ม.44 เลิก คตร. ลดทำงานซ้ำซ้อนปราบโกง- ‘ไพบูลย์-ดาว์พงษ์’ไขก๊อก รมต.
ม.44 ยกเลิก คตร. เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปราบทุจริตอื่น โอนคำสั่งต่าง ๆ ให้ คตช. รับผิดชอบ - ‘พล.อ.ไพบูลย์-พล.อ.ดาว์พงษ์’ ลาออกจากการเป็น รมว.ยุติธรรม-ศึกษาธิการ ตามลำดับ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2559
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 70/2559 เรื่อง การยกเลิกคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ระบุว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายสําคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดปัญหา การทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อทําหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยมุ่งเน้นที่แผนงานหรือโครงการที่สําคัญของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ แต่โดยที่ในปัจจุบันได้มีหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ในลักษณะเดียวกับคณะกรรมการดังกล่าวอีกหลายแห่ง จึงสมควรปรับปรุงกลไกหรือเครื่องมือในการป้องกันและขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและลดความซ้ำซ้อน อันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
(2) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 122/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2557
(3) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 123/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 122/2557 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2557
(4) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 ลงวันที่ 22 เมษายน พุทธศักราช 2558
(5) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ 17 ตุลาคม พุทธศักราช 2559
ข้อ 2 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้ถือว่าอ้างถึงคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ 3 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ข้อ 4 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/284/16.PDF)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน คตร. มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะศิริ เป็นประธาน คตร.
สำหรับโครงสร้างของ คตร. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 45/2557 ประกอบด้วย
(1) ปลัดบัญชีทหารบก ประธานกรรมการ
(2) ปลักกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
(3) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
(4) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม
(5) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(6) อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ
(7) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผล สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ
(8) เจ้ากรมจเรทหารบก เป็นกรรมการ
(9) ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เป็นกรรมการ
(10) ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก เป็นกรรมการ
(11) ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ
(12) ผู้แทนฝ่ายสังคมจิตวิทยาตามประกาศคสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ
(13) ผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจตามประกาศคสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ
(14) ผู้แทนฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ
(15) ผู้แทนฝ่ายกิจการพิเศษตามประกาศคสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ
(16) ผู้แทน คสช. ฉบับที่ 22/2557เป็นเลขานุการ
(17) ผู้แทน คสช. ฉบับที่ 22/2557เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง
(18) ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง
ข้อ 2 ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ ควบคู่กับการติดตามและตรวจสอบตามปกติของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการที่สำคัญซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ
(2) รายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
(3) เสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(4) เข้าไปในสถานที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(5) เชิญข้าราชการ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตามความเหมาะสม
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามข้อ 1 ให้สำนักปลัดบัญชีกองทัพบกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและให้มีกำลังพลตามจำนวนที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนงานทั่วไปและงานที่เกืยวข้องกับคณะกรรมการ
(อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 45/2557 ฉบับเต็ม : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/ncpo-order/item/84605-id84453)
(อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 22/2557 ประกอบ : http://www.knhong.org/ncpo-annouce22-2557.pdf)
นอกจากนี้ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รัฐมนตรีลาออก 2 ราย ได้แก่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยทั้ง 2 ราย ได้ขอลาออกตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2559 ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของทั้ง 2 ราย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2559
(อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/284/4.PDF)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่อ้างอิงหมวดพระมหากษัตริย์ จากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 14 ระบุว่า องคมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ
(อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯ 10 องคมนตรีใหม่ ‘ไพบูลย์-ดาว์พงษ์-ธีรชัย’)