เขตทหาร... เข้าได้
แต่เดิมหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “เขตทหาร ห้ามเข้า” แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ครั้บ หลายหน่วยงานของทหารเปิดให้ประชาชนเข้าทำกิจกรรมได้ สำหรับเรื่องนี้ ประชาชนใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เข้าดูข้อมูลข่าวสารการดำเนินการเรื่องที่เป็นที่สนใจของสาธารณะ ไปดูกันครับ
เรื่องนี้ เริ่มจากนายสื่อสารเป็นผู้สื่อข่าวสำนักแห่งหนึ่ง ได้มีหนังสือถึงกองทัพบกเพื่อขอข้อมูลข่าวสาร 2 รายการ คือ 1) เอกสารสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมกิจการพลเรือนกองทัพบก และกรมยุทธโยธาทหารบกตลอดทั้งปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ 2) เอกสารราคากลางจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ ต่อมาสำนักเลขานุการกองทัพบกมีหนังสือ 2 ฉบับส่งสำเนาข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 ให้นายสื่อสาร และชี้แจงว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับราคากลางโครงการอุทยานราชภักดิ์ ในการดำเนินการเรื่องนี้ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องถูกต้องทุกอย่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่จึงไม่สมควรจัดส่งข้อมูลข่าวสารให้ตามคำขอ รวมทั้งกระทรวงกลาโหม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานป.ป.ท. ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงห้าธารณชนทราบแล้ว ควรไปหาข้อมูลจากทั้ง 3 หน่วยงานโดยตรงต่อไป นายสื่อสารจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการฯ สำนักงานเลขานุการกองทัพบกมีหนังสือส่งสำเนาข้อมูลข่าวสารและชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวแบ่งพื้นที่การจัดสร้างเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน 7 พระองค์ ส่วนที่ 2 การก่อสร้างลานเอนกประสงค์ ส่วนที่ 3 ห้องจัดนิทรรศการ ที่เหลือก็เป็นสภาพภูมิทัศน์ ระบบสาธารณูปโภค งบประมาณก็มาจากงบบริจาค กับงบกลาง และเนื่องจากโครงการนี้เป็นงานเร่งด่วนมีระยะเวลาจำกัด จึงต้องจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยผู้มีอำนาจอนุมัติวงเงินงบประมาณตามที่กำหนดไว้ระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการกองทัพบกว่าด้วยอุทยานราชภักดิ์ พ.ศ. 2558 ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติ กรรมวิธีการสั่งซื้อสั่งจ้างได้เทียบเคียงกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เชิญผู้ประกอบการไปเสนอราคาที่เป็นราคากลางตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นหน่วยตรวจสอบราคากลาง สำหรับการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ไม่สามารถกำหนดราคากลางได้
คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาเห็นแล้วว่า ข้อมูลข่าวสารราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ เป็นข้อมูลที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่าย ราคากลาง การคำนวณราคากลางไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้จึงเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้อยู่แล้ว สำหรับการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อกองทัพบกแจ้งว่าไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัย หากนายสื่อสารไม่เชื่อและสงสัยว่าเอกสารน่าจะมีก็ใช้สิทธิร้องเรียนตามมาตรา 13 ประกอบมาตรา 33 ได้ จึงวินิจฉัยให้สำนักงานเลขานุการกองทัพบกเปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์พร้อมให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่นายสื่อสาร
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก อยู่ในความสนใจของประชาชน มีผู้เกี่ยวข้องออกมาให้สัมภาษณ์หลายด้านหลายมุมมอง เมื่อหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลแสดงความโปร่งใสในการดำเนินการแล้วก็มีแต่ผลดีกับทุกฝ่ายครับ ต้องการหารือ ปรึกษาการใช้สิทธิหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ติดต่อได้ที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 02-283-4687 , www.oic.go.th “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”
ขอบคุณภาพประกอบ: อุทยานราชภักดิ์จาก www.newluckytour.com , Infographic:พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 จาก youtube.com