โพสต์รูปลูกออนไลน์ : ภัยที่พ่อแม่มองข้าม
กลายเป็นกระแสสังคมโลก เมื่อพ่อ แม่ นิยมโพสต์รูปลูก ลงบนอินเทอร์เน็ตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Line Instagram YouTube ฯลฯ เพื่อแสดงความชื่นชมในความน่ารักของลูกหรือส่งให้ญาติหรือเพื่อนฝูงได้ร่วมชื่นชมด้วย พ่อ แม่ บางคู่ระงับความตื่นเต้นไม่อยู่ถึงกับส่งรูปลูกในครรภ์ตั้งแต่ลูกมีอายุไม่กี่เดือนลงบนสื่อออนไลน์ ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนแทบจะกลายธรรมเนียมของ พ่อ แม่ รุ่นใหม่ไปแล้ว
พ่อ แม่ บางคู่ สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ให้ลูก ทำให้เด็กบางคนกลายเป็นดาราหน้าจอมีผู้ติดตามนับหมื่นนับแสนคนก็มี แม้ว่าจะมีคำเตือนอยู่ตามสื่อต่างๆอยู่เสมอต่อเรื่องการโพสต์รูปลูก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้ผลและกลับยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
สื่อออนไลน์ที่มีอยู่หลากหลายประเภทนั้นเป็นบริการที่เสนอให้กับผู้ใช้แบบให้เปล่า เราจึงใช้งานกันอย่างเพลิดเพลินอย่างไร้ข้อจำกัดและน่าจะมากเกินความจำเป็น แต่เบื้องหลังของการให้เปล่าก็คือ เราต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวจากข้อมูลของเราทั้งหมดให้กับบริษัทเจ้าของสื่อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหมายความว่า ชื่อ ที่อยู่ เลขหมายโทรศัพท์ e-mail รวมทั้งข้อมูลที่เราให้กับสื่อออนไลน์นั้น เจ้าของสื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทันทีที่เรายอมรับ “เงื่อนไขการใช้บริการ” (Term of Service) ของสื่อนั้น เช่น เรายอมให้สื่อนั้นใช้รูปของเราทุกรูป ทุกเวลา ทุกสถานที่ทั่วโลก ใช้เนื้อหาข้อความที่โพสต์ อารมณ์ที่เกิดขึ้น หรือเสียงที่โพสต์ขึ้นไป โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือเสียค่าใช้จ่าย ใดๆให้กับเจ้าของรูป เป็นต้น
คุณพ่อ คุณแม่ มือใหม่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่ารูปของลูกตอนที่เราถ่ายนั้น เราคือเจ้าของสิทธิ์ของรูปถ่าย แต่ทันทีที่เราโพสต์รูปลงบนอินเทอร์เน็ตโดยยอมรับในเงื่อนไขบริการของสื่อออนไลน์ เราจะไม่สามารถควบคุมการใช้งานของรูปนั้นได้อีกเลย เพราะนอกจากเจ้าของสื่อออนไลน์จะได้สิทธิ์การใช้งานแล้ว ใครต่อใครบนโลกออนไลน์อาจจะนำรูปเหล่านั้นไปใช้ได้เช่นกัน
พ่อ แม่ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า สังคมออนไลน์นั้นไม่มีความเป็นส่วนตัว ทันทีที่ท่านเข้าสู่สังคมออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของท่านจะหายไปทันทีซึ่งเท่ากับว่าใครต่อใครก็ตามสามารถสอดแนมความเคลื่อนไหวของเราได้ตลอดเวลา และหากมีการโพสต์ สถานที่ลูกชอบไปหรือโรงเรียนที่ลูกอยู่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เสมอเท่ากับว่าเราเพิ่มโอกาสในการถูกสอดแนมให้กับลูกโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
สิ่งที่น่ากลัวก็คือวันหนึ่งลูกหลานท่านอาจเป็นเหยื่อของสื่อลามกหรือการคุกคามทางเพศเด็กโดยอาศัยข้อมูลที่ท่านโพสต์บนอินเทอร์เน็ตก็เป็นไปได้ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายกรณี
จากการข้อมูลเผยแพร่ใน The Wall Street Journal พบว่า โดยเฉลี่ย พ่อ และแม่ จะโพสต์รูปราว 1,000 รูป บนสื่อสังคมออนไลน์ก่อนที่ลูกจะมีอายุถึง 5 ขวบ ส่วนใหญ่แล้ว พ่อ แม่ จะโพสต์รูปลูกโดยพลการโดยที่ไม่ได้บอกลูกก่อนและพ่อ แม่ จำนวนมากไม่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว รวมทั้งรูปส่วนใหญ่จะมีสถานที่ที่ถ่ายรูปบอกไว้ด้วย ซึ่งหมายถึง พ่อ และ แม่ กำลังนำลูกไปสู่ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งโดยนึกไม่ถึงและพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะละเลยเรื่องเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
ข้อมูลการสำรวจจากแหล่งเดียวกัน เปิดเผยเกี่ยวกับพฤติกรรมของ พ่อ แม่บนสื่อออนไลน์ ว่า
- เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับลูกตัวเองมากเกินไป 74 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลมากจนกระทั่งสามารถสืบไปถึงที่อยู่ของลูกได้ 51 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลที่น่าอับอายเกี่ยวกับลูก 56 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับลูก 27 เปอร์เซ็นต์
(สำรวจจาก พ่อ แม่ 569 คน ที่มีลูกอายุตั้งแต่ 0-4 ขวบ ที่ ร.พ. C.S. Mott Children’s Hospital มหาวิทยาลัย มิชิแกน สหรัฐอเมริกา)
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบอีกว่า พ่อ แม่ 68 เปอร์เซ็นต์เป็นห่วงต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกและ 67 เปอร์เซ็นต์เป็นห่วงต่อเรื่องรูปของลูกถูกนำไปเผยแพร่ต่อ
จากข้อมูลการสำรวจจะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์ของการให้ข้อมูลในทางลบซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในด้านต่างๆที่จะเกิดกับลูกมีค่อนข้างสูงและเป็นสิ่งที่น่าห่วงหาก พ่อ แม่ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์กับลูก
ในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ข้อมูลดิจิทัลที่แสดงพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การคลิก การกดไลค์ การโพสต์ข้อความหรือรูปใดๆก็ตามลงบนอินเทอร์เน็ต จะถูกบันทึกไว้เสมอ เท่ากับว่าเรากำลังทิ้งร่องรอยทางดิจิทัล(Digital footprint) เอาไว้และสามารถจะถูกนำไปใช้ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่าที่ต้องการ
ดังนั้นรูปลูกหรือข้อมูลทั้งหลายเกี่ยวกับลูกที่ถูกเผยแพร่ไปอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ตนั้นจะถูกแกะรอยได้โดยง่ายดายจากผู้ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักการตลาด นักขาย นักวิเคราะห์ข้อมูลและมิจฉาชีพได้ในเวลาเดียวกัน
จากข้อมูลของ i-SAFE Foundation พบว่าเด็กหนึ่งในสามมีประสบการณ์จากการถูกคุกคามทางโลกออนไลน์ แต่มากกว่าครึ่งของเด็กไม่ปริปากบอกเรื่องเหล่านี้กับ พ่อ แม่ ซึ่งเท่ากับว่าเด็กกำลังเผชิญความเสี่ยงด้วยตัวเองเพียงลำพัง
การโพสต์รูปลูกลงบนสื่อสังคมออนไลน์จึงอาจเกิดผลกระทบต่อ พ่อ แม่ และครอบครัวอย่างน้อยที่สุดในแง่มุมต่อไปนี้
1.การละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวและการยินยอมของลูก - พ่อ แม่ ต้องตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของลูกอยู่เสมอ จากการศึกษาพบว่าลูกจะ เริ่มรู้สึกถึงความเป็นตัวของตัวเองเมื่ออายุราว 4 ขวบ ซึ่งเด็กในวัยนี้มีความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เริ่มมีเหตุผลและสามารถเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
แม้ว่า พ่อ แม่ จะเป็นผู้ให้กำเนิดลูก แต่ในขณะเดียวกัน พ่อ แม่ มีหน้าที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวและการเปิดเผยตัวตนของลูกในขณะที่ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ ดังนั้นการเปิดเผยตัวตนของลูกไม่ว่าจะเป็นรูปในอิริยาบถต่างๆรวมทั้งสิ่งที่แสดงตัวตน เช่น วัน เดือน ปี เกิด ตำแหน่งที่อยู่ สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบของลูก ฯลฯ บนโลกออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวและการยินยอมของลูก ซึ่งบางประเทศถือว่าผิดกฎหมาย
2. การนำข้อมูลและรูปไปใช้ในทางมิชอบ - ในแต่ละปี เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีเด็กจำนวน 500,000 คน ตกเป็นเหยื่อของการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว จากการศึกษาของ Cyber Lab ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon จาก เด็กจำนวน 40,000 คน พบว่า เด็กมีโอกาสเป็นเหยื่อของการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 51 เท่า หมายความว่าเด็กมีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างยิ่งบนสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากการขโมยข้อมูลส่วนตัวแล้วรูปของเด็กมีโอกาสที่จะไปอยู่บนเว็บมืด(Dark Web) เพื่อขายให้กับผู้มีรสนิยมทางเพศแปรปรวน ไม่ว่าเด็กนั้นจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ดังนั้นการส่งรูปหรือข้อมูลเด็กลงบนสื่อออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ พ่อ แม่ จะละเลยไม่ได้เป็นอันขาด
3. การนำข้อมูลไปใช้เพื่อสืบหาตำแหน่งที่อยู่ – นอกจากรูปและ รายละเอียดอื่นๆของลูก แล้ว พ่อแม่จำนวนมาก มักส่งเบาะแสเกี่ยวกับตัวลูกลงบนอินเทอร์เน็ตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้มิจฉาชีพสามารถสืบค้นที่อยู่ของลูกได้โดยไม่ยาก พ่อ แม่ ต้องไม่ลืมว่าสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook นั้นรู้ว่าเราเป็นใคร สื่ออย่าง Google รู้ว่าเรากำลังค้นหาอะไรอยู่ นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือที่สามารถระบุตำแหน่งด้วย GPS นั้นยิ่งทำให้ใครสามารถแกะรอยตำแหน่งของลูกโดยง่าย
4. การนำข้อมูลไปใช้เพื่อเป็นเป้าหมายทางการตลาด – พ่อ แม่ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่ให้บริการแก่เราแบบให้เปล่านั้น เราต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวและข้อมูลพฤติกรรมของเราและรวมทั้งของลูกด้วย บางครั้งเราจึงได้รับโฆษณาแปลกๆอยู่เสมอจากบริษัทที่เราไม่เคยติดต่อด้วย พ่อ แม่อาจได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น เสื้อผ้า ของเล่น หรือ หนังสือการ์ตูนประเภทต่างๆ อยู่เสมอและเป็นสินค้าที่ตรงใจ พ่อ แม่ เพราะเราอาจเคยไปกดไลค์หรือแสดงความเห็นในโฆษณาสินค้านั้น เป็นต้น
5. การเรียกข้อมูลกลับคืนไม่สามารถทำได้ – โดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตนั้น เมื่อใดก็ตามที่ พ่อ แม่ โพสต์รูปลูกขึ้นไปเท่ากับว่า พ่อ แม่ ไม่สามารถควบคุมการใช้งานของรูปนั้นได้อีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าใครก็ตามที่อยากจะใช้รูปนั้นอาจขโมยเพื่อนำไปใช้ เผยแพร่ต่อ หรือบันทึกรูปนั้นเอาไว้ก็ได้ แม้ว่า พ่อ แม่ เอง จะลบรูปที่โพสต์ออกไปแล้วจากต้นทางก็ตาม แต่ในโลกนี้อาจมีคนบันทึกรูปนั้นไปแล้วก็เท่ากับว่ารูปนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไปและไม่สามารถนำกลับมาได้อีก
ตัวอย่างเหตุการณ์
การโพสต์รูปลูกลงบนสื่อออนไลน์นั้น มีตัวอย่างให้เห็นอยู่หลายตัวอย่างและตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แม้ว่าจะเกิดขึ้นในต่างประเทศก็ตาม แต่ พ่อ แม่ ต้องไม่ลืมว่า โลกออนไลน์นั้นไม่มีพรมแดน ตัวอย่าง เช่น พ่อ แม่ ถูกฟ้องร้องจากลูก การโพสต์รูปลูกผิดกฎหมายในบางประเทศ การพบรูปลูกบนเว็บลามกอนาจารและ รูปเด็กป่วยถูกนำไปล้อเลียน เป็นต้น
1. Independent รายงานว่า พ่อ แม่ ในประเทศออสเตรีย ถูกลูกสาววัย 18 ปีฟ้องร้องต่อศาลเพราะได้โพสต์รูปลูกในวัยเด็กที่ทำให้เธออับอายบน Facebook ทั้งรูปในขณะที่เธออาบน้ำและกำลังฝึกใช้โถปัสสาวะ ซึ่งสร้างความอับอายให้แก่เธอต่อเพื่อนบน Facebook 700 คน และ คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล (http://www.independent.ie/world-news/europe/teen-sues-parents-over-for-violating-privacy-with-facebook-photos-35051012.html)
2. The Telegraph รายงานว่า ตำรวจฝรั่งเศส ตักเตือน พ่อ แม่ ให้หยุดโพสต์รูปลูกลงบนสื่อออนไลน์ เพราะอาจถูกฟ้องร้องจากเด็กได้ เนื่องจากเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากภายใต้กฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของฝรั่งเศส ระบุว่า การเผยแพร่รูปส่วนตัวของผู้อื่นสู่สาธารณะมีความผิดโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 45,000 ยูโร ทั้งนี้รวมถึงการโพสต์รูปลูกตัวเองโดยที่ไม่รับความยินยอมด้วย (http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/france/12179584/French-parents-could-be-jailed-for-posting-childrens-photos-online.html)
3. Independent รายงานข่าวที่น่าตกใจ เมื่อมีการเตือนจากคณะกรรมการปกป้องภัยเด็กทางอิเล็กทรอนิกส์ของออสเตรเลียว่า รูปภาพครึ่งหนึ่งบน เว็บโซต์สำหรับพวกชื่นชอบการร่วมเพศกับเด็ก ถูกนำมาจาก สื่อสังคมออนไลน์ จากการที่พ่อ แม่ โพสต์รูปลูกบนสื่อเหล่านี้ด้วยตัวเอง ภาพต่างๆของเด็ก เช่น การว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือ ทำการบ้านก็ตามได้ถูกนำไปใช้เพื่อแสดงถึงความต้องการทางเพศของผู้ใช้เว็บไซต์เหล่านี้
แม่บางรายถึงกับช็อคเมื่อไปพบรูปลูกสาววัย 8 ขวบและลูกชายวัย แค่ 9 เดือน ไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ลามก ด้วยตาของตัวเองและภาพเหล่านั้น ทั้งๆที่บัญชี Facebook ของเธอเองที่ตั้งค่าไว้ให้ดูเฉพาะในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว เท่านั้น (http://www.kidspot.com.au/parenting/real-life/reader-stories/mums-warning-i-found-my-childrens-photos-on-porn-sites)
4. Bostonglobe รายงานว่าแม่เด็กวัย 4 ขวบ ที่ป่วยด้วยโรคความผิดปกติของยีน(Genetic disorder) ซึ่งมีความพิการทางโครงสร้างบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ได้แบ่งปันประสบการณ์การรักษาลูกกับครอบครัวอื่นๆ โดยได้โพสต์รูปลูกหลายต่อหลายรูป ผ่านอินเทอร์เน็ต ภายหลังพบว่ารูปของลูกที่โพสต์ไปนั้น ได้ถูกนำไปล้อเลียนต่างๆนานา เช่น นำรูปหนูน้อยไปเปรียบเทียบกับลูกสุนัข เป็นต้น เป็นการซ้ำเติมและสร้างตราบาปแก่เด็ก
ข้อแนะนำในการโพสต์รูปลูก
แม้ว่า พ่อ แม่ จำนวนมากอาจจะเห็นว่าการโพสต์รูปลูกนั้นไม่ใช่มีเฉพาะผลในทางลบอย่างเดียว แต่ก็มีประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น เพื่อการสร้างสังคม ดูพัฒนาการการเติบโตของลูก แสดงความยินดีที่ลูกประสบความสำเร็จในกิจกรรมบางอย่าง ฯลฯ
แต่การโพสต์รูปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ว่านั้นจะต้องทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดตราบาปแก่ลูกในภายหน้า ดังนั้นการโพสต์รูปควรคำนึงถึงคำแนะนำขั้นต้นดังต่อไปนี้
- อย่าโพสต์รูป วิดิโอ ข้อมูลเกี่ยวกับลูก ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตลูกทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น การใช้ชีวิตในสังคม โรงเรียน หรือ อาชีพการงานในอนาคต เป็นต้น
- อย่าโพสต์รูปเปลือยหรือกึ่งเปลือยของลูกบนสื่อสังคมใดๆเป็นอันขาดไม่ว่าลูกจะอยู่ในวัยใดหรือเพศใดก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อจริงหรือชื่อเต็มของลูก
- กำหนดรหัสผ่านสำหรับบัญชีของลูกให้มีความยากในการเข้าถึงบัญชี เช่น มีทั้งตัวเลขและตัวอักษร ฯลฯ จากผลสำรวจของ SplashData ในปี 2015 พบว่า รหัสผ่านที่นิยมใช้มากที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกคือ “ 123456” ซึ่งเป็นรหัสที่มีความเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลมากที่สุด
- อย่าลืมเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูก ถามลูกสักคำ ก่อนที่จะโพสต์รูปลูกลงบนสื่อออนไลน์หรือแบ่งปันกับใคร
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเสมอบนสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆเสมอและระมัดระวังเรื่องการ Tag และ Share ที่จะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราโพสต์ลงไป
- จะเพิ่มใครเป็นเพื่อนต้องแน่ใจว่าเราต้องการเป็นเพื่อนกับคนคนนั้นจริงๆ เพราะเพื่อนบนโลกออนไลน์นั้นมีหลากหลายทุกรูปแบบ
- อย่าโพสต์ หรือแชร์ ภาพ วิดีโอ ข้อมูลส่วนตัว ของเด็กคนอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
- “ปิด” ปุ่ม Location service เสมอ เมื่อถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ
- อย่าโพสต์ ชื่อลูก พร้อมกับ วันเกิด ที่อยู่ โรงเรียน เบอร์โทรศัพท์ e-mail หรือสถานที่ลูกชอบไป เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกติดตาม
พ่อ แม่ ต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เราเสมือนอยู่บนโลกสองโลก นั่นคือ โลกแห่งความจริงและโลกเสมือน ในโลกแห่งความจริงเราคือคนไทย อยู่ในประเทศที่มีขอบเขตชัดเจน แต่บนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกเสมือนนั้นเรากลับกลายเป็นพลเมืองของ Facebook Google Instagram ฯลฯ ซึ่งเป็นโลกที่ไม่มีขอบเขต มีพลเมืองทุกชาติในโลก มีความหลากหลาย ทั้งผู้ร้ายและคนดี ดังนั้นการอยู่บนโลกออนไลน์จึงมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาที่จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและภัยอื่นๆที่อาจตามมา
การโพสต์ข้อความหรือรูปที่เกี่ยวกับลูกลงบนสื่อสังคมออนไลน์จึงมีโอกาสที่จะถูกขโมยภาพหรือข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ และ ข้อความตลอดจนรูปทั้งหลายที่ พ่อ แม่ โพสต์ขึ้นไปนั้นจะอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตตลอดไปและอาจกลับมาทำร้ายลูกหรือครอบครัวเมื่อใดก็ได้
โลกของอินเทอร์เน็ตนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าที่เราคาดคิด ทุกวันนี้สิ่งที่เราค้นหาหรือมองเห็นโดยใช้เครื่องมือสืบค้น(Search engine)ทั่วๆไป เช่น Google Yahoo หรือ DuckDuckGo นั้นเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆของโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพราะความจริงแล้วสิ่งที่เรายังมองไม่เห็นบนอินเทอร์เน็ตนั้นยังมีอีกมากมายกว่าสิ่งที่เราเห็นอีกไม่รู้กี่สิบเท่า
เว็บไซต์ที่อยู่ลึกลงไปจนเราไม่สามารถเข้าถึงได้เหล่านี้เรียกกันว่า Deep Web เว็บไซต์เหล่านี้ไม่สามารถสืบค้นจากเครื่องมือสืบค้นทั่วๆไปที่เราใช้กันอยู่ทุกวันได้ ประมาณการกันว่าสิ่งที่เราค้นหาบน Google นั้นให้ผลลัพธ์กับเราแค่ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งหมายความว่าข้อมูลอีกกว่า 99 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อมูลที่เรามองไม่เห็น เทียบได้กับเราตกปลาในมหาสมุทรที่ความลึกแค่ 1 ฟุต หรือ 2 ฟุตเท่านั้นเอง
เว็บมืดทั้งหลายที่อยู่ใน Deep web จึงเป็นแหล่งส้องสุมของบรรดาเว็บไซด์ ลามกอนาจาร และอาชญากรรม ซึ่งไม่แน่ว่าวันหนึ่งรูปที่น่ารักของลูกท่านอาจไปปรากฏเป็นของเล่นให้กับบรรดาสื่อลามกเหล่านี้ก็เป็นได้
ดังนั้น ประโยคที่ พ่อ แม่ ต้องจดจำไว้ให้ขึ้นใจเพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกและของตัว พ่อ แม่ ก็คือ คิดให้มาก ก่อนโพสต์รูปลูก เพราะ “ อินเทอร์เน็ต ไม่มีวันลืม”
ความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้ทุกคนจะต้องรับรู้และหน่วยงานสำคัญที่ต้องให้ความรู้หรือรณรงค์ในเรื่องความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็คือภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด
แต่ในทางปฏิบัตินั้นดูเหมือนว่าภาครัฐเองให้น้ำหนักต่อเรื่องประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากกว่าเรื่องความปลอดภัย เท่ากับว่าภาครัฐเองสอนให้ประชาชนเสพเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้มองความจริงอีกด้านหนึ่งและเน้นไปที่มาตรการแก้ไขปัญหามากกว่ามาตรการป้องกัน
เราจึงแทบไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ใดๆในเรื่องภัยจากเทคโนโลยีดิจิทัลจากภาครัฐอย่างจริงจังเหมือน เช่น การรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุ ภัยจากเหล้า บุหรี่ ฯลฯ ทั้งๆที่รัฐต้องพึงสร้าง ประโยชน์ ความรู้ และความปลอดภัยให้กับสังคมต่อในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขควบคู่กันไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.independent.co.uk