"ธเนศ" ชี้ ดับไฟใต้รัฐห้ามผูกขาด หนุนประชาสังคมขับเคลื่อนสันติสุข
ความรุนแรงรายวันที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางการขับเคลื่อนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาล พร้อมๆ กับปฏิบัติการทางทหาร ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม เป็นความจริงจากปลายด้ามขวานที่เราคุ้นชินในห้วง 3-4 ปีมานี้
แต่ผลของการดำเนินนโยบาย ดูจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในแง่ตัวเลขสถิติเท่านั้น แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านและผู้ที่ติดตามปัญหามาอย่างต่อเนื่องกลับมองตรงกันข้าม
ทั้งๆ ที่สมรภูมินี้คือ “สงครามความคิด” และ “สงครามความรู้สึก”
“ในแง่ของความรุนแรงไม่ดีขึ้น การใช้อาวุธสงคราม การก่อการร้ายไม่ดีขึ้น ถี่...แล้วก็มาก ทุกพื้นที่ ไม่มีข้อยกเว้น เป็นดัชนีของความเสื่อมของสถานการณ์ว่าด้วยความรุนแรง ถือว่าไม่ดี ไม่คงตัว”
เป็นการประเมินจากมุมมองของ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อเสนอของอาจารย์ธเนศ คือต้องเปิดพื้นที่และโอกาสให้ภาคประชาสังคมขับเคลื่อน
“ถ้าดูพัฒนาการทั่วไปในโลกตอนนี้ทุกที่ (หมายถึงพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก) ถึงจุดที่เห็นพ้องต้องกันว่า ความขัดแย้งถึงจุดสงครามภายในประเทศมันมีเยอะแล้ว ตอนนี้ทุกคนได้ข้อสรุปเหมือนกันว่า ต้องสร้างสันติ สร้างสันติภาพ จึงต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้”
“ของบ้านเราเองตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา องค์กรอย่างดีพเซาท์วอทช์ ภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้หญิงต่างๆ ในพื้นที่ สามารถรวมตัวกันและพยายามผลักดันนโยบายสร้างสันติต่างๆ ออกมา แนวคิดวิธีการต่างๆ ผมคิดว่าถ้าจะมีการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ ต้องมองไปถึงกรอบการสร้างสันติภาพ แล้วหากลยุทธ์ วิธีการ ทำความเข้าใจสันติภาพ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การวางอาวุธ หรือเจรจาระหว่างรัฐกับกลุ่มก่อการร้าย แต่มันมีปัญหาเยอะกว่านั้น และต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งการสร้างความรู้ ให้ความเข้าใจ รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ เองด้วย”
อาจารย์ธเนศ บอกว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาที่ยังมองไม่เห็นทางออก เพราะรัฐโดยหน่วยงานความมั่นคงผูกขาดการแก้ปัญหาเอาไว้ทั้งหมด
“ที่เราเห็นความไม่ลงตัวของการเจรจาหรือหาทางออก เพราะหน่วยงานที่จัดการเรื่องนี้มีหน่วยงานเดียว คือรัฐ หรือฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะผ่าน สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) หน่วยงานของกองทัพภาคที่ 4 หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งก็คือหน่วยปฏิบัติ ไม่ใช่ฝ่ายนโยบาย ถ้าการเมืองเป็นปกติ นโยบายต้องมาจากภาคการเมือง คือนโยบายทางการเมืองที่ผูกโยงกับในประเทศและนอกประเทศ มันถึงจะขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาลงไปสู่หน่วยปฏิบัติได้”
“นี่จึงหมายถึงว่าถ้ากลุ่มภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ สามารถร่วมกันทำให้ agenda (วาระ) ต่างๆ เป็นนโยบายที่รัฐยอมรับได้ และช่วยกันผลักดัน ไม่ทำให้การสร้างสันติภาพเป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเปิดประตูนี้ออกมาได้ เราอาจจะเลิกพูดด้วยภาษาหรือเนื้อหาแบบที่ผ่านมาทั้งหมดเลย แต่จะพูดด้วยภาษาและเนื้อหาที่ต่างจากนี้อย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ เรารู้หมดว่าใครจะพูดอะไร แบบนี้มันไปไม่ได้”
อาจารย์ธเนศ กล่าวทิ้งท้ายว่า บทบาทของสื่อมวลชนมีความสำคัญมากในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะสื่อส่วนกลาง ถ้ามีการเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมในพื้นที แล้วขยายแนวคิดออกไป ก็จะทำให้การขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพทำให้ง่ายและกว้างขวางขึ้นมาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ขอบคุณ : ภาพจากสถานีโทรทัศน์ NOW26