ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม...เพื่อประชาชนหรือเอื้อเอกชน?
การรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ดูเผินๆ เหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือช่วยกำจัดขยะอุตสาหกรรม และยังได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ด้วย
แต่เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อสังเกตจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กมธ.พลังงาน) ว่า ผลประโยชน์ของนโยบายนี้อาจไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน แต่จะเป็นการเพิ่มภาระมากกว่า
ทั้งนี้ กพช.ได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed in Tariff (คือมาตรการส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยราคารับซื้อคงที่ตลอดอายุสัญญา 20 หรือ 25 ปี เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ) เมื่อต้นปี 58 โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในราคา 6.08 บาทต่อหน่วย ในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี
ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย ส่วนไฟฟ้าฐาน อยู่ที่ประมาณ 3.30 บาทต่อหน่วย
ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้ามากกว่า 6 บาทต่อหน่วย สูงกว่าขยะชุมชน 1 บาท และสูงกว่าไฟฟ้าฐานเกือบ 3 บาท จึงดึงความสนใจจากนักลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยภายหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมไปเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจเสนอคำขอขายไฟฟ้าถึง 26 ราย กว่า 200 เมกะวัตต์ มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50 เมกะวัตต์ ถึง 4 เท่าตัว
เมื่อพิจารณาในมุมของภาครัฐ หากซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมด้วยเรทราคานี้ จำนวน 50 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 20 ปี ต้องใช้เงินสูงถึง 48,000 ล้านบาท สูงกว่าการซื้อไฟฟ้าฐานเกือบเท่าตัว และสูงกว่าไฟฟ้าจากขยะชุมชนเกือบ 8,000 ล้านบาท
แม้งบประมาณจำนวนมากที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการขยะอุตสาหกรรม เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับภาครัฐในการผลิตไฟฟ้า แต่ผู้ที่รับภาระค่าไฟฟ้าราคาสูงขึ้นจริงๆ กลับเป็นประชาชนที่ต้องจ่ายค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่แหล่งกำเนิดขยะคือโรงงานอุตสาหกรรม
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ รองประธาน กมธ.พลังงาน กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตขยะอุตสาหกรรม แต่เมื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ประชาชนทั้งประเทศกลับต้องแบกรับภาระ เรื่องนี้แตกต่างจากขยะชุมชนที่ประชาชนเป็นคนก่อให้เกิดขยะ เมื่อนำมาผลิตไฟฟ้าแล้วประชาชนรับภาระบางส่วน จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่นี่เป็นขยะอุตสาหกรรม กลับให้ประชาชนรับภาระส่วนต่าง โดยไปเก็บจากค่าเอฟที อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชน
ที่สำคัญเมื่อมีนโยบายนี้ ทำให้เส้นทางรายได้ของบริษัทกำจัดขยะอุตสาหกรรมขยายเป็น 3 เส้นทาง คือ การรับจ้างจัดการขยะอุตสาหกรรมจากโรงงาน ราคาตั้งแต่ 1,000-5,000 บาทต่อตัน, การคัดแยกขยะ นำบางส่วนไปรีไซเคิลหรือรียูส และการนำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย
“ก่อนจะนำขยะส่งโรงงานผลิตไฟฟ้า ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิล รียูส เกิดประโยชน์ มีมูลค่า ทำให้บริษัทกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้รายได้ถึง 3 ต่อ จึงเกิดคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลต้องสนับสนุนซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าไฟฟ้าที่ได้จากเชื้อเพลิงประเภทอื่น”
ถือเป็นคำถามที่น่าคิด และ กมธ.พลังงาน ก็เรียกร้องให้ กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวน!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
2 แผนภาพแสดงกระบวนการนำขยะอุตสาหกรรมไปผลิตไฟฟ้า แต่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้จากอีกหลายช่องทาง
ขอบคุณ : นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26