สปสช. ได้อันดับ 1 บริหารกองทุนดีเด่น ก.คลัง-หมอชนบทจี้ “วิทยา”เคลียร์สังคม 8 ข้อ
ก.คลัง ยก สปสช.บริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่น 3 ปีซ้อน กลุ่มหมอชนบทออกโรงอีกรอบจี้ รมว.สาธารณสุข หากเจตนาดีต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างที่แถลง ต้องตอบคำถามสังคม 8 ข้อ
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากรมบัญชีกลางได้คัดเลือกกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2554 โดยพิจารณาคัดเลือกกองทุนเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีกว่าเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลการพัฒนาดีเด่น ประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น และรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น ซึ่งปี 2554 มี 108 กองทุนได้รับการพิจารณา โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกในการติดตามประเมินผลและคัดเลือกอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้รางวัลบริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่น ด้านผลการดำเนินงานดีเด่น ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้รับติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดย นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ในฐานะองค์กรบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่บริหารกองทุนฯ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้คนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ ซึ่ง สปสช.บริหารงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการกระจายให้เป็นธรรม เน้นการกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดบริการ รวมทั้งบริหารเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ปี 2554 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณ 101,057 ล้านบาท ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคนที่ได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งจากการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และได้รับการประเมินจากบริษัทไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด(ทริส) ให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 51-54 (ปี 53 สปสช.ได้รางวัลผลการดำเนินงานชมเชย) อย่างไรก็ตามสำหรับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น จากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริหารและผู้รับบริการ
ด้านความขัดแย้งในองค์กร สปสช.ที่มีข่าวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ฉบับที 3 เรื่อง “ถ้าจะไม่ล้มระบบบัตรทอง รมว.วิทยาต้องตอบสังคม 8 เรื่อง" ใจความว่า ตามที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยและชมรมแพทย์ชนบทได้เปิดโปงแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 ขั้นตอนของกลุ่มแพทย์พาณิชย์ที่กลัวว่าระบบ สปสช.จะทำให้เสียราคา กลุ่มผู้บริหารบางคนของกระทรวงสาธารณสุขที่กลัวสูญเสียอำนาจ กลุ่มบริษัทยาข้ามชาติที่หวังผูกขาดราคายา และกลุ่มการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ระยะสั้นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่อมานายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ได้เปิดแถลงข่าวว่าฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายหรือแผนล้มระบบบัตรทอง แต่จะพัฒนาให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น
ถ้าคำชี้แจงดังกล่าวเป็นความจริงใจ รมว.วิทยา ต้องตอบคำถามสังคมในสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบ สปสช. ในขณะนี้ดังนี้ 1.จะดำเนินการอย่างไรกับกรณี นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้แทนสมาคม รพ.เอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดปัจจุบัน ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดที่แล้วมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีถอดถอนเพราะมีความพฤติเสื่อมเสียตามมาตรา 16 (6) พรบ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.2545 เพราะใช้อำนาจหน้าที่ออกหนังสือชักชวนให้ รพ.สังกัดสมาคม รพ.เอกชนไม่ให้เข้าร่วมบริการผู้ป่วยไตวายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะทำให้เสียราคาที่ระบบสวัสดิการข้าราชการให้ไว้สูงกว่า
2.จะอธิบายสังคมอย่างไรกรณีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการสรรหาและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินการโดยมิชอบตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ และผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวไม่มีประวัติหรือผลงานเชี่ยวชาญตามที่กฎหมายกำหนด เช่น 2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเดคคอร์มาร์ท จำกัด นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เครือแสนสิริและบอร์ดการบินไทย(โควตาพรรคเพื่อไทย??) ไม่มีประวัติหรือผลงานที่เกี่ยวกับแพทย์แผนไทย ต่างจากผู้ทรงคุณวุฒิเดิม คือ ภญ.สำลี ใจดี ประธานกรรมการมูลนิธิการแพทย์แผนไทยและนักวิชาการด้านแพทย์แผนไทย
2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก นพ.พินิจ หิรัญโชค อดีตผู้อำนวยการ รพ.นครปฐมและหุ้นส่วนเจ้าของ รพ.สนามจันทร์ ไม่มีประวัติและผลงานที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ทางเลือกต่างจากผู้ทรงคุณวุฒิเดิมคือ นพ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนจีนและแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์ 2.3 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม นอ.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ รพ.ภูมิพล และที่ปรึกษากรรมมาธิการหลายคณะใน สส.และสว. ไม่มีประวัติและผลงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม ต่างจากผู้ทรงคุณวุฒิเดิมคือ นพ.ยุทธ โพธารามิก เลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว.
3.จะอธิบายสังคมอย่างไรกรณีทำผิดมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ตนเองเป็นผู้เสนอให้ นพ.ประดิษฐ์ และปลัด สธ.เป็นผู้สรรหาอนุกรรมการชุดต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้สรรหาต้องไม่เป็นอนุกรรมการ แต่กลับใช้อำนาจกลับมติมอบให้ปลัด สธ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการที่สำคัญถึงสองคณะ
4.จะอธิบายสังคมได้อย่างไรกรณีแต่งตั้งปลัด สธ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช. รวมทั้งแต่งตั้งผู้บริหารจำนวนมากของ สธ.เป็นอนุกรรมการทั้งสองคณะ เป็นการทำผิดเจตนารมณ์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ต้องแยก สปสช.ในฐานะตัวแทนผู้ซื้อบริการออกจากกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ดูแลหน่วยบริการ เป็นการถอยหลังเข้าคลอง และทำให้สิทธิประโยชน์ของประชาชนถูกจำกัดเหมือนในอดีต
5.จะอธิบายสังคมอย่างไร กรณีกำหนดให้อธิบดีและผู้บริหารจำนวนมากของกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นประธานและอนุกรรมการด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกของ สปสช. รวมทั้งให้อธิบดีและผู้บริหารจำนวนมากของกรมควบคุมโรคเป็นประธานและอนุกรรมการพัฒนาและบริการผู้เชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ของ สปสช. เป็นรูปธรรมการต้องการดึงการบริหารงบประมาณกองทุนการแพทย์แผนไทยและกองทุนเอดส์กลับเข้าสู่กระทรวง
6.จะอธิบายสังคมอย่างไรกรณีจะเก็บ 30 บาทกับผู้ป่วยแล้วคุณภาพการให้บริการจะดีขึ้น เพราะการเก็บ 30 บาทจะได้เงินเพิ่มเติมเพียง 2,000 ล้านบาทหรือเพียงร้อยละ1.5 ของงบเหมาจ่ายรายหัวปีละ 1,200,000 ล้านบาท และคุณภาพการให้บริการขึ้นอยู่กับการลงทุนระยะยาว รวมทั้งการแก้ปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุขที่ขาดแคลนจากการไหลเข้าสู่ตัวเมืองและหน่วยบริการเอกชน
7.จะอธิบายสังคมอย่างไร กรณีจะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา41 พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อขยายเอาเงินกองทุน สปสช.ซึ่งมีอยู่จำกัดและได้รับจัดสรรต่ำกว่ากองทุนอื่นไปชดเชยความเสียหายให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคมสวัสดิการข้าราชการและ รพ.เอกชน โดยรพ.เอกชนไม่ต้องร่วมรับผิดชอบจ่ายสมทบเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจาการทำธุรกิจค้ากำไรทางการแพทย์ของตน
8.จะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรที่ปล่อยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้เริ่มต้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา10 ปี จนเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ ต้องถดถอยและล่มสลายในที่สุด .