CRSP เปิดตัวเลขผู้ลี้ภัยในไทยมาถึง 8 พันคน มาจาก 50 ประเทศ
ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยฯ เผย 90% ของผู้ลี้ภัยเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย ใช้วีซ่าท่องเที่ยว ก่อนขอเปลี่ยนสถานะ ด้านหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ชี้ควรสร้างความเข้าใจ หวังคนไทยปรับมุมมองมีทัศนคติที่ดีกับผู้ลี้ภัย
เมื่อเร็วนี้ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “STAND UP FOR URBAN REFUGEES’ RIGHTS!” เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ณ ลาน Dazzle Zone ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้ลี้ภัยในเมืองจำนวนมากถึง 8 พันคน มาจาก 50 ประเทศ โดยสาเหตุหลักๆ ที่ผู้ลี้ภัยต้องการหนีออกมาจากประเทศบ้านเกิดเนื่องจากถูกกีดกันในเรื่องของศาสนาและชาติพันธุ์
“ผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 90% เป็นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาขอสถานภาพอย่างถูกกฎหมาย โดยมีพาสปอร์ตและวีซ่าครบถ้วน แต่เนื่องด้วยการดำเนินการขอสถานะต้องใช้เวลานานทำให้ระหว่างรอวีซ่าหมดอายุ และตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองของประเทศไทยส่งผลให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นคนผิดกฎหมาย”
กรณีผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย คือ มีพาสปอร์ต มีวีซ่า โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว จากนั้นก็เข้ามาขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย นางสาวปริญญา กล่าวว่า ทางราชการไทยไม่ได้เป็นคนดำเนินการในการขอให้สถานะ แต่จะเป็นหน้าที่ของ UNHCR เมื่อเข้ามาก็ต้องใช้เวลา ทั้งเวลาในการสัมภาษณ์ ว่า ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหล่านี้ใครจะเข้าข่ายตามคำนิยายผู้ลี้ภัย ช่วงรอนี่เองทำให้วีซ่าหมดอายุลง ยิ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องของผู้ลี้ภัย ประเทศไทยไม่มีกฎหมายหรือนโยบายโดยตรงที่จะรองรับสำหรับผู้ลี้ภัยในเมือง สิ่งที่บ้านเราใช้ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งออกมานานแล้ว พอใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง คนพวกนี้ก็จะกลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะว่าอยู่เกินกำหนด
ด้านนายเฆซุส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยในเมืองยังคงขาดความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการดำเนินชีวิตได้ เนื่องจากการเป็นบุคคลที่ไร้สถานะทางสังคม พวกเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ปลอดภัย ไม่สามารถทำงานหรือส่งลูกไปเรียนได้ มีความขัดสนทางการเงิน และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อให้มีชีวิตรอด หลายคนมีปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตามในส่วนของเครือข่ายภาคสังคมยังคงให้การดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัยภาคพื้นฐาน ในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ดูแลสุขภาพ แม้กระทั่งที่พักอาศัย นอกจากนี้หลายๆ องค์กรยังร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อยังชีพของตัวเองได้ในอนาคต เอกอัครราชทูต กล่าวว่า “เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับภาคประชาชน สร้างทัศนคติที่ดีต่อมุมมองผู้ลี้ภัย ที่เขามาที่ประเทศไทยเพราะเขาอยู่ประเทศตนเองไม่ได้ เขาไม่มีทางเลือก จึงต้องหาความปลอดภัยให้ตัวเอง ต้องทำให้คนไทยเปิดกว้างและยอมรับผู้ลี้ภัย