ไม่มองแค่ตัวเลขกำไร-ขาดทุน! ภาคเอกชน ร่วมพลังขับเคลื่อนแผนการพัฒนาที่ยังยืน
ภาคเอกตั้งเป้าวางแผนธุรกิจ ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมมิติด้านสิทธิมนุษยชน-แรงงาน สิ่งแวดล้อม-ต้านคอรัปชั่น ระบุชัด แนวโน้มโลกยุคต่อไป ต้องทำทุกอย่างบนความรับผิดชอบ
วันที่ 9 ธันวาคม 2559 เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย...เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)” ณ ห้องประชุมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ชั้น 31 อาคาร AIA Capital รัชดา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ทรูคอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสำหรับเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศว่า ที่ผ่านมาความท้าทายของภาคธุรกิจเอกชนอยู่ที่การทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ เติบโต มีผลประกอบการที่ดี สามารถครองใจตลาดให้ได้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงมีความท้าทายอื่นมากกว่านั้นคือ ความท้าทายด้านสังคม ระบบของทั้งประเทศและโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคเอกชนไม่ได้นำมาพิจารณา หรืออาจรู้สึกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีบทบาทที่ชัดเจน ไม่มีอำนาจอยู่ในมือในแก้ปัญหา เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน ความยากจน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นายศุภชัย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจ จะมีการพูดถึงเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) หรือกรณีบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) แต่พบว่า ส่วนใหญ่เน้นในเรื่องสิทธิความเสมอภาคของนักลงทุน ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ส่วนในมุมของผู้มีส่วนได้เสียกลับขาดความชัดเจน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของภาคเอกชนในมิติใหม่ รวมถึงเป็นความความท้าทายของประเทศไทยและโลกด้วย
นายศุภชัย กล่าวถึงการวัดคะแนนความยั่งยืนของประเทศต่างๆ หรือ SDGs index พบว่า สวีเดน เป็นอันดับ 1 ได้ 85 คะแนน , สหรัฐอเมริกา อยู่อันดับ 25 ได้ 73 คะแนน, ไทย อันดับ 61ได้ 62 คะแนน และ จีน อันดับ 76 ได้ 59 คะแนน
ทั้งนี้ หากมองจากปัจจัยภายในหรือตัวเราเอง พบว่า ความท้าทายเรื่องความยั่งยืนของไทย มีด้วยกัน 7 เรื่องคือ
1. ภาครัฐ ต้องเข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นผู้นำระดับนโยบาย ซึ่งปัจจุบันพบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบทบาทและความเข้าใจในเรื่องนี้ค่อนข้างดี แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้เกิดการตระหนักการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ขยายเป้าหมายให้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น
2.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
3.การสร้างความตระหนักในภาคเอกชนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยทุกบริษัทต้องมีเป้าหมายเกี่ยวกับความยั่งยืน 17 เป้าหมายรวมอยู่ด้วย โดยอาจดำเนินทั้งหมด หรือเลือกแค่บางเป้าหมาย ต่างกันไปในแต่ละองค์กร
4.การมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจกับชุมชน
5.การตรวจสอบย้อนกลับและมีส่วนร่วมของห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม เรื่อง Food security การทำเกษตรที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพอาหารที่กระทบต่อสุขภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
6.ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งระดับโลก ภูมิภาค
และ 7.การสร้างผู้นำในองค์กรที่ตระหนักเรื่องความยั่งยืน เพราะหากผู้นำมีมิติความคิดเปลี่ยนไป ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง องค์กรจะยิ่งเข้มแข็ง อยู่ได้ยั่งยืนมากขึ้น
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องความยั่งยืนนั้น ประกอบด้วย 3 มิติที่สำคัญคือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมองควบคู่กันไป ไม่ใช่มองเฉพาะตัวเลขกำไรขาดทุน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องทำทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบ ปรับปรุงแก้ไข หาโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ
ทั้งนี้ สำหรับเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของ 15 องค์กร ที่ตระหนักถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักการของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านคอรัปชั่น โดยเบื้องต้นเครือข่ายฯ ตั้งเป้าหมายจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และคาดว่าภายใน 1 ปีจะเริ่มเห็นทิศทางของแต่ละบริษัท ในการกำหนดเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนไว้ในแผนของบริษัท รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนวิธี แนวทางปฏิบัติระหว่างกันเกิดขึ้น
ด้าน ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการก้าวต่อไปของบริษัทไทยในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า กระแส ทิศทางต่อไปในการดำเนินธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับ 1.ผู้บริโภค 2.คู่ค้า ซึ่งคาดหวังว่าคู่ค้าจะต้องทำความดี ไม่เช่นนั้นจะไม่คบค้า 3.นักลงทุนสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนบริษัทที่ทำดี ไม่เช่นนั้นจะไม่ซื้อหุ้น 4.พนักงาน ต้องมีความสุข มีความภูมิใจว่าอยู่ในองค์กรที่ดี หากไม่สามารถตอบคำถามตรงนี้ได้ ก็จะเสียโอกาสในการรักษาคนดี และ 5.ชุมชน สังคม
" สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นได้อยู่ที่หลักการบริหาร โดยเฉพาะต้องมีผู้นำองค์กรที่ดี เชื่อ เข้าใจ เพื่อผลักดันขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืนในท้ายที่สุด"
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องความยั่งยืนนั้น สังคมต้องช่วยกัน และต้องเข้าใจว่า มิติความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน และเมื่อทุกคนทำ สร้างเครือข่าย จะเกิดพลังขึ้นมา ทั้งนี้แนวทางที่สามารถน้อมนำมาใช้ได้คือเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ทั้งในระดับปัจเจกและองค์กร และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาประเทศ