ดร.วิษณุ เผยในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างของคำว่า ความสุจริต
ดร.วิษณุ เครืองาม เล่าเรื่องของพ่อ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ชี้ให้สังเกตพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส-พระราชกระแสมากมายหลายองค์ ล้วนจบลงด้วยคำว่า สุจริต ทรงเป็นต้นแบบของคุณธรรม ยึดหลักธรรม "ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ" เสมอ
วันที่ 9 ธันวาคม ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ “เรื่องเล่าของพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน” ในกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลยา จังหวัดนครปฐม
ตอนหนึ่ง ดร.วิษณุ กล่าวถึงวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ปีนี้มาประจวบกับที่ประชาชนชาวไทยอยู่ในห้วงเวลาความวิปโยค รู้สึกอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แม้การนำ 2 เรื่องมาโยงกันอาจจะไม่บังควร แต่ความเหมาะสมมีอยู่ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ 88 ปีเศษต้องถือว่า เป็นแบบอย่างของคำว่า ความสุจริต ซึ่งก็คือคุณธรรม
“หากใครไปสังเกตพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือพระราชกระแส ที่มีผู้รวบรวมไว้มากมายหลายองค์ จะพบว่า เมื่อเวลาตรัส หรือรับสั่งอะไรก็ตามที จนกระทั่งถึงแม้แต่เรื่องที่ทรงปฏิบัติเอง ล้วนจบลงด้วยคำว่า สุจริต ทั้งนั้น ดังภาษาพระ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต”
ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อเวลามีพระราชดำรัส ไม่ว่าพระราชดำรัสสดๆ หรือที่ได้อ่านจากที่มีการยกร่างขึ้นนั้น จะสังเกตว่าคำที่ปรากฏบ่อยที่สุด ในพระราชดำรัสนับพันนับหมื่นองค์ คือคำว่า สุจริต โดยได้ไปค้นพบพระราชดำรัสปี 2499 คิดว่า เป็นหลักพระราชดำรัสอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้น
“ปี 2499 ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุลงกรณมหาวิทยาลัยปีนั้น รับสั่งแก่บัณฑิตว่า การทำกิจอะไรก็ตามให้ประสบความสำเร็จขอยึดหลัก 4 อย่าง 1.ความอุตสาหะ พากเพียร 2.ซื่อสัตย์สุจริตเป็นรากฐานเบื้องต้น 3.มีใจเมตตากรุณา โอบอ้อมอารีกับผู้อื่น 4.บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า พระราชดำรัสมี 4 ข้อ หากผู้ใดมีแล้ว ผู้ใดทำแล้ว จะทำงานยากงานใหญ่ก็จะประสบความสำเร็จ หลังจากปี 2499 ตลอดมา จะมีพระราชดำรัสเรื่องใด งานใด โอกาสใด ก็จะไม่แตกจากคุณธรรมที่ทรงยกไว้เบื้องต้นทั้งนั้น ก่อนพระราชนิพนธ์พระมหาชนกด้วยซ้ำไป
ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ใช่แค่มีพระราชดำรัสถึงเท่านั้น ได้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง นำผลมาแสดงให้เห็น การที่คนเราทำอะไรทำเองให้เห็น อะไรที่สอนได้ก็สอนให้รู้ และนำผลมาแสดง เป็นสิ่งที่ตรงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา 3 ป. คือ ปฏิบัติ (ทำเอง) ปริยัติ (สอน ศึกษา เผยแพร่) ปฏิเวธ (เอาผลมาแสดงเห็น)
“3 ป.นี่เป็นคาถาในทุกเรื่อง จนไม่น่าเชื่อ 50 ปีมานี้ รัฐธรรมนูญในพม่าก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า คนทั่วโลกรู้ว่า เป็นหัวใจแห่งการทำงาน และ 3 หลักนี้มีในหัวใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต โดยทรงปฏิบัติให้เห็น ทรงศึกษามาสอนมาแนะ และเอาผลงานมาแสดง ทั้งเรื่องปลานิล หญ้าแฝก การปลูกกาแฟทดแทนปลูกฝิ่น เป็นต้น”
อ่านประกอบ :
ต้องตระหนักรับไม่ได้การโกงทุกแบบ! ป.ป.ช.จัดงานต้านคอร์รัปชั่นสากล
เจอใครโกงให้รายงานจะสอบเอาติดคุก! ‘บิ๊กตู่’ลั่น รบ.นี้ไม่มีคอร์รัปชั่น