อ.นิเทศ จุฬาฯ ชี้โลกออนไลน์ปล่อยข่าวลือ-ลวงเยอะ พบแก้น้อยกว่าครึ่ง
นายกสภาทนายความฯ ชี้ศาลเตี้ย ในสังคมออนไลน์พิพากษาเหยื่อ โดยขาดการกลั่นกรอง หวั่นละเมิดสิทธิบุคคลอื่น นอกจากผิดฐานหมิ่นประมาท ยังเข้าข่ายกระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คนเผยแพร่ต่อ คนแชร์ก็พ่วงโดนไปด้วย
วันที่ 8 ธันวาคม สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ศาลเตี้ยออนไลน์...คนโพสต์จ่อคุก...เหยื่อทุกข์ระทม” ณ อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (บางเขน)
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า เวลามีการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน นอกจาก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ห่วงมาตรา 14 ยอมความไม่ได้ และมาตรา 16 ที่ให้ยอมความได้ ซึ่งสื่อแม้จะมีจริยธรรมแต่ก็ต้องระมัดระวัง มิเช่นนั้นจะถูกฟ้องเป็นว่าเล่น
สำหรับบุคคลธรรมดาในสังคมออนไลน์ นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า หากโพสต์หรือแชร์ข่าวโดยสุจริตก็ดีไป แต่บางกรณีละเมิดสิทธิ ซึ่งจะมีวิธีป้องกันอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้อื่น เนื่องจากผิดฐานหมิ่นประมาท ยังเข้าข่ายกระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย คนเผยแพร่ต่อ คนแชร์ก็พ่วงโดนไปด้วย
“ ยิ่งมาพูดกันถึงศาลเตี้ย ไม่รู้ว่า วันใดวันหนึ่งเราอาจเป็นเหยื่อระดมทุกข์ก็ได้ ด้วยสังคมออนไลน์พิพากษา ขาดการกลั่นกรอง ไม่มีการควบคุม แล้วไปละเมิดสิทธิบุคคลอื่นยิ่งน่าห่วง ถามว่า ศาลเตี้ย ใครเป็นคนทำ ก็คนที่เข้าไปโพสต์ในโลกออนไลน์ทั้งหลาย จนก่อให้เกิดศาลศาลเตี้ยตัดสินกันเอง พิพากษาให้เสร็จ ซึ่งจะผิดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โลกออนไลน์ได้พิพากษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว”
ขณะที่ว่าที่พันตรีสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความฯ กล่าวว่า เมื่อโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล การเสพสื่อเปลี่ยน แต่การปรับแนวคิด การรับรู้ของคนทั่วไปยังไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ เราจะเชื่อสื่อ เชื่อโซเชี่ยลมีเดีย และเราถนัดถามไปในระบบอินเตอร์เน็ต สงสัยอะไรก็กดเข้าไปถามแล้วเชื่อเลย โดยข้อมูลเหล่านี้ขาดการกลั่นกรอง
"ปัญหาพอโพสต์อะไรไปเหมือนกับเป็นเรื่องจริงทำให้คนอื่นเชื่อ พอคนที่เชื่อเพื่อนก็นำไปโพสต์ต่อ ดูแล้วเหมือนไม่ผิดปกติ แต่ปรากฏว่า การโพสต์ในสังคมออนไลน์ คนที่เป็นศาลเตี้ย คือ คนเสพสื่อ และสังคมที่ไปตัดสิน" ว่าที่พันตรีสมบัติ กล่าว และว่า เดิมกฎหมายเป็นเรื่องหมิ่นประมาท เช่น หมิ่นประมาทคนเป็น คนตายแล้ว ซึ่งถูกดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย หมิ่นประมาททางวาจา ใช้สื่อ ขณะนี้สามารถใช้ได้ครอบคลุม แม้กระทั่งสื่อโซเชี่ยลมีเดียเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้ แต่พ.ร.บ. คอมฯ เดิมเจตนารมณ์ตั้งใจออกมาอีกแบบป้องกันการกระทำอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อร่างกฎหมายออกมา มีการปรับคำว่า ข้อความเป็นเท็จ เข้ามาถือเป็นความผิดด้วย การเพิ่ม “ข้อความเป็นเท็จ” เข้ามา องค์ประกอบกลายเป็นทับซ้อนกับความผิดหมิ่นประมาท การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ พ่วงผิดพ.ร.บ.คอมฯ ด้วยเวลาใช้กฎหมายก็เกิดปัญหา ตกลงแล้วการดำเนินคดีกระทำผิดครั้งเดียว ผิดทั้งหมิ่นประมาท ทั้งพ.ร.บ.คอมฯ ด้วย
อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความฯ กล่าวถึงพ.ร.บ.คอมฯ จบไม่ได้ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินยอมความกันไม่ได้ แต่คดีหมิ่นประมาทยอมความกันได้ ถอนแจ้งความ หากพ่วงพ.ร.บ.คอมฯ จบไม่ลง จึงเริ่มมีความสับสนเรื่องการดำเนินคดี เรื่องหมิ่นประมาทไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ มีความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งคู่ หากผิดพ.ร.บ.คอมฯ จะต้องเป็นเรื่องเท็จ
ขณะที่ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสื่อสังคมออนไลน์ เกิดจากกผู้ใช้งานนำเสนออะไรก็ได้ สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อของความเห็น สื่ออารมณ์ มากกว่าสื่อเหตุผลและข้อเท็จจริง
“ สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นที่ระบายของผู้คนระบายใส่กัน บวกกับสื่ออินเตอร์เน็ตก็ช่วยอำนวยความสะดวกในระบายออก ซึ่งความที่เป็นโลกออนไลน์จึงทำให้รู้สึกว่า ตนเองมีพวก รุมสกรัมใครก็ได้ ทำตัวเป็นศาลเตี้ย ขาดการยับยั้งช่างใจ”
ผศ.พิจิตรา กล่าวถึงสื่อออนไลน์ ทำตัวเป็นศาลเตี้ย สร้างความเกลียดชัง ลักษณะพวกมากลากไป หวั่นว่า อนาคตจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และแบ่งข้างโดยไม่รู้ตัว และมีสิทธินำไปสู่การรุมสกรัมเชิงกายภาพได้ หากใครทำขัดต่อความเชื่อหลักของสังคม เราก็จะตามล่า จนไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“แม้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งเปิดหน้าต่างทางความคิด ความเชื่อ ข้อมูลข่าวสาร แต่สื่อออนไลน์ สื่ออินเตอร์เน็ตก็ไม่ใช่สื่อที่เต็มไปด้วยเหตุเป็นผลเสมอไป เพราะสื่ออินเตอร์เน็ตเกิดจากความคิดเห็นมากกว่า”
ผศ.พิจิตรา กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องข่าวลือ พบว่า คนที่แก้ข่าวลือมากที่สุดคือสื่อ คนที่ทวิตข่าวลือมากที่สุด คือ บุคคลทั่วไป คนที่พยายามเช็คข่าว แก้ข่าวก็ยังพบว่า ต่ำกว่าการแพร่กระจายของข่าวลือ ข่าวลวง ดังนั้น สื่อมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ หวังให้ผู้ใช้งานรู้เท่าทันข่าวลือ ข่าวดราม่าคงไม่ได้ สื่อต้องกระโดดทำหน้าที่เสาหลักของสังคม สร้างสังคมให้อยู่บนหลักของเหตุและผล ข้อเท็จจริง ที่สำคัญสื่ออย่านำอารมณ์มาเป็นประเด็นข่าว เพราะสุดท้ายคนที่ตกเหยื่อบนโลกออนไลน์ สื่อจะคุมสถานการณ์ไม่ได้
สุดท้ายน.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวถึงสื่อสังคมออนไลน์ทำให้คนทำงานสื่อ นอกจากทำงานข่าวแล้ว ยังต้องทำงานหนักและเหนื่อยขึ้น เพราะต้องคอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงให้ความรู้กับสังคมรู้เท่าทันสื่อ ขณะเดียวกันคนทำสื่อออนไลน์ก็มีข้อจำกัดขาดประสบการณ์ ขาดวุฒิภาวะ การตัดสินใจ ซึ่งเชื่อว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนทำงานสื่อออนไลน์ สุ่มเสี่ยงเผยแพร่ข่าวลือ ข่าวลวง
จากนั้นช่วงท้ายมีการลงนามความร่วมมือ ความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ ระหว่างว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย