ผอ.กองสังคมสงเคราะห์ฯ เปิดตัวเลขปี 59 มีผู้ได้รับพระราชอภัยโทษกว่า 3.3 หมื่นคน
ผอ.กองสังคมสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ เปิดแผนการปล่อยตัวผู้พ้นโทษพระราชอภัยโทษ มี 5 กระทรวงหลักเข้าดูแลช่วยเหลือการดำเนินชีวิต ไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ
วันที่ 5 ธันวาคม 2559 นางรัศมี สุวรรณหงษ์ ผอ.กองสังคมสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างที่นายภูวเรศ อายุ 32 ปี ผู้ต้องขังซึ่งได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 จากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ได้มาถึงและต่อคิวเข้ากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยขออุทิศตนเป็นตัวแทนของผู้ต้องขังในการเดินเท้าจากหน้าเรือนจำกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 800 กว่ากิโลเมตร
นางรัศมี กล่าวถึงการปล่อยตัวของผู้ใกล้จะพ้นโทษ ซึ่งยังคงอยู่ในเรือนจำนั้น จะมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยต่างจากเดิมที่มีการเตรียมความพร้อมจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนตามหลักสูตรปกติ เปลี่ยนเป็นการจัดอบรมอย่างเข้มข้น 3 เดือน ก่อนปล่อยไป รวมถึงมีหลักสูตรพัฒนาทักษะทั้งด้านร่างกาย จิตใจด้วยการฝึกสมาธิ และด้านของสังคมของเรื่องครอบครัวจะจัดให้มีการทำกิจกรรมสานความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบกลุ่ม รวมถึงการให้ภาคส่วนของสังคมเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ เรื่องการวางแผนชีวิตเมื่อออกไปแล้ว จะดำเนินชีวิตอย่างไร ประกอบอาชีพอย่างไร ซึ่งทางกองฯ จะมีการประสานภาคีเครือข่าย อีกทั้งเมื่อออกไปจะให้มีการเซ็นชื่อยินยอมเปิดเผยข้อมูล เพื่อการเข้าเยี่ยมบ้านติดตามเพื่อให้ความช่วยเหลือ
นางรัศมี กล่าวถึงการปล่อยตัวผู้พ้นโทษพระราชอภัยโทษ สำหรับปี 2559 ตามพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ทางกองฯ ได้ให้รายชื่อผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด อบต.และหน่วยงานต่างๆ ตามแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถติดตามและเข้าไปเยี่ยมดูแลช่วยเหลือ หากได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ใช่การติดตามพฤติกรรม
“การปล่อยตัวผู้พ้นโทษปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ 5 กระทรวงหลักได้เข้ามาดูแลผู้พ้นโทษ คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการดูแลให้ความช่วยเหลือการดำเนินชีวิตและการติดตามหากมีการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออกเป็นมติในครม. ของการปล่อยตัวผู้พ้นโทษ และปี 2559 มีผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัว จำนวน 33,334 คน”
ด้านนายภูวเรศ กล่าวว่า ต่อจากนี้จะขอกลับตัวเป็นคนดี ไม่กลับไปทำสิ่งผิดซ้ำอีก และจะเป็นคนดีเพื่อครอบครัว เพื่อลูก ซึ่งการเดินเท้าจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชจนถึงสนามหลวงรู้สึกหายเหนื่อยและภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อในหลวง ร.9 เพราะหลังจากที่พ้นโทษมาแล้ว ก็นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีให้กับพวกผู้ต้องขังที่มีความประพฤติที่ดี เป็นสิ่งที่พวกเราไม่สามารถจะประเมินค่าได้ หรือหาสิ่งใดมาให้จะตอบแทนพระองค์ได้ นอกจากการทำความดีเพื่อสังคมและการเป็นคนดี
"การได้รับพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่พระองค์มอบให้ เป็นเรื่องของการเตือนไม่ให้เราทำผิดอีก และในฐานะลูกคนหนึ่ง อยากบอกพ่อว่า ลูกคนนี้ถึงจะเลว แต่ต่อจากนี้จะกลับตัวเป็นคนดีต่อสังคมและประเทศชาติ ไม่ทำความผิดซ้ำอีกแล้ว"
นายภูวเรศ กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตว่า ทราบข่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เพราะเรือนจำมีการลดธงครึ่งเสา ส่วนวันที่ 13 เวลาประมาณบ่ายโมง ทางเรือนจำที่อยู่นั้น มีการจัดให้สวดมนต์ เพื่อภาวนาไม่ให้พระองค์ ซึ่งเมื่อพ้นโทษเมื่อ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เดินเท้ามุ่งมาที่สนามหลวงทันที โดยใช้เวลา 20 วัน ระหว่างการเดินเท้ามานึกเสมอว่าจะสอนลูก จะเป็นคนดีของครอบครัว จะสอนให้ลูกรักพระองค์ เพราะท่านคือเทวดาที่เป็นกำลังใจสำคัญของพวกเรา รวมถึงการเป็นตัวแทนของเพื่อนในเรือนจำจากโอกาสที่ได้รับให้ปล่อยออกมาด้วย
“ และเมื่อกราบถวายบังคมพระบรมศพเรียบร้อย หลังจากนั้นะกลับบ้านที่ จ.สงขลา เพื่อกลับไปช่วยที่บ้านทำงานขายของก่อนค่อยขยับขยายหาอาชีพอื่นต่อไป พร้อมจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ในการดำรงชีวิต”
นางรัศมี สุวรรณหงษ์
ผอ.กองสังคมสงเคราะห์
กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม
ภาพประชาชนทั่วทุกสารทิศ รอเข้ากราบพระบรมศพช่วงบ่าย 5 ธันวาคม 2559