 3 ปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ขยับเลื่อนจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 1 ส่วนประเทศเวียดนามขยับจากอันดับ 17 มาเป็นอันดับ 2 ด้านอินโดนีเซียหล่นจากอันดับ 62 มาเป็นอันดับ 64 และประเทศไทยจากอันดับ 50 ลดลงเป็นอันดับ 54 ซึ่งอันดับการประเมินของประเทศไทยตกลงไปจากเดิมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนทั้งประเทศ
ผู้อำนวย สกว. กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แผนที่รัฐบาลวางไว้ว่าอยากจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมถึงต้องการเป็นไทยแลนด์ 4.0 จะไม่สามารถทำได้ ถ้าฐานความสามารถของเด็กไทยไม่สามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ก็จะอยู่ในสภาพที่การศึกษาอ่อนแอและการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมในการพัฒนาประเทศก็จะอ่อนแอไปด้วย เด็กไทยในยุค 4.0 ควรจะมีทักษะทางด้านความคิดและวิเคราะห์ให้มากขึ้น
ขณะที่รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. กล่าวอ้างอิงถึงผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ที่เคยได้ทำการสำรวจตัวอย่างประชาชนอายุ 10 ปีขึ้นไป จำนวน 1,561 คนในกรุงเทพมหานคร พบ 92.4% เคยลอกการบ้าน และ74.9% เคยลอกข้อสอบ
"ประเด็นปัญหาตรงนี้ไม่ได้สะท้อนแค่การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน จึงตั้งคำถามว่า คะแนนสอบจะมีความหมายอะไร ซึ่งโพลล์ดังกล่าวเป็นที่มาของงานวิจัยที่ชื่อว่า "ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย" โดยประชากรในงานวิจัยชิ้นนี้คือ นักเรียนชั้น ป.6 นักเรียนชั้นป.4 และนักศึกษาปวช.1 จำนวนทั้งหมด 6,235 คน สรุปคะแนนสามารถด้านการคิดวิเคราะห์โดยเฉลี่ยนักเรียนได้คะแนนรวมเพียง 36.5% ในเด็ก 100 คน และมีแค่ 2 คนที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์การวัดความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์มากกว่า 60%"
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า เด็กที่มีการคิดวิเคราะห์ต่ำ จะเป็นเด็กที่เรียนได้เกรดสูงความอย่างมีนัยยะสำคัญ (เด็กเรียนเก่งจะคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ) โดยการศึกษาของบิดามารดาไม่มีผลต่อการศึกษาของลูก แต่รายได้ครอบครัวสูงกว่า 4 หมื่นบาทขึ้นไป พบลูกความสามารถในการคิดวิเคราะห์ดีกว่า
"การให้เด็กดูโทรทัศน์มากพบความสามารถในการคิดวิเคาะห์ต่ำลง และเด็กที่เรียนพิเศษวิชาการจะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษวิชาการ นัยยะสำคัญคือเด็กที่เรียนในโรงเรียนดีแต่กลับคิดวิเคราะห์ไม่ดี แต่พอเด็กไปเรียนพิเศษกลับมีความคิดวิเคาะห์ดีขึ้น แสดงถึงคุณภาพการเรียนที่โรงเรียนนั้นมีปัญหา"
ทั้งนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี มีข้อเสนอ ควรปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านการคิดวิเคระห์มากขึ้น จะส่งผลให้เด็กเรียนพิเศษน้อยลง ส่งเสริมให้โรงเรียนจัดกิจกรรมบูรณาการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านความคิดวิเคราะห์กับการมีจิตสาธารณะให้นักเรียนมีมากขึ้น โดยไม่เน้นให้เด็กเรียนหนังสือแบบท่องจำ โดยโรงเรียนควรพิจารณาจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนทุกคนให้เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นในอนาคต
ส่วนรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงโครงการเพาะปัญญา เป็นโครงการ 5 ปี มีวัตถุประสงค์พัฒนาการศึกษาให้ได้ทักษะความคิดขั้นสูงและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จุดอ่อนที่พบในตัวนักเรียน คือ นักเรียนอ่านโจทย์แล้วไม่เข้าใจและต้องให้เด็กนักเรียนดึงความรู้ที่ได้รับออกมาใช้ประโยชน์ โดยฝึกระบบความคิดการใช้เหตุและผลเพื่อรู้จักการคิดวิเคราะห์ ฝึกให้เด็กยุคนี้ต้องรู้จักฝืนใจตัวเอง เพื่อให้มีระเบียบวินัย เมื่อมีวินัยผลการเรียนก็จะดีขึ้น
ทั้งนี้ ครูผู้สอนควรสร้างบรรยากาศการเรียนให้รู้สึกปลอดภัยจากระบบอำนาจ เพื่อลดแรงกดดันของเด็กนักเรียนและครูต้องเข้าใจวิจัยแบบเหตุและผลบนบริบทจริง ซึ่งการถามคือการสอน ไม่ใช่สอนให้เด็กท่องจำและควรเอาคะแนน PISA มาทดสอบครู เพื่อให้ครูเองเข้าระบบการคิดวิเคาะห์ หากครูยังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ก็ไม่สามารถที่จะสอนให้เด็กได้ โดยครูต้องสามารถพัฒนาตนเองให้สามารถสร้างบทเรียนได้ เพื่อทดสอบการแก้ไขปัญหาเด็ก หากไม่สามารถพัฒนาครูผู้สอนให้ในประเด็นเหล่านี้ได้ก็จะยากที่จะทำให้เกิดครูที่สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้
ขอบคุณภาพจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุน (สกว.)