ยังชี้มูลปกติ-ไม่กังวลคุณสมบัติขัด รธน.ใหม่! กก.ป.ป.ช.รอถกหลังประกาศใช้
กก.ป.ป.ช. ทราบเรื่องคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระตาม รธน.ใหม่แล้ว ยังไม่กังวล ทำงานเรื่อย ๆ-ชี้มูลตามปกติ รอประกาศใช้ค่อยหารือ ไม่กังวลใจ
จากกรณีคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ ตามมาตรา 202 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจทำให้มีกรรมการในองค์กรอิสระหลายรายอาจขัดกับคุณสมบัติดังกล่าวได้ โดยมีกรรมการบางรายใน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจเข้าข่ายขัดกับคุณสมบัติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระตามมาตรา 202 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการชี้ของคณะกรรมการสรรหา โดยการทำงานของคณะกรรมการสรรหาจะนำคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระทุกคนมาพิจารณาว่าขัดคุณสมบัติหรือไม่ แล้วจึงมีมติชี้ขาด แต่เจตนารมณ์ของ กรธ.ไม่ต้องการให้มีการดำรงตำแหน่งหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115561)
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ภายหลังทราบเรื่องดังกล่าว มีการพูดคุยกันภายในกรรมการ ป.ป.ช. เบื้องต้นว่า อาจมีใครเข้าข่ายขัดกับคุณสมบัติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บ้าง แต่ยังไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการ คงต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อน
ส่วนกรณีอาจมีบุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น แหล่งข่าว ระบุว่า ปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีการประชุมและลงมติชี้มูลความผิดกับบุคคลอื่นอยู่ตลอด อย่างไรก็ดีคงต้องรอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เสียก่อน จึงจะมาหารือกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงทำงานตามปกติ ไม่มีใครกังวลใจแต่อย่างใด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ถึงกรณีนี้ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก หากกฎหมายเขียนไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอจะทำแค่ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.
เมื่อถามว่ากังวลเรื่องคุณสมบัติหรือไม่เพราะพล.ต.อ.วัชรพล เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ก่อนมาเป็น ป.ป.ช. โดยลาออกจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ไม่กังวลเพราะข้อกำหนดดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผ่านการทำประชามติมาแล้ว (อ่านประกอบ : http://www.dailynews.co.th/politics/537252)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระ ตามมาตรา 216 ซึ่งอิงตามคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(2) ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (17) หรือ (18)
(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(6) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(7) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(8) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(9) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ส่วนมาตรา 232 เกี่ยวกับคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า
(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(4) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีและยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(6) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัท มหาชน จำกัด มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
(7) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
การนับระยะเวลาตามวรรคสอง ให้นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก posttoday