รัฐบาลตั้งเป้า 3 ปีไทยนำเกษตรอินทรีย์อาเซียน แต่ตลาดในประเทศแคบ
เครือข่ายนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ เผยตลาดในประเทศยังแคบ เพราะพลังหนุนเสริมน้อย-ผู้บริโภคขาดความเข้าใจ ผู้ผลิตจึงมุ่งส่งออกเป็นหลัก รัฐบาลตั้งเป้า 3 ปีเป็นผู้นำอาเซียน แต่แรงขับเคลื่อนต่ำ
วันที่ 31 ม.ค. 55 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา “เครือข่ายนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ สู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยนายศุภชัย หล่อโลการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่าโครงการนวัตกรรมด้านธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ของ สนช.มุ่งจัดองค์ความรู้และจัดการระบบข้อมูลเกษตรอินทรีย์ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ที่ผ่านมา สนช.สนับสนุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 47 โครงการ ทั้งยังทำโครงการนำร่องจัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เชื่อมโยงให้ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ
นายศุภชัย กล่าวว่านอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันให้ไทยเตรียมตัวสู่การเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์อาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้า แต่การขับเคลื่อนยังช้า เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ และการต่อยอดความคิด รวมทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้บริโภค โดยเฉพาะการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามศูนย์การค้า โดยเข้าใจว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ
นายวัลลภ พิชญ์พงศา เลขาธิการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวถึงภาพรวมเกษตรอินทรีย์ปี 2552 ว่ามูลค่าในตลาดโลก 1.65 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดยุโรป 18,000 ล้านยูโร สหรัฐอเมริกา 24,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เอเชีย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และอื่น ๆ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีประเทศผลิตทั่วโลก 160 ประเทศ มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เติบโตขึ้น 6% ส่วนสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยยังการขาดความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค ส่งผลให้จำกัดเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีลูกเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ตลาดในประเทศจึงขยายตัวได้น้อย
“ส่วนตลาดการส่งออกเกษตรอินทรีย์ไทย ได้แก่ สหภาพยุโรสวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย โดยเฉพาะ สิงคโปร์และฮ่องกง ด้านตลาดภายในประเทศส่วนใหญ่วางจำหน่ายตามศูนย์การค้า ร้านกรีนช๊อป ตลาดท้องถิ่น และส่งถึงบ้าน” นายวัลลภ กล่าว
ด้านนางนาถฤดี นาครวาจา ผู้จัดการสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)กล่าวว่า มกท. มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งช่วยทำให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ทั้งไทยและอาเซียนส่งสินค้าไปยังตลาดโลกได้กว้างขวาง
“ปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความสนใจส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลกมากกว่าในประเทศ เพราะความต้องการบริโภคของคนไทยยังไม่กว้างขวาง เนื่องจากไม่มีตลาดใหญ่รองรับ อีกทั้งมีราคาแพง แต่อีก 3 ปีข้างหน้าเชื่อว่าไทยจะมีตลาดเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และผลักดันประเทศสู่การเป็นที่หนึ่งของอาเซียน” ผู้จัดการมกท. กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.kasetorganic.com/การพัฒนา-เกษตรอินทรีย์.html.