"สมลักษณ์" ระบุ คำสอน พระราชดำรัส ร.9 เป็นตามหลักประชาธิปไตย
"สมลักษณ์ จัดกระบวนพล" ระบุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระอัจฉริยภาพด้านกระบวนการยุติธรรม คำสอน พระราชดำรัส เป็นตามหลักของประชาธิปไตย และเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ยันคนที่มีอาชีพในกระบวนการยุติธรรม 2 สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์-ความเป็นกลาง
วันที่ 10 ธันวาคม 2559 อสมท. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน "๙ ตามรอยพ่อ สานต่อพระราชประณิธาน" ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ภายในงานมีการอภิปราย 'ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับประชาธิปไตย' เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาอาวุโส และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านมีพระอัจฉริยภาพด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างในวาระที่พระองค์ท่านเสด็จไปกระทรวงยุติธรรมและศาล มักจะมีคำเรียกว่า เสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงยุติธรรมหรือเหยียบศาล
อดีตผู้พิพากษาอาวุโส กล่าวถึงพระราชดำรัสที่มีต่อกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2495 ความว่า "การศาลยุติธรรมนั้น มีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัย และความเที่ยงธรรมของคนในประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตย ส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อ มีความยุติธรรมสม่ำเสมอ เป็นหลักอันควรให้ปวงชนทุกคน ควรนับถืออย่างเนืองนิตย์ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสานความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่การกาลสมัย ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านทั้งหลายจะได้ตั้งใจช่วย การพิทักษ์รักษาอารยธรรมความยุติธรรม และความผาสุกของประเทศชาติสืบไป ไม่ว่าท่านจะมีหน้าที่เป็น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรืออาชีพอื่นใดที่หมายถึง อาชีพของนักกฎหมาย ขอให้ช่วยกันทำประโยชน์อื่นๆ ให้แก่ประเทศชาติ อันเป็นที่รักของเรา"
นางสาวสมลักษณ์ กล่าวว่า คำสอนของพระองค์ นับเป็นตามหลักของประชาธิปไตย แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพด้านกระบวนการยุติธรรม โดยพระองค์ท่านเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังมีเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาแห่งเนติสภา ก็จะมีพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทที่มีข้อคิด ซึ่งข้อคิดของท่านทำให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการทำงานความยุติธรรมต้องนำเป็นหลักไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น
"ข้อสำคญสูงสุดของอาชีพด้านนี้ คือ ความซื่อสัตย์ เพราะเมื่อท่านยื่นใบสมัครการเป็นผู้พิพากษา จะมีการตรวจคุณสมบัติความซื่อสัตย์ หากพบว่า เคยทุจริต แม้เรื่องเล็กน้อยก็ไม่สามารถเป็นได้ หากเป็นได้แล้วก็จะมีการตรวจสอบทุกปีด้วยเช่นกัน ดังนั้นการทำงานต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอันดับหนึ่งของหลักการทำงาน แม้ความรู้อาจมีน้อยก็สามารถฝึกฝนกันได้ แต่ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตจะถือว่า เป็นผลที่ไม่น่านับถือทั้งในหน้าที่และนอกหน้าที่การทำงานของตนเอง
และพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2540 ว่า "ประเทศชาตินี้ก็ยังมีคนสุจริต และมีคนที่ทุจริต ถ้ามีคนทุจริตมีจำนวนมาก ไม่สามารถป้องกันตัวจากทุจริตชน ก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจม ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่จะรักษาความสัตย์สุจริตนี้ไว้ ของผู้ที่ได้ทำมาก่อนนี้ ทั้งในขณะนี้ หรือเมื่อก่อนนี้ จึงทำให้ท่านได้รับมรดกของอำนาจประการนี้ ก็จงรักษามรดกนี้ไว้"
และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2495 พระราชดำรัสมีใจความว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่น ในความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์สุจริตที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริตซื่อตรงต่อหน้าที่ ต่องานของตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง"
อดีตผู้พิพากษาอาวุโส กล่าวถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นคำสอนที่สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นอาชีพของกระบวนการทำงานยุติธรรม 2 สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์และความเป็นกลาง เพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากความเดือดร้อน ต้องอยู่ให้พ้นความอคติทั้งปวง เมื่อขึ้นไปนั่งบนบังลังก์การตัดสินคดีความ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบอาชีพนี้มีเงินเดือนสูงกว่าอาชีพก่อนในอดีตนั้น มีเหตุผลจากการไม่สามารถไปรับเงินจากที่ใด หรือทำธุรกิจอื่นใดมิได้ จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมอาชีพนี้ถึงมีเงินเดือดสูง เพราะต้องตั้งอยู่ในความเป็นกลางและความสุจริต พร้อมมีความกล้าหาญต่อการทำตามความถูกต้อง
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่การเมืองบ้านเรามีปัญหา เราก็จะนึกถึงพระองค์ท่าน เพื่อให้ปัญหานั้นคลี่คลาย โดยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ต้องออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นเป็นนายกแทน จนทำให้ท่านนายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถูกเรียกว่า นายกพระราชทาน ทำให้กลายเป็นรูปแบบของการแก้ไข้ปัญหาความขัดแย้ง
"และอีกภาพที่เรียกผู้นำทั้งสองฝ่ายเข้าพบ ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของการสูญเสียประชาชน คือ พฤษภาทมิฬ 2535 พระองค์ก็ตรัสว่า "ขอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพียงแต่ว่าใครจะชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทางมีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้และที่แพ้ที่สุด ก็คือประเทศชาติและประชาชน แล้วจะมีประโยชน์ประการใดที่จะทระนงตัวว่าชนะ ฉะนั้นจึงขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหาและปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติดีขึ้น" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว และว่า ขณะเดียวกันสื่อต่างชาติต่างใช้คำว่า ราวกับปาฏิหาริย์ เพราะทุกอย่างยุติลงด้วยดีและเร็ว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ไม่เคยอยู่เหนืออำนาจประชาธิปไตย อย่างเรื่องกฏหมายมาตรา 7 พระองค์เคยตรัสว่า "ข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ตามที่ประชาธิปไตย" เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ท่านทรงเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และพระองค์ยังคอยส่งเสริมหลักการของระบบประธิปไตย นอกจากนี้เรื่องเสรีภาพ พระองค์ทรงมีกระราชดำรัสว่า "การมีเสรีภาพนั้น เป้นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นจำต้องใช้ในความระมัดระวัง และความรับผิดชอบ ไม่ใช้สิทธิไปละเมิดผู้อื่น คนประเทศอื่นที่เขาก็มีเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของส่วนรวมด้วย"
"การอยู่ร่วมกัน เราทุกคนสามารถมีความขัดแย้งกันได้ อยู่คนละฝ่ายได้ แต่เราคือคนไทยด้วยกัน มีอะไรให้ว่ากันตามกติกา เหมือนการแข่งกีฬา และต่อจากนี้ทุกคนควรเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้แล้ว แม้พระองค์ไม่อยู่แล้ว แต่คำสอนของพระองค์ยังคงอยู่ตลอดไป"