ปูดจ่ายเงินวิ่งเต้น300ล.! เอกชนร้องสอบโครงการบริหารสถานีไอซีดี รฟท.4หมื่นล.
เอกชน ร้องผู้มีอำนาจตั้งกก.สอบโครงการสรรหาเอกชนบริหารสถานีบรรจุแยกสินค้ากล่องไอซีดี 'รฟท.'กลิ่นแรง! หลังคนในวิจารณ์แซด มีการวิ่งเต้นจ่ายเงิน 300 ล. แลกเปลี่ยนรับงานสัมปทาน 20 ปี มูลค่าหมื่นล้าน
โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังถูกจับตามอง ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนองานว่า มีเอกชนบางรายพยายามวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจให้ได้รับงานนี้ โดยยื่นข้อเสนอให้เงินแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจ เป็นวงเงินกว่า 300 ล้านบาท
โดยโครงการนี้ จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารงาน ในรูปแบบการให้สัมปทาน เป็นระยะเวลา 20 ปี เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ผลตอบแทนมูลค่า 1.6 พันล้านบาทต่อปี ส่วน รฟท. ได้รับเงินตอบแทน เป็นจำนวนเงิน 500 ล้านต่อปี คิดเป็นวงเงินที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ ประมาณ4หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากเอกชนรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคางานโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ของ รฟท. ว่า ภายหลังจากที่ รฟท. ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.2558 ซึ่งมีเอกชน 3 ราย ที่ยื่นข้อเสนอ แต่หลังจากนั้นโครงการฯ ถูกศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการประกวดราคาชั่วคราว เนื่องจากมีเอกชนบางรายไปร้องเรียน ทำให้การดำเนินงานโครงการนี้ต้องหยุดชะงักไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ต่อมาในช่วงเดือนเม.ย.2559 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งยกเลิกคุ้มครอง รฟท.จึงได้ดำเนินการขั้นตอนประกวดราคาต่อ โดยเริ่มเปิดซองคุณสมบัติของเอกชนทั้ง 3 ราย ที่ยื่นไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเปิดซองด้านเทคนิค และซองข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการต่อ ขณะที่คนในรฟท.มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีเอกชนบางราย พยายามวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจให้ได้รับงานนี้ โดยยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินตอบแทนแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจ เป็นวงเงินสูงกว่า 300 ล้านบาท
" หลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว เรารู้สึกไม่สบายใจ และอยากเรียกร้องให้ หน่วยงานตรวจสอบ หรือ ผู้มีอำนาจกำกับดูแล รฟท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยด่วน ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เพื่อให้เอกชนที่เข้าร่วมการเสนองานโครงการนี้ มั่นใจว่า ผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมงาน มีความโปร่งใส่และเป็นธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลาง ได้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองการประกวดราคา ในช่วงเดือน เม.ย. 2559 รฟท. ได้เริ่มดำเนินการขั้นตอนประกวดราคาต่อ โดยเปิดซองคุณสมบัติของเอกชนที่ยื่นข้อเสนอรวมลงทุน จำนวน 3 ราย คือ 1.บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด 2.กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ 3.กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย)
โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเป็นผู้ประกอบสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ได้ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอฯในซองที่ 1 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยมีมติให้ผู้ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 3 รายผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่น แต่ซองที่ 2 ข้อเสนอเทคนิค และ3 ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยผลการดำเนินการแต่อย่างใด