อดีต สปช.ค้านให้เอกชนบริหารงบรักษา ขรก. หวั่นสูญเงินไปกับค่าบริหาร-ส่วนแบ่งผลกำไร
เภสัชกร วิทยา กุลสมบูรณ์ เสนอให้มีหน่วยอิสระที่ไม่ใช่เอกชนแสวงกำไรดูแลแทน อดีตรมว.สธ. จี้นายกฯ ประยุทธ์ ทบทวนใหม่ มอบงบฯ รักษาตามสิทธิข้าราชการ 67,000 ล้าน ให้ สปสช.บริหาร ชี้ประสบความสำเร็จประจักษ์แล้ว งบบัตรทอง
รศ. ดร. เภสัชกร วิทยา กุลสมบูรณ์ อดีตรองประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) อาจารย์ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลกำลังหารือกับบริษัทประกันภัยเพื่อให้นำระบบประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลแทนการใช้สวัสดิการภาครัฐแก่ข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิในระบบ นั้น ปัจจุบันการที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลได้รับงบประมาณปลายเปิดกว่า 6 หมื่นล้านบาท หากนำมาใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล มีระบบกำกับ จะทำให้เกิดผลดีต่อการรักษาพยาบาล และสามารถเพิ่มจำนวนปีคุณภาพชีวิต (Quality Adjusted Life Year) ของผู้ป่วยได้มากขึ้น
รศ. ดร. เภสัชกร วิทยา กล่าวว่า ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีงบประมาณเฉลี่ยต่อหัวต่อปีสูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อคน จำเป็นต้องมีการปรับลดส่วนเกินที่ไม่เหมาะสม ยิ่งรัฐมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ หากระบบที่ดูแลข้าราชการไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำมาก ระยะยาวจะอยู่ไม่ได้ จากระบบปลายเปิดที่ไม่จำกัดเพดานงบประมาณ จึงจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูประบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ในขณะที่งบประมาณแบบรายหัว (Capitation) ของบัตรทองและประกันสังคมเป็นแบบปลายปิดโดยให้งบเฉลี่ยในภาพรวมประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี พบว่า ระบบบัตรทองสามารถให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมได้อย่างเหมาะสม ขยายเพิ่มสิทธิได้มากขึ้นตามลำดับ” รศ. ดร. เภสัชกร วิทยา กล่าว และว่า การให้เบิกจ่ายงบประมาณแบบเรียกเก็บภายหลังและเกิดการเบิกจ่ายที่ไม่เหมาะสมนั้น ในทางปฏิบัติสามารถกำกับการดำเนินการโดยให้มีหน่วยบริหารค่าใช้จ่ายอย่างสมเหตุผลและมีประสิทธิภาพได้ โดยหน่วยงานต้องมีความเป็นอิสระทำหน้าที่สร้างมาตรการและกลไกกำกับดูแล ทั้งนี้ต้องไม่ใช่หน่วยงานแสวงผลกำไรที่คำนึงถึงประโยชน์ของธุรกิจเป็นหลัก
ส่วนที่จะนำระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไปให้ธุรกิจประกันของเอกชนดำเนินการนั้น รศ. ดร. เภสัชกร วิทยา มีข้อสังเกตุว่า ข้าราชการยังไม่ได้รับทราบและไม่เคยมีการสอบถามความเห็นทำให้ข้าราชการจำนวนมากมีความกังวลถึงผลกระทบหากมีการดำเนินการ เมื่อยังไม่มีการศึกษาที่แสดงผลว่า ข้าราชการจะได้ประโยขน์เหมือนเดิมในวงเงินเท่ากัน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถทำได้ตามที่อ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บอกว่าจะให้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการไม่แตกต่างไปจากเดิม.
“ ที่น่าเป็นห่วงคือค่าใช้จ่ายจะหมดไปกับการบริหารจัดการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการให้หน่วยงานแสวงกำไรดูแล ทำให้ต้องควบคุมและลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่สำคัญคือ ยังไม่มีการเสนอว่าจะทำอย่างไรในทางปฏิบัติ จึงยากที่จะทำให้ เชื่อได้ว่ารูปแบบดังกล่าว สามารถทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง”
ขณะที่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน อยากให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ที่กำลังจะตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เรื่องการส่งมอบเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว 67,000 ล้านต่อปี ไปให้บริษัทเอกชนบริหาร บนความเชื่อที่ว่า ข้าราชการและครอบครัวจะไม่เสียสิทธิใดๆ เงินงบประมาณจะไม่สูงขึ้นจนคุมไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่
“ผมสรุปว่า เหตุที่งบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวสูงขึ้นๆ เป็นเพราะความผิดพลาดทางการบริหารของกรมบัญชีกลางเอง หากบริษัทเอกชนบริหารสิทธิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวจะถูกลดลงในวงเงินที่รัฐจ่ายเท่าเดิม เพราะจะถูกหักเป็นค่าบริหารและกำไรของบริษัทเอกชน ตัวอย่างที่ประจักษ์คือสิทธิผู้ควรได้รับการรักษาตามพ.ร.บ ผู้ประสบภัยจากรถ 2535 ข้าราชการ เกษียณจะรับเคราะห์กรรมหนัก เพราะต้องการบริการมากขึ้นตามวัย โรงพยาบาลระดับต่างๆจะล้มละลายเพราะถูกปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาด้วยเล่ห์กลต่างๆ วิกฤติการสาธารณสุขและความไม่สงบจะเกิดขึ้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” อดีตรมว.สธ. กล่าว และว่า ฉะนั้น รัฐบาลควรกลับมาทบทวนใหม่ ข้าราชการและครอบครัวโดยเฉพาะสมาคมข้าราชการพลเรือนต้องออกมาปกป้องสิทธิที่จะเสียไป โรงพยาบาลรัฐทุกระดับจะคอยให้ล้มละลายก่อนแล้วค่อยออกมาโวยคงไม่มีประโยชน์ต่อผู้รับบริการทั่วไป รวมทั้งประชาชนผู้ใช้บัตรทอง พร้อมเสนอให้นายกฯ มอบงบประมาณการรักษาตามสิทธิข้าราชการ67,000ล้านบาทไปให้ สปสช.เอาไปบริหาร ความสำเร็จประจักษ์แล้วจากการบริหารงบประมาณตามสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น