ความซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในหลักทศพิธราชธรรม
"เวลาเราพูดถึงการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน คือการเรียกเอาความสุจริตกลับคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงทำ นำไว้ก่อนแล้วหลายปีนัก"
9 ธันวาคม 2559 ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ซึ่งก่อกำเนิดจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 มีภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล สำนักงานป.ป.ช. ร่วมกับภาคีจากทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ไฮไลท์หลักอยู่ที่ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลยา จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีกิจกรรมจัดงานกระตุ้นจิตสำนึกให้สังคมและทุกภาคส่วนไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้แนวคิด "สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน Following The King's Path of Integrity Towards Clean Thailand"
กิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ “เรื่องเล่าของพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน” ตอนหนึ่งว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ปีนี้มาประจวบกับที่ประชาชนชาวไทยอยู่ในห้วงเวลาความวิปโยค รู้สึกอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แม้การนำ 2 เรื่องมาโยงกันอาจจะไม่บังควร แต่ความเหมาะสมมีอยู่ เพราะตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ 88 ปีเศษต้องถือว่า เป็นแบบอย่างของคำว่า ความสุจริต ซึ่งก็คือคุณธรรม
“หากใครสังเกตพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือพระราชกระแส ที่มีผู้รวบรวมไว้มากมายหลายองค์ จะพบว่า เมื่อเวลาตรัส หรือรับสั่งอะไรก็ตามที จนกระทั่งถึงแม้แต่เรื่องที่ทรงปฏิบัติเอง ล้วนจบลงด้วยคำว่า สุจริต ทั้งนั้น ดังภาษาพระ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต”
ดร.วิษณุ กล่าวถึงพระราชดำรัส ไม่ว่าพระราชดำรัสสดๆ หรือที่ได้อ่านจากที่มีการยกร่างขึ้นนั้น จะสังเกตว่า คำที่ปรากฏบ่อยที่สุด ในพระราชดำรัสนับพันนับหมื่นองค์ คือคำว่า สุจริต โดยได้ค้นพบพระราชดำรัสปี 2499 เป็นหลักพระราชดำรัสอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้น
“ปี 2499 ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยปีนั้น ที่รับสั่งแก่บัณฑิตว่า การทำกิจอะไรก็ตามให้ประสบความสำเร็จขอยึดหลัก 4 อย่าง 1.ความอุตสาหะ พากเพียร 2.ซื่อสัตย์สุจริตเป็นรากฐานเบื้องต้น 3.มีใจเมตตากรุณา โอบอ้อมอารีกับผู้อื่น 4.บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า พระราชดำรัสมี 4 ข้อ หากผู้ใดมีแล้ว ผู้ใดทำแล้วทำงานยากงานใหญ่ก็จะประสบความสำเร็จ
หลังจากปี 2499 ตลอดมา จะมีพระราชดำรัสเรื่องใด งานใด โอกาสใด ก็จะไม่แตกจากคุณธรรมที่ทรงยกไว้เบื้องต้นทั้งนั้น ก่อนพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ
ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ใช่แค่มีพระราชดำรัสถึงเท่านั้น ได้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง นำผลมาแสดงให้เห็น การที่คนเราทำอะไรทำเองให้เห็น อะไรที่สอนได้ก็สอนให้รู้ นำผลมาแสดง เป็นสิ่งที่ตรงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา 3 ป. คือ ปฏิบัติ (ทำเอง) ปริยัติ (สอน ศึกษา เผยแพร่) ปฏิเวธ (เอาผลมาแสดงเห็น)
“3 ป.นี่เป็นคาถาในทุกเรื่อง จนไม่น่าเชื่อ 50 ปี มานี้รัฐธรรมนูญในพม่าก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า คนทั่วโลกรู้ว่า เป็นหัวใจแห่งการทำงาน และ 3 หลักนี้มีในหัวใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงปฏิบัติให้เห็น ทรงศึกษามาสอนมาแนะ และเอาผลงานมาแสดง ทั้งเรื่องปลานิล หญ้าแฝก การปลูกกาแฟทดแทนปลูกฝิ่น เป็นต้น”
ดร.วิษณุ กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอีกว่า ทรงระมัดระวังมากในเรื่องการทรงใช้ถ้อยคำ ภาษา เห็นได้จากพระราชดำรัสที่ได้ทรงอ่าน และพระราชดำรัสสดๆ ร้อนๆ ตรัสปากเปล่า ทรงระมัดระวังถ้อยคำ
"เมื่อจะรับสั่งว่า อย่าทุจริตคอร์รัปชั่น ทรงใช้คำว่า จงประพฤติให้สุจริต เมื่อใดเกิดความขัดแย้ง จะไม่รับสั่งว่า อย่าขัดแย้ง ทรงใช้คำว่า จงรู้รักสามัคคี เมื่อไรที่รับสั่งว่า อย่าโลภกอบโกยมากนัก ไม่รับสั่งอย่างนั้น ทรงรับสั่งว่า จงอยู่อย่างพอเพียง
การเลือกเฟ้นคำนั้น มีความหมายเพื่อให้คนรู้สึกนั่งลงแล้วฟัง ร่วมมือ และกระทำตาม โดยเฉพาะการพูดกับคนที่ทำผิดยิ่งต้องระวังใหญ่ โดยรับสั่งอย่างอื่นที่มีความหมายเดียวกัน
หากจะว่ากันถึงความสุจริต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ใคร่รับสั่งคำว่า ทุจริต แต่จะรับสั่งว่า ให้สุจริต บางครั้ง เติมคำว่า ซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงสุจริต
ผมเชื่อว่า เวลาเราพูดถึงการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน คือการเรียกเอาความสุจริตกลับคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงทำ นำไว้ก่อนแล้วหลายปีนัก"
ดร.วิษณุ กล่าวว่า วันนี้คนไทยพร้อมใจทุกคนพูด โดยไม่ได้นัดแนะตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ว่า “ขอเดินตามรอยเท้าพ่อ ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” คือการทำงานเพื่อสังคม ประเทศชาติ ส่วนรวม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 เคยตรัสมาก่อนเราเสียอีก ที่ทรงทำงานก็เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน
“แผ่นดิน ทรงหมายถึงประชาชน ตลอดเวลาแห่งประชนม์ชีพทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้แต่ที่เรียกว่า ประชารัฐ ก่อนที่เราจะรู้จักคำนี้ พระองค์ทรงคิดคำนี้ขึ้นมาก่อนแล้ว คือคำว่า ราชประชาสมาสัย ราช คือ พระราชา ประชา คือประชาชน สม แปลว่า ร่วมกัน อาสัย คือ พึ่งพากัน ซึ่งก็คือภาคพระราชา ภาคประชาชน จับมือร่วมกันพึ่งพาอาศัยทำงานร่วมกัน นี่คือคำว่า ราชประชาสมาสัย”
จากนั้นรองนายกฯ ได้เล่าถึงการได้มีโอกาสทำงานเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลายปี 10 รัฐบาล มีวาสนาอันประเสริฐทำงานติดต่อกับราชสำนัก ติดต่อกับพระมหากษัตริย์ทุกวัน ได้รับรู้ว่า เรามีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ มีน้ำพระทัยเป็นธรรม ทรงดำรงคงมั่นในทศพิธราชธรรมจริงๆ
“เวลาที่เราบอก ทรงมีทศพิธราชธรรม ไม่ใช่เพียงคำที่เขียนไว้อย่างไพเราะ ทรงปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ ให้เห็นทุกเรื่อง ผมเห็นทุกวัน โดยเฉพาะน้ำพระทัย เช่น ฎีกาของนักโทษ ที่ขอพระราชทานอภัยโทษ รับสั่งให้ปล่อยตัวทันทีไม่ให้รอวันหยุด เพื่อให้เขาพ้นโทษ
หรือแม้แต่เรื่องซองกระดาษเอกสารทางราชการ ที่นำขึ้นถวาย พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้รวบรวมนำคืนเลขาฯ ครม. ทรงดึงอ่าน และทอดพระเนตรเสร็จ เหลือซองหากต้องนำไปทิ้ง พระองค์เสียดายให้นำมาคืน และให้รีไซเคิลใส่มาใหม่ ซึ่งจะประหยัดไปได้
ผมได้ฟังยังอึ้ง และนึกถึงเรื่องเล่าหลอดยาสีฟัน นึกถึงในหลวงใช้ดินสอจนหมด ขณะที่ผมเองใช้ครึ่งแท่งทิ้งเพราะไม่ถนัดมือ ผมมาเจอเรื่องซองกับตัวเอง นี่คือความซื่อสัตย์สุจริตต่อพระราชอัธยาศัย ไม่มีเลยที่จะด่างพร้อยออกนอกลู่นอกทาง”
ส่วนการทำราชการบ้านเมือง ดร.วิษณุ เล่าว่า จากการได้รับรู้ ได้เห็นพระองค์ทรงงานไม่มีวันหยุด และทำเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ประชาชนได้อะไร
“พระองค์เคยรับสั่งกับครม.ครั้งหนึ่งที่เข้าถวายสัตย์ฯ ว่า ขอให้ทุกคนรู้ว่า ในประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ คนอื่นอาจมี แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นต้องมาปฏิญาณตนเพื่อทำงาน ไม่ปฏิญาณทำงานไม่ได้ ประชาชนเขารอ ปัญหารอไม่ได้ ปัญหาของประเทศเดินทุกวันไม่รอเสาร์ อาทิตย์ อย่าเอาตัวฉันเป็นอุปสรรค” ดร.วิษณุ เล่าเรื่องที่พระองค์ ทรงคิดถึงแต่ผู้อื่น และประชาชน
น้ำพระทัย
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่รองนายกฯ เล่าเรื่องเล่าของพ่อ เช่น ครม.ชุดหนึ่ง มีการออกกฎหมายให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช นำขึ้นถวายให้ลงพระปรมาภิไธย ปรากฏว่า ทรงรับสั่งว่า ไม่โปรดไม่อาจทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะเท่ากับสถาปนาพระองค์เองเป็นมหาราช
คำว่า มหาราชเป็นคำที่คนอื่นใช้เรียก หากอยู่ในกฎหมาย เท่ากับทรงตั้งพระองค์เอง ท่านคืนกลับมาแก้
“ไม่มีเลยที่ทรงด่างพร้อยให้คนเห็นไม่เหมาะไม่ควร” ดร.วิษณุ ยืนยัน และเล่าอีกว่า มีครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงเล่าว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สภาฯ หวังดี ถวายพระยศให้สูงขึ้น เป็นจอมพล เพื่อให้คู่กับตำแหน่งจอมทัพ โดยถวายในกฎหมาย ชื่อพระราชบัญญัติยศทหาร มีอยู่ในมาตราหนึ่ง เขียนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงมีพระยศ เป็นจอมพล” เมื่อสภาฯ ผ่านกฎหมายนี้ และนำขึ้นถวายให้ลงพระปรมาภิไธย ทรงรับสั่งเล่าว่า ถ้าเซ็นลงไป เท่ากับตั้งตัวเองเป็นจอมพล จากนั้นทรงคืนกลับ
หรือแม้แต่ช่วงที่ครองราชย์ครอบ 25 ปี รัชดาภิเษก (Silver Jubilee) รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เฝ้ากราบบังคมทูล จัดสร้างอะไรสักอย่างให้ใหญ่โต เป็นอนุสรณ์ ก็ทรงรับสั่งถามว่า สร้างทำไม ประชาชนชาวไทยได้อะไร พระองค์ทรงกางแผนที่ และเป็นจุดเริ่มต้นเกิดถนนรัชดาภิเษก
ต่อมาครองราชย์ครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก (Golden Jubilee) รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เฝ้ากราบบังคมทูลสร้างหอคอย ให้สูงใหญ่ เหมือนหอไอเฟล หรือโตเกียวทาวเวอร์ ทรงรับสั่งได้ประโยชน์อะไร และทรงรับสั่งว่า ตอนเขาสร้างหอไอเฟล หรือโตเกียวทาวเวอร์ ไม่มีวิธีอื่นต้องสร้างสูงๆ ติดเสาอากาศบนนั้น แต่วันนี้เขาส่งสัญญาณไปทางดาวเทียมหมดแล้ว หอคอยไม่มีประโยชน์
พร้อมกับแนะให้นายกฯ บรรหารไปคิดทำอะไรที่ประชาชนได้มากกว่า ทำถนนก็ได้ สะพานก็ได้ ที่ประชาชนได้เต็มๆ หากเป็นอนุสรณ์ก็ตั้งชื่อก็พอแล้ว
และแม้แต่การเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเหล่าบัณฑิต ดร.วิษณุ เห็นว่า นี่คือน้ำพระราชหฤทัย ทรงเป็นต้นแบบ
ทั้งหมดคือเรื่องเล่าของพ่อ ที่ดร.วิษณุ บอกว่า เรื่องราวของพระองค์ท่านมีมากมายเหลือคณานับ ที่แสดงถึงความสุจริตต่อหน้าที่ ต่อประชาชน ความสุจริตนั้น เรียกกันว่า อาชวะ เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในทศพิธราชธรรมด้วย
ปากห้าจงดำรงทศพิธ
ช่วงท้าย ดร.วิษณุ ยังเล่าถึงการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์ตาย ท่านใช้คำว่า ทศกัณฐ์ได้สอนสิบปาก (ประโยค)
ถึงปากห้ารัชกาลที่ 1 ได้พระราชนิพนธ์ไว้ว่า...
ปากห้าจงดำรงทศพิธ อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่
ตัดโลภโอบอ้อมอารี แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร
ทศกัณฐ์กำลังจะตาย นาทีสุดท้ายยังนึกถึงทศพิธราชธรรม และยังมีแก่ใจสอน
"วันนี้ไม่ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีทศพิธราชธรรมได้ และหนึ่งในทศพิธราชธรรม คือ อาชวะ ซื่อสัตย์สุจริต"