ร้อง 'บิ๊กตู่' สอบประมูลไอซีดี- รฟท. 4หมื่นล.!เอกชนชี้ขัดหลักเกณฑ์เลือกผู้เสนอราคา
ร้อง 'บิ๊กตู่' สอบความโปร่งใส ปัญหาโครงการสรรหาเอกชนบริหารสถานี ‘ไอซีดี-ลาดกระบัง’ 20 ปี 4 หมื่นล้าน เอกชนชี้ขัดหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคา หลังก่อนหน้านี้เกิดกระแสวิจารณ์ มีวิ่งเต้นจ่ายผู้มีอำนาจ 300 ล. แลกรับสัมปทาน
โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารงานในรูปแบบการให้สัมปทาน เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ผลตอบแทนมูลค่า 1.6 พันล้านบาทต่อปี ส่วน รฟท. ได้รับเงินตอบแทนเป็นเงิน 500 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นวงเงินที่จะเกิดขึ้นในโครงการประมาณ 4 หมื่นล้านบาท กำลังถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น เมื่อกิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เอกชนรายหนึ่งที่เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคาโครงการนี้ ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับปัญหาการประกวดราคาโครงการนี้
ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้การเปิดเผยข้อมูลจากเอกชนรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคางานโครงการฯ ว่า มีเอกชนบางราย พยายามวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจให้ได้รับงานนี้ โดยยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินตอบแทนแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจ เป็นวงเงินสูงกว่า 300 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ปูดจ่ายเงินวิ่งเต้น300ล.! เอกชนร้องสอบโครงการบริหารสถานีไอซีดี รฟท.หมื่นล.)
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา นายสุเทพ ตระนันทสิน ผู้รับมอบอำนาจ กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุสาระสำคัญว่า
โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของ รฟท. ขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาผลการคัดเลือก ซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอราคาต่ำที่สุด เพื่อเป็นการให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและผู้ใช้บริการ (ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก) โดยหากทำการเปิดซองข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ (ซองที่ 3) จากผู้ยื่นทุกรายก็จะเป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้ส่งออกและนำเข้ามีต้นทุนที่ลดลง
ทั้งยัง ไม่ก่อให้เกิดการร้องเรียนต่อคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ เนื่องจาก หากเกิดการร้องเรียนขึ้นจะทำให้เกิดความล่าช้าต่อการประกาศผลการคัดเลือก และทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์
จึงร้องเรียนและขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบความโปร่งใส การพิจารณาการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาและได้รับผลอย่างเป็นธรรม (ดูเอกสารประกอบ)
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลแล้วว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ซอง คือ ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ซองข้อเสนอด้านเทคนิค และ ซองข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ โดยคณะกรรมการฯ จะเปิดซองพิจารณา และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นคราวละซอง ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนฯ
สำหรับปัญหาการคัดเลือกเอกชนเข้ารับงานโครงการนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อ 14 ก.ย. 2558 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการประกวดราคาโครงการดังกล่าว หลังจากที่มี เอกชนไปยื่นเรื่องร้องเรียน ส่งผลให้ รฟท. ต้องหยุดดำเนินการทั้งหมด ต่อมา เมื่อ 24 มี.ค. 2559 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกเลิกคุ้มครอง รฟท. จึงมีหนังสือแจ้งแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2559 กำหนดวันยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนในวันที่ 16 พ.ค.ปีเดียวกัน ซึ่งมีผู้ร่วมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนทั้งหมด 3 ราย คือ 1.บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด 2.กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ 3.กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย)
ต่อมา 8 มิ.ย. 2559 คณะกรรมการคัดเลือกได้ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอฯ ในซองที่ 1 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยมีมติให้ผู้ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 3 ราย ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่น ซึ่งตามประกาศแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองที่ 2) ในวันที่ 14 มิ.ย. 2559
ต่อมา 28 มิ.ย. 2559 รฟท. ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ร่วมยื่นข้อเสนอฯ ทุกราย เรื่อง เลื่อนการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ โดยชี้แจงเหตุผลว่า เนื่องจาก เอกสารมีจำนวนมาก ทำให้มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาในหลายประเด็น จึงไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน และให้เลื่อนออกจากเดิมอีก 64 วัน โดยเมื่อ 29 ส.ค. 2559 รฟท. ได้มีหนังสือเรื่องเลื่อนการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ (ครั้งที่ 2) โดยชี้แจงถึงเหตุผลที่เลื่อนประกาศผลว่า
“เนื่องจาก มีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติบางประการตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวน จำเป็นต้องขอรับความเห็น และคำวินิจฉัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวนฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการจึงไม่อาจพิจารณาผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามที่ประกาศไว้ตามประกาศลงวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ได้ กรณีมีเหตุจำเป็นคณะกรรมการคัดเลือกจึงให้เลื่อนการประกาศผลการประเมินข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ออกไป จนกว่าจะได้รับความเห็น และคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจาก สคร. ซึ่งคณะกรรมการจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง”
จากนั้น 19 ก.ย. 2559 รฟท. ได้ส่งหนังสือถึง ผอ.สคร. เรื่อง หารือแนวทางการปฏิบัติตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
ทว่า จนถึงปัจจุบัน รฟท. ก็ไม่ได้มีหนังสือแจ้งถึงความคืบหน้าของการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ อีกเลย นับตั้งแต่ ประกาศเลื่อนผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2559
อ่านประกอบ :
เปิดปมปัญหาสถานีไอซีดีรฟท.4 หมื่นล.-ก่อนโดนปูดเงินวิ่งเต้นหล่น 300 ล.