โกลด์แมน แซคส์: แหล่งผลิตขุนคลัง
เป็นที่คาดกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเลือกศิษย์เก่าจาก โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดัง Steve Mnuchin (สตีฟ มิน-อู-ชิ่น) ขึ้นมาเป็นขุนคลังคู่กาย
และถ้าไม่เกิดการพลิกล็อกอะไร มินอูชิ่นก็จะเป็นบุคลากรจากโกลด์แมน แซคส์ คนที่สามในสี่รัฐบาลล่าสุดที่เข้ามากุมบังเหียนการคลังของสหรัฐ ต่อจาก โรเบิร์ต รูบิน รัฐมนตรีคลัง (1995-1999) ในรัฐบาลบิล คลินตัน และ เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลัง (2006-2009) สมัยรัฐบาลจอร์จ บุช จูเนียร์ ทั้งนายรูบินและพอลสันนั้นเคยดำรงตำแหน่งระดับเบอร์หนึ่งของสถาบันการเงินแห่งนี้มาก่อนที่จะมาเป็นขุนคลังให้กับคลินตันและบุช
ส่วนขุนคลังของรัฐบาลโอบามา ทิโมธี ไกธ์เนอร์ (2009-2012) แม้จะไม่เคยผ่านงานจาก โกลด์แมน แซคส์ มาก่อน แต่ก็เป็นเด็กปั้น (protégé) ของ โรเบิร์ต รูบิน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นข้าราชการดาวรุ่งพุ่งแรง ในยุคที่รูบินเป็นเจ้ากระทรวง
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทรัมป์ ก็ตั้ง สตีฟ แบนนอน Goldman Sachs alumni อีกคนหนึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ประจำ(ตัว)ทำเนียบขาว (Chief White House of Strategist) ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าทรัมป์สนใจที่อยากจะได้ตัว Gary Cohn ผู้บริหารระดับเบอร์สองของโกลด์แมน แซคส์ คนปัจจุบันมาเป็นผู้อำนวยสำนักงบประมาณของสหรัฐอีกด้วย
โกลด์แมน แซคส์ เป็นบริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำของโลก วาณิชธนกิจหรือธนาคารเพื่อการลงทุน (Investment Bank)เป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ให้บริการด้านการรับและฝากเงินแบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป (Commercial Bank) วาณิชธนกิจจะทำหน้าที่ระดมทุน ซื้อขายหลักทรัพย์ ให้คำปรึกษาด้านการเงิน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงการบริการทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น การบริหารครอบงำ/ควบรวมกิจการของบริษัท การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ
รายได้หลักๆ ของ โกลด์แมน แซคส์ จะมาจากค่าคอมมิชชัน (commission) ในการทำดีล (deal) เหล่านี้ การขายหุ้นในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตรให้แก่ บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (Temasek) เมื่อปี 2549 ก็มี โกลด์แมน แซคส์ เป็นผู้ทำดีลให้อยู่เบื้องหลัง
กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) กองทุนเพื่อการลงทุนหรือบรรษัทเพื่อการลงทุนของหลายๆ รัฐบาลล้วนใช้บริการจาก โกลด์แมน แซคส์ ในการเป็นผู้บริหารเงินของกองทุนให้ โดยเฉพาะกองทุนจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งก็มีหลายกองทุนที่ โกลด์แมน แซคส์ บริหารขาดทุนเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ เช่น กองทุนของประเทศลิเบีย (Libyan Investment Authority) อันนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกใช้ค่าเสียหายจากรัฐบาลลิเบีย
บางกองทุนเช่น 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลมาเลเซียที่กำลังมีเรื่องทุจริตอื้อฉาวของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ในข้อกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์สินหลายพันล้านดอลลาร์จากกองทุนนี้เข้าบัญชีตัวเอง ปัจจุบัน กองทุน 1MDB มีหนี้ประมาณหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ หนี้สินดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนสามพันล้านดอลลาร์ในปี 2013 ที่ โกลด์แมน แซคส์ เป็นผู้ดำเนินการให้ โกลด์แมน แซคส์ ได้ค่าเหนื่อยไป 10% หรือ 300 ล้านดอลลาร์ในการทำดีลนี้
สื่อมวลชนอเมริกันเคยพูดถึง โกลด์แมน แซคส์ ไว้สั้น ๆ ว่า .....“The first thing you need to know about Goldman Sachs is that it’s everywhere….”
โกลด์แมน แซคส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1869 โดย มาร์คัส โกลด์แมน (Marcus Goldman) นักธุรกิจการเงินเชื้อสายยิว ผู้อพยพจากเยอรมันมาตั้งรกรากที่นิวยอร์ก ในปี ค.ศ.1848 และ แซมมวล แซคส์ (Samuel Sachs) วาณิชธนากรชาวอเมริกันเชื้อสายยิว บุตรเขยของมาร์คัส ปัจจุบัน โกลด์แมน แซคส์ มีสินทรัพย์รวมทั้งหมดมูลค่ากว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ ปัจจุบันมีประมาณ 180,000 ล้านดอลลาร์) สำนักงานกว่า 60 แห่งทั่วโลกในมากกว่า 20 ประเทศ และพนักงานกว่า 34,000 คน
นอกจากอดีตสองขุนคลังและว่าที่ขุนคลังคนใหม่ของสหรัฐ บุคคลระดับสูงในภาครัฐของหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ผู้ช่วยรัฐมนตรี วุฒิสมาชิก ผู้ว่าการรัฐ ผู้ว่าการธนาคารกลาง เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป หลายคนล้วนเคยผ่านการทำงาน เป็นผู้บริหาร หรือเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับ โกลด์แมน แซคส์
เช่น นายโรเบิร์ต โซลลิก ผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (2001-2005) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและประธานธนาคารโลก (2007-2012)
นายวิลเลี่ยม ดัดลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา สาขานิวยอร์ก (2009-ปัจจุบัน)
นายจอน คอร์ไซน์ วุฒิสมาชิก รัฐนิวเจอร์ซี่ย์ (2001-2006) ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ (2006-2010)
นายโจชัว บอลเตน ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ สหรัฐ (2003-2006) หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว (2006-2009)
นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรี อิตาลี (2011-2013)
นายมาริโอดราจี ผู้ว่าการธนาคารกลาง อิตาลี (2005-2011) ประธานธนาคารกลางยุโรป (2011-ปัจจุบัน)
นายมาร์ค คาร์นี่ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา (2008-2013) ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (2013 – ปัจจุบัน)
นายเอียน แมคฟาร์แลนซ์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย (1996-2006)
นายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลีย (2015-ปัจจุบัน)
นาย Efthymios Christodoulou ผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ (1991-1993)
นาย Tito Mboweni ผู้ว่าการธนาคารกลางเซาท์แอฟริกา (1999-2009)
นาย Olusegun Olutoyin Aganga รัฐมนตรีคลัง ประเทศไนจีเรีย (2010-2011)
นาย Erik Asbrink รัฐมนตรีคลัง สวีเดน (1996-1999)
นาย Ziad Bahaa Eldin รองนายกรัฐมนตรี อียิปต์ (2013-ปัจจุบัน)
บุคคลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิษย์เก่า โกลด์แมน แซคส์ ที่ทำงานอยู่หรือเคยอยู่ในภาครัฐของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่าง โกลด์แมน แซคส์ กับภาครัฐบาลในประเทศต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังไม่รวมศิษย์เก่าอีกหลายคนที่แยกกระจายไปอยู่ในภาคเอกชนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเงินในตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนเก็งกำไรระยะสั้น หรือ เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Equity Fund) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่มีอยู่กว่า 80 กองทุนในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับคำกล่าวข้างต้นที่ว่า “...สิ่งแรก ที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโกลด์แมน แซคส์ ก็คือ มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง.....”
---------------------------------------------------------
หมายเหตุ โดย ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง
สำหรับประเทศไทย แหล่งผลิตขุนคลังนั้นต่างกับของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช่เป็นบริษัทวานิชธนกิจชั้นนำของโลก เช่น “โกลด์แมน แซคส์”
แต่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปัจจุบันของไทย แต่เดิมจะมาจากตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมบัญชีกลาง ที่มีชื่อเดิมว่า “กรมสารบาญชี” ตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ.109 ตรงกับ พ.ศ.2433 “โดยมีกรมสารบาญชี สำหรับจ่ายเงินแผ่นดิน แล ถือทำสรรพบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมบัญชีกลางในปัจจุบัน” มีอดีตเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่มาจากกรมบัญชีกลางที่เป็นแหล่งผลิตขุนคลัง ดังนี้
เริ่มตั้งแต่อธิบดีสามท่านแรก คือกรมพระจันทบุรีนฤนารถ ที่ดำรงอธิบดีตั้งแต่ พ.ศ.2445 ถึง 2450 และได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีเมื่อปี พ.ศ.2451 ถึง 2465
ต่อมาคือหม่อมเจ้าเณร (พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เคยเป็นผู้ช่วยอธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ.2443 ถึง 2450 และเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 9 เมษายน 2475 ถึง 29 มิถุนายน 2475)
ท่านต่อมาเป็นมหาอำมาตย์ตรีพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง พ.ศ.2469 ถึง 2472 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พ.ศ. 2473 ถึง 9 เมษายน 2475
พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) เป็นอธิบดี พ.ศ.2473 ถึง 2478 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ศ.2479 ถึง 2481
นายเล้ง ศรีสมวงค์ (เคยเป็นรองอธิบดี 2484 ถึง 2485 และมาเป็นรัฐมนตรี เมื่อ 10 เมษายน 2488 ถึง 1 กันยายน 2488)
นายบุญมา วงศ์สวรรค์ (อธิบดีกรมบัญชีกลาง พ.ศ.2500 ถึง 2506 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ศ.2516 ถึง 2517)
นายพนัส สิมะเสถียร อธิบดีกรมบัญชีกลาง พ.ศ.2515 ถึง 2521 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 18 มิถุนายน 2535 ถึง 22 กันยายน 2535)
นายอำนวย วีรวรรณ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคนแรกของกองระบบบัญชีและการคลัง และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสองสมัย ใน พ.ศ.2523 ถึง 2524 และ 2539 ถึง 2540
นอกจากในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว ยังมีข้าราชการกรมบัญชีกลางที่ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คือ ท่านเยื่อ สุสายัณห์ เมื่อ พ.ศ.2516 ถึง 2517 และ ดร.มารวย ผดุงสิทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 24 กันยายน 2540 ถึง 6 มกราคม 2540
การรักษาวินัยการเงินการคลังระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มาจากแหล่งผลิต “กรมบัญชีกลาง” และที่อื่นๆโดยเฉพาะจากภาคเอกชน คงจะมีการรักษาเงินแผ่นดินที่เป็นเงินของประชาชนทั้งชาติแตกต่างกัน ใช่ไหมครับ?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพอาคารสำนักงานโกลด์แมน แซคส์ ในนิวยอร์ค จากเว็บไซต์ของโกลด์แมน แซคส์