เกาไม่ถูกที่คัน! ภาคประชาชน ค้าน ก.คลัง โอนงบรักษาพยาบาล ขรก. ให้เอกชนบริหาร
เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ค้านคลัง โอนงบรักษาพยาบาล ขรก.กว่า 7 หมื่นล้าน ให้บริษัทประกันภัยเอกชนบริหาร หวั่นรอนสิทธิ์การรักษา-ดึงเงินออกจากระบบ
วันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุม De park C.jain ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร) นำโดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข , นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวคัดค้าน กรณีกระทรวงการคลัง เตรียมนำงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 7 หมื่นล้านบาท ให้ธุรกิจประกันภัยเอกชนบริหารจัดการในปีงบประมาณหน้า
นพ.มงคล กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลัง แจ้งไว้อย่างชัดเจนว่า จะนำเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โอนไปให้บริษัทประกันภัยเอกชนบริหารจัดการแทนกรมบัญชีกลาง โดยที่ระบุว่า ข้าราชการและครอบครัวไม่ถูกรอนสิทธิ์ หรือเพิ่มงบประมาณให้กับประเทศนั้น ไม่มั่นใจว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือ กรณี พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่ให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหารค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ ปรากฏว่า มีค่าบริหารจัดการ ในแต่ละปีสูงกว่า 40% และพบว่า ยังเพิ่มขั้นตอนทางด้านเอกสาร สร้างความยุ่งยากในการเบิกจ่าย ทำให้หลายกรณีโรงพยาบาลต้องเรียกเก็บจากกองทุนอื่น เช่น ประกันสังคม บัตรทอง หรือตามที่ทุกคนมีสิทธิอื่นๆ
นพ.มงคล กล่าวถึงงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนั้น มีประมาณ 70,000 ล้านบาท หากโดนหักค่าบริหารจัดการ 1% จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 7,000 หรือหากมีค่าบริหารจัดการ 4% จะอยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท ดังนั้น จัดจะทำให้เงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ เช่น ในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งหายไป ขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ไม่มั่นใจว่าจะได้เงินจากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทเอกชนหรือไม่
“จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) บริหารเงินแสนกว่าล้านบาทต่อปี มีรายจ่ายเพื่อการบริหารต่ำกว่า 1% หรือกรณีสำนักงานประกันสังคม ก็มีค่าบริหารจัดการไม่เกิน 5% ทั้งนี้เมื่อบริษัทประกันภัยเอกประชนเข้ามาบริหารจัดการ ก็ต้องเข้าใจว่า บริษัทเอกชนก็ต้องมีผลกำไร ดังนั้นจึงเชื่อว่า สิทธิจะเท่าเดิมคงเป็นไปไม่ได้ ที่กระทรวงการคลังพูด จึงเชื่อไม่ได้ "นพ.มงคล กล่าว และว่า นอกจากส่งผลกระทบกับข้าราชการและครอบครัวแล้ว โรงพยาบาลผู้ให้บริการก็จะเกิดผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะโดยปกติก็มีงบประมาณไม่เพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นกังวลว่า ถ้าจะใช้แนวทางนี้จะเจ๊งอยู่ไม่ได้และกระทบไปถึงระบบสุขภาพทั้งหมดของประเทศด้วย
ด้านนพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายภาคส่วนเคยเตือนกรมบัญชีกลางแล้วว่า ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการจะเป็นภาระก้อนใหญ่ในอนาคต และก็มีผู้ทำวิจัยศึกษาในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง อาจเพราะรัฐมนตรี นักวิชาการที่ทำเรื่องนี้เปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของระบบข้าราชการ
“การที่กระทรวงการคลังบอกว่า ทำไม่ไหว และจะโยนงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 5,000,000 คนไปให้บริษัทประกันภัยเอกชนบริหารจัดการนั้น มองว่า เกาไม่ถูกที่คัน และเมื่อต้องมีค่าบริหารบริษัทจัดการก็ห่วงว่าจะสร้างผลกระทบ มีการรอนสิทธิ์เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่ากระทรวงการคลัง ควรจะเกาให้ถูกที่คัน เช่น ลดการสั่งยา การตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกินความจำเป็น เป็นต้น ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหานั้น ต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหาทางออกว่า หากเกิดปัญหากับกระทรวงการคลังเช่นนี้แล้วควรจะทำอย่างไร และมีทางเลือกอะไรบ้าง นอกจากโอนให้เอกชนบริหารจัดการ ทั้งที่ผ่านมาเราก็เคยพูดเคยเห็นกันแล้วว่า บริษัทประกันภัยเอกชนเป็นเสือนอนกินมานานแล้ว”
ขณะที่ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวถึงปัญหางบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการที่ผ่านมาว่า มีลักษณะบานปลาย ปลายเปิดโดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยนอก และยังขาดระบบติดตามตรวจสอบที่เป็นระบบเหมาะสม ดังนั้นเห็นว่า ควรจะมีการบริหารงบ โดยจัดระบบสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผล และจัดระบบติดตาม ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานภายในของกรมบัญชีกลาง แต่แยกหน่วยงานให้ชัดเจน แยกหน่วยงานเป็นอิสระในการตรวจสอบ หรือจะให้ สปสช. ซึ่งมีทั้งคน ระบบ ประสบการณ์เข้ามาช่วยตรงนี้ก็ได้
ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ในปี 2545 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท และในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 71,000 ล้านบาท จะเห็นว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมางบเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีอัตราเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
ส่วนนางรัศมี กล่าวว่า หากกรมบัญชีกลาง ซึ่งรับผิดชอบงานนี้ลงทุนในด้านบริหารจัดการ เชื่อว่าจะมีต้นทุนประมาณ 1% หรืออาจจะไม่มีต้นทุนเลย เพราะใช้ข้าราชการของกรม ซึ่งรับเงินเดือนค่าจ้างอยู่ในระบบปกติอยู่แล้ว มีเฉพาะค่าจัดจ้างหน่วยงานอื่น เพื่อบริหารการจ่าย กรณีผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในบางส่วนเชื่อว่า เม็ดเงินจะเกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต่อข้าราชการและครอบครัว และโรงพยาบาลผู้ให้บริการ แต่หากให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามา แน่นอนว่า ค่าบริหารจัดการต้องสูงขึ้น และอาจกลายเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ ที่ส่งเข้าปากธุรกิจ