5 กลโกง คดีซื้อที่ดินทิ้งขยะราชบุรี 30.5 ล.! ‘นายตี๋’อุปโลกน์‘คนขาย’- ปั้นราคาเท็จ
ชำแหละ ‘กลโกง’คดีจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะเทศบาลราชบุรี 30.5 ล. ผ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อุปโลกน์คนขายรายเดียว ปั้นเอกสารต่อรองราคาไว้ล่วงหน้า สูงกว่าราคาประเมิน 4 เท่า ฟันส่วนต่าง 20 ล.
กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะของเทศบาลเมืองราชบุรี วงเงิน 30.5 ล้านบาท ตามที่ศาลจังหวัดราชบุรี พิพากษาจำคุกนางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี กับพวกรวม 9 คน เป็นเวลาคนละ 4-6 ปี เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2556 กระทั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน (คดีหมายเลขแดงที่ 798/2557) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2557 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.orgได้รายงานไปเบื้องต้นแล้วว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 9 คน แบ่งหน้าที่กันกระทำ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ การติดต่อซื้อขายที่ดินจากชาวบ้าน การอนุมัติ การเบิกจ่ายเงิน โดย นางศมานันท์ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดจากการทุจริต 20 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เปิดคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะ!‘นายกราชบุรี’เบิกเงินสด 20 ล.ด้วยตัวเอง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงความเป็นมาของในการจัดซื้อที่ดินจากรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนหนึ่ง และจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้เห็นอย่างชัด ๆ ดังนี้
ก่อนเกิดเหตุ เมื่อปีงบประมาณ 2541 เทศบาลเมืองราชบุรี มีความจำเป็นจะต้องจัดหาที่ดินไว้สำหรับใช้เป็นที่กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 150 ไร่ โดยมีระยะห่างจากเมืองราชบุรีไม่เกิน 30 กิโลเมตร งบประมาณจัดซื้อจำนวน 35 ล้านบาท
14 ก.ย. 2541 เทศบาลเมืองราชบุรี อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมของเทศบาล เพื่อใช้เป็นค่าซื้อที่ดิน และออกแบบก่อสร้างระบบกำจัดขยะของเทศาบลแบบฝังกลบ วงเงิน 35 ล้านบาท
ระหว่างปี 2543-2547 เทศบาลฯ ประกวดราคาจัดซื้อที่ดิน 5 ครั้ง แต่ไม่สามารถจัดซื้อได้
ครั้งแรก 12 มิ.ย. 2543 มีผู้ร้องเรียน โดย โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย
ครั้งที่สอง 19 ธ.ค. 2554 มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว
ครั้งที่สาม 14 ม.ค. 2546 เสนอราคาไม่ถูกต้องตรงตามประกาศ
ครั้งที่สี่ 13 ส.ค. 2546 ไม่มีผู้เสนอราคา
ครั้งที่ห้า 18 พ.ย. 2547 ผู้ซื้อเอกสาร 3 ราย ไม่ยื่นซองเสนอราคา
นายวิชาเยล พัฒนาดิสัย ผู้อำนวยการกองช่าง เห็นว่า กองคลัง เทศบาลฯ ควรปรับลดเงื่อนไขบางประการ แล้วประกวดราคาใหม่ หรือจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
2 ก.พ. 2548 นางศมานันท์ นายกเทศมนตรี นายกริช เกตุเอี่ยม ปลัดเทศบาลฯ นางกาหลง วีระนนท์ ผู้อำนวยการกองคลัง พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 7 คน ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว และที่ประชุมมีมติให้จัดซื้อที่ดินทิ้งขยะโดยวิธีพิเศษ
3 ก.พ. 2548 นางอามร สิทธิมหาโชค เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ทำบันทึกเสนอนางศมานันท์ ขออนุมัติจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ
22 ก.พ. 2548 สภาเทศบาลฯ เห็นชอบอนุมัติตามญัตติให้จ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 35 ล้านบาท
25 พ.ค. 2548 นางศมานันท์ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ
8 ก.ย. 2548 คณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ทำบันทึกถึงนางศมานันท์ ว่า มีผู้เสนอราคา 1 ราย คือ นางเล็ก รักพงษ์ไทย เสนอขายที่ดิน 7 แปลง เป็น น.ส.3 ก. 1 แปลง โฉนด 6 แปลง รวมเนื้อที่ 205 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา ราคาเสนอขายไร่ละ 168,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,526,940 บาท คณะกรรมการฯ ต่อรองราคาแล้ว ผู้ขายยอมลดราคาเหลือ 32,400,000 บาท คณะกรรมการจัดซื้อฯ พิจารณามีมติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าว
9 ก.ย. 2548 นายกริช เกตุเอี่ยม ปลัดเทศบาลฯ ทำบันทึกถึงนางศมานันท์ ให้ทบทวนการจัดซื้อ เนื่องจากเห็นว่า ราคาที่คณะกรรมการจัดซื้อฯ เสนอมีราคาที่สูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง เป็นอย่างมาก นางศมานันท์มีคำสั่งในบันทึกว่า “ให้ดำเนินการตามเสนอ”
15 ก.ย. 2548 คณะกรรมการจัดซื้อฯ ทำบันทึกถึงปลัดเทศบาลฯ ว่า คณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้ต่อรองราคาที่ดินแล้ว นางเล็กยินยอมลดที่ดินลงเหลือไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,827,000 บาท
16 ก.ย. 2548 ปลัดเทศบาลฯ ทำบันทึกเสนอให้นางศมานันท์พิจารณา
19 ก.ย. 2548 นางศมานันท์ มีคำสั่ง ‘อนุมัติ’ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ
22 ก.พ. 2549 เทศบาลฯ ทำนิติกรรมซื้อที่ดินของนางเล็ก นางพลอย นางเหลือ นายประเสริฐ นางจรูญ นายหมวก นางไข่ น.ส.บุษรากาญจน์ และนางยุพิน รวม 7 แปลง เป็นเงิน 30,827,000 บาท
คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ภาค 7
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 9 กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
ศาลมีความเห็นว่า ในการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 3-9 ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อฯ มีหน้าที่ต้องจัดซื้อที่ดินให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 50 (6) ซึ่งบัญญัติว่า
“ในกรณีพัสดุเป็นที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง ให้เชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงมาเสนอราคา หากเห็นว่า ราคาที่เสนอนั้นยังสูงกว่าราคาในท้องตลาด หรือราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้ต่อรองราคาลงเท่าที่จะทำได้”
จำเลยที่ 3-9 จึงมีหน้าที่ต้องเชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงทุกรายให้มาเสนอราคา เพื่อที่จะได้ทราบราคาที่ดินจากเจ้าของที่ดินแต่ละรายโดยตรง และต่อรองตามระเบียบฯ
จากการเบิกความของพยานโจทก์ที่เบิกความประกอบการไต่สวนให้การถึงเหตุการณ์ที่ติดต่อซื้อขายที่ดินได้ความตรงกันว่า เจ้าของที่ดินทุกรายมิได้ถูกเชิญให้มาเสนอราคาขายที่ดิน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการจัดซื้อฯ พิจารณาจัดซื้อที่ดินทั้ง 7 แปลง โดยพิจารณาจากใบเสนอราคาของ นางเล็ก รักพงษ์ไทย โดยมิได้ตรวจสอบราคาที่แท้จริง จากเจ้าของที่ดินโดยตรงแต่ละคน จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ
@อุปโลกน์ ‘คนขาย’ 7 แปลง
และการที่ นางเล็ก เป็นผู้เสนอขายที่ดินให้แก่ เทศบาลเมืองราชบุรี รวม 7 แปลง โดยเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินรายอื่นอีก 6 แปลงด้วย ทั้งที่ นางเล็กไม่เคยรู้จัก หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าของที่ดินรายอื่นอีก 6 แปลง แต่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ และเสนอขายที่ดินตามที่จำเลยที่ 2 (นายพิทยา อังกูรจารุชัย) ดำเนินการให้ จึงมิใช่การดำเนินการของนางเล็ก โดยลำพัง แต่เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 2 (นายพิทยา อังกูรจารุชัย หรือ ตี๋) ที่จัดการให้นางเล็กเป็นผู้รับมอบอำนาจ และให้เป็นผู้เสนอราคที่ดินรวม 7 แปลงแก่ เทศบาลเมืองราชบุรี นางเล็กจึงเป็นผู้ถูกอุปโลกน์ หรือถูกจำเลยที่ 2 ยกขึ้นให้เป็นผู้เสนอขายที่ดินทั้ง 7 แปลง ในราคาที่สูงถึงไร่ละ 160,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินกว่าราคาจริง เพราะนางเล็กเสนอขายที่ดินเพียงไร่ละ 40,000 บาท นายหมวก นางไข่ นางจรูญ นายประเสริฐ นางเหลือ นายพลอย เสนอขายราคาเพียงไร่ละ 45,000 บาท และ น.ส.บุษรากาญจน์ กับ นางยุพิน เสนอขายที่ดินไร่ละ 100,000 บาท
@ทำบันทึกต่อรองราคา ‘ยอมลดราคา’ ไว้ล่วงหน้า
เมื่อปลัดเทศบาลฯ ทำบันทึกถึงจำเลยที่ 1 (นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ) ว่าราคาที่นางเล็กเสนอ นั้น สูงกว่าราคาประเมินของทางราชการ ขอให้คณะกรรมการจัดซื้อฯ ทบทวน จำเลยที่ 3-9 ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อฯ ก็ได้ทำบันทึกต่อรองราคาที่ดินเหลือไร่ละ 150,000 บาท แต่ในความเป็นจริง จำเลยที่ 2 ( นายพิทยา อังกูรจารุชัย) ได้ทำบันทึกให้นางเล็กยอมลดราคาที่ดินเหลือไร่ละ 150,000 บาทไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงมิใช่การต่อรองราคาจากเจ้าของที่ดินที่แท้จริง
@เลี่ยงไม่ให้ จนท.ผู้มีหน้าที่โดยตรง จัดทำเอกสาร
นอกจากนี้ ยังมีข้อพิรุธในการจัดซื้อที่ดิน โดยได้ความจากพยานที่ประกอบการไต่สวนคือ นางอามร สิทธิมหาทรัพย์ เจ้าหน้าที่พัสดุเทศบาลเมืองราชบุรี ว่า จำเลยที่ 3 (นางโชติกา ติ๋วโวหาร) ร่วมกับนายไพบูลย์ ขาวเหลือง อดีตเจ้าหน้าที่พัสดุเทศบาลฯ ที่ลาออกแล้ว จัดทำบันทึกเอกสารต่าง ๆ ในการจัดซื้อที่ดิน ทั้งที่ นางอามรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุเทศบาลฯ มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสาร และก่อนหน้านี้ นางอามรก็เป็นคนจัดทำบันทึกเอกสารต่าง ๆ ในการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีการประกวดราคา อันส่อแสดงว่า จำเลยที่ 3 (นางโชติกา ติ๋วโวหาร) จงใจหลีกเลี่ยงไม่ให้นางอามร จัดทำบันทึกเอกสารต่าง ๆ ในการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ทั้งที่ เป็นหน้าที่โดยตรงของนางอามร
@ปั้นเอกสารเท็จ! ที่ดินปลอดภาระจำนอง-มีไฟฟ้าเข้าถึง
ปรากฎตามเอกสารบันทึกการพิจารณจัดซื้อที่ดินระบุว่า ที่ดินที่เสนอขายไม่มีภาระค้ำประกัน และมีสายไฟฟ้า 3 เฟสเข้าถึงที่ดิน อันเป็นความเท็จ เพราะในขณะนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 10642 ของนายพลอย ยังติดจำนองอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาจอมบึง และที่ดินทั้ง 7 แปลง ไม่มีสายไฟฟ้า 3 เฟสเข้าถึง จึงไม่เป็นตามประกาศของเทศบาลฯ
@จัดซื้อสูงกว่าราคาประเมิน 4 เท่า
ประเด็นราคาที่ดินในท้องตลาดของที่ดินใกล้เคียง ราคาซื้อขายที่ดินข้างเคียงหลังสุด 3 ราย คือ
1.ที่ดินโฉนดเลขที่ 10660 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 32 ไร่ 29 ตารางวา จดทะเบียนขายเมื่อ 29 พ.ย. 2547 ราคา 960,000 บาท
2.ที่ดินโฉนดเลขที่ 10655 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา จดทะเบียนขายเมื่อ 15 ส.ค. 2548 ราคา 400,000 บาท
3.ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา จดทะเบียนขายเมื่อ 15 ส.ค. 2548 ราคา 400,000 บาท
โดยโจทก์มี นายอุทัย พากเพียร เจ้าของที่ดินข้างเคียงดังกล่าวมาเป็นพยาน ประกอบการไต่สวนว่า เมื่อประมาณปี 2547 ถึง 2548 นายอุทัยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 10660,10653 และ 10654 ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินนางเล็กที่เสนอขาย โดยนายอุทัยซื้อจากนายหน้าในราคาไร่ละ 35,000 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 4 จึงต้องทราบราคาซื้อขายที่ดินบริเวณข้างเคียงดังกล่าว จากบันทึกการพิจารณาจัดซื้อที่ดิน ดังนั้น จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ย่อมทราบดีว่า ราคาที่นางเล็กเสนอขายไร่ละ 160,000 บาท หรือราคาที่ต่อรองแล้วไร่ละ 150,000 บาท นั้น สูงกว่าในท้องตลาดมาก และสูงกว่าราคาประเมินประมาณสี่เท่า และในการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ไม่ปรากฎว่ามีราคาซื้อขายตามท้องตลาด แต่อย่างใด ราคาที่ดินในการประกวดราคาของผู้ที่เข้าประกวดราคาไม่ใช่ราคาที่ดินตามท้องตลาด
ทั้ง 5 ข้อ คือ พฤติกรรมทุจริตในการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะ 30.5 ล้านบาท
(ตอนหน้า : เหตุการณ์วันถอนเงินสด 20 ล.-ทำไมศาลฯ ไม่ลดโทษ)
อ่านประกอบ :
เปิดคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะ!‘นายกราชบุรี’เบิกเงินสด 20 ล.ด้วยตัวเอง
ไขปมทุจริตจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะเมืองราชบุรีแพงเกินจริง ฟัน 'ส่วนต่าง' 20 ล้าน
เจาะคดี ‘ศมานันท์’นายกราชบุรี‘ซุกทรัพย์สิน-ทุจริตซื้อที่ดิน’ ปิดฉากที่ศาลฎีกา?
เปิดขุมธุรกิจ ‘ศมานันท์’ นายกราชบุรี เจ้าของรับเหมา ฟันงานรัฐ 28 สัญญา 144 ล.
ซุกเงินฝาก 60 บัญชี ที่ดิน 56 แปลง! นายกเมืองราชบุรียื่น ป.ป.ช.มีทรัพย์สิน 340 ล.
ศาลฎีกาฯ ฟัน 7 นักการเมืองท้องถิ่น‘ไม่ยื่นบัญชีฯ-ซุกหนี้’3 แสน-4 คนพ้นตำแหน่งทันที
มาช้าหรือมั่ว? ม.44 พักงาน‘นายกราชบุรี’ หลังศาลฎีกาฯฟันซุกบัญชีฯ 2 เดือนก่อน
เผยหนังสือ สตง.ชง ศอตช.ใช้ ม.44 พักงานนายกฯราชบุรีปมซื้อที่ดิน-จ้าง บ.กำจัดขยะ
เจาะราชบุรี 'เทศบาลเมือง'ยุค'เจ๊หงส์' ผูกจ้างรายเดียวเก็บขยะ 7 ปีซ้อน 70 ล้าน
เทศบาล‘ราชบุรี’ใช้เงินจัดอีเวนท์ ‘ไชน่าทาวน์’ 6 ปี 42.2 ล.-บ.เดียวฟัน 20.1 ล.
เผยชื่อ 23 นักการเมือง ลุ้นศาลฎีกาฯ คดีซุกทรัพย์สิน-‘เจ๊หงส์’นายกราชบุรีด้วย