‘สุรพงษ์’ ชูแก้ปัญหาโรงแรมเถื่อน เร่งมท.งัดคำสั่งปิดอาคารมาใช้-เพิ่มโทษปรับ
‘สุรพงษ์’ ชู 3 ข้อเสนอ แก้ปัญหาโรงแรมเถื่อน แนะมหาดไทยบูรณาการหน่วยงาน งัดคำสั่งปิดอาคารมาใช้-เพิ่มโทษปรับ-คลอดกฎหมายโฆษณาประสัมพันธ์ เชื่อสางปัญหาได้จริง
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ให้สัมภาษณ์ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงปัญหาโรงแรมที่ประกอบการโดยไม่มีใบอนุญาต และบางแห่งเปิดกิจการมากว่า 10 ปีว่า ในปี 2556 เคยทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง ‘แนวทางการแก้ปัญหาการประกอบกิจการโรงแรมผิดกฎหมายเพื่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว’ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ย้อนไปเก็บตัวเลขตั้งแต่ ปี 2552-2556 และพบว่า ยอดตัวเลขของการท่องเที่ยวเติบโตเร็วมาก
ในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน ขณะที่ปี 2556 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 28 ล้านคนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในจำนวนนี้เป็นอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 16-17% ต่อปี ประกอบกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้การทำการตลาดโรงแรมง่ายกว่าอดีต
"โรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถจดทะเบียนได้ รวมถึงโรงแรมขนาดกลางจึงเกิดขึ้นจำนวนมาก" นายสุรพงษ์ กล่าว และว่า จากจุดนี้ทำให้สมาคมโรงแรมไทย ได้มีโอกาสหารือกับนายทะเบียนโรงแรม ส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และสรุปได้ว่า กลุ่มที่กระทำผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ กลุ่มที่ทำผิดกฎหมายและต้องการทำให้ถูกต้อง แต่ติดขัดในเรื่องกฎหมายที่เข้มงวดมาก กับอีกกลุ่มที่เห็นว่า การท่องเที่ยวเติบโต การตลาดทำได้ง่าย จึงเข้ามาแอบแฝงขายในรูปของโรงแรม ทั้งที่การขออนุญาตดั้งเดิมเป็นอย่างอื่น เช่น กลุ่มอพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม ที่แอบแฝงเข้ามาและกลุ่มนี้ไม่สามารถจะขออนุญาตให้ถูกต้องได้
เมื่อถามถึงวิธีการแก้ไข นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในกลุ่มผิดกฎหมายและต้องการเข้ามาในระบบ ทางสมาคมโรงแรมไทยได้เข้าไปดูว่า กฎหมายที่เข้มงวดมีส่วนไหนที่พอจะผ่อนคลาย โดยยังรักษาระดับมาตรฐานของการให้บริการโรงแรม กับมาตรฐานความปลอดภัยได้หรือไม่ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมีความพยายามแก้กฎมาย และปลดล็อก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1.เรื่องที่จอดรถ เดิมกฎหมายควบคุมอาคากำหนดให้อาคารประเภทโรงแรมต้องมีสัดส่วนที่จอดรถตามจำนวนห้อง ดังนั้นจึงมีการปรับแก้กฎหมาย เปลี่ยนเป็นให้ใช้สัดส่วนของพื้นที่ล็อบบี้ พื้นที่ให้เช่าในล็อบบี้โรงแรมเป็นสัดส่วนของจำนวนที่จอดรถ ซึ่งลดจำนวนพื้นที่จากเดิมลดลงมาก
2.กฎหมายผังเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรค ก็ไปปรับแก้กฎหมายผังเมืองโดยอนุญาตให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถจดทะเบียนได้ในทุกโซนสีของผังเมือง และในเรื่องนี้มีคำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยออกไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว
3. เรื่องกฎหมายควบคุมอาคาร แต่เดิมห้ามการจะนำอาคารประเภทเล็กๆ ที่จำนวน 1-2 ชั้นมาจดทะเบียนโรงแรม หากอาคารเดิมไม่ได้สร้างเป็นโรงแรม เพราะแทบจะแก้ไขเปลี่ยนให้มาเป็นโรงแรมได้ยากมาก
ปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อช่วยปลดล็อกให้โรงแรมขนาดเล็ก ๆ ที่นำตึกแถวมาทำเป็นโรงแรมและที่ผ่านมาติดขัดในเรื่องกฎหมายที่ควบคุมเข้มงวด สามารถเข้าจดทะเบียนเป็นโรงแรมที่ถูกต้องได้ โดยที่ยังสามารถรักษามาตรฐาน รักษาความปลอดภัยได้
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย กล่าวอีกว่า แต่เดิมเนื่องจากมีโรงแรมจำนวนมาก ทำให้นายทะเบียนไม่สามารถดำเนินการจับกุมทั้งหมดได้ จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้น หากสามารถทำให้กลุ่มที่โรงแรมขนาดเล็กเข้าสู่ระบบถูกกฎหมายได้ ก็จะช่วยคัดกรองออกไปส่วนหนึ่ง ฉะนั้นในปัจจุบันเราจึงเห็นภาพว่า มีการจับกุมโรงแรมขนาดใหญ่ ที่อย่างไรก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ และโรงแรมลักษณะนี้จำเป็นต้องถูกจับกุม ปราบปราม
“ตัวเลขเท่าที่รวบรวมได้ ในปี 2559 เชื่อว่า มีโรงแรมที่เปิดให้บริการที่พักรายวัน ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เกินกว่า 1,000,000 ห้อง ในจำนวนนี้มีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 500,000 ห้อง ที่เหลือทำผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรมการปกครองเชื่อว่า เมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ จะทำให้มีโรงแรมเข้าสู่ระบบและแก้ปัญหาได้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ทำผิดกฎหมาย และไม่มีทางทำให้ถูกต้องได้ กลุ่มนี้ต้องเลิกไป”
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้เข้มงวด และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ระบุชัดว่า โรงแรมผิดกฎหมายเช่นเดียวกับรายล่าสุดที่เชียงใหม่ จะต้องถูกปราบปรามอย่างเข้มงวด ฉะนั้นในหลายจังหวัดขณะนี้ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครนายก อยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงออกมาประกาศแล้วว่า จะปราบปรามเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ส่วนสาเหตุก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถปราบปรามโรงแรมผิดกฎหมายได้หมดนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเพราะโทษการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติ โรงแรม พ.ศ. 2547 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน
“ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการจับกุมโรงแรมประมาณ 20-30 แห่ง และมีบทลงโทษตั้งแต่ปรับ 3,000 บาท, ปรับ 5,000 บาท, ปรับ 10,000 บาท และที่เห็นสูงสุดคือปรับ 12,000 บาท กรณีลงโทษปรับรายวันพบว่า ยังไม่มีการนำมาใช้ ส่วนบทลงโทษจำคุก มีอยู่ประมาณ 1-2 กรณีที่ศาลสั่งลงโทษจำคุก 3 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งตรงนี้ทำให้กลุ่มที่ทำผิดกฎหมายไม่เกรงกลัว และยังพบว่า ผู้ที่ถูกจับกุมยังคงเปิดดำเนินการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่กำลังเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการคือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งระงับใช้อาคาร สั่งปิดการใช้อาคารได้ เช่นกรณีโรงแรมที่ถูกจับเชียงใหม่ จะเห็นว่าขณะนี้ถูกคำสั่งให้ระงับใช้อาคารด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้เจ้าของอาคารที่นำอาคารมาใช้ผิดประเภทเกรงกลัวมากขึ้น"
สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า 1.การดำเนินงานต้องมีการบรูณาการมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายจับกุมคือ กรมการปกครอง ขณะที่ฝ่ายถือกฎหมายควบคุมอาคารคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง ฉะนั้น หากกระทรวงมหาดไทยมีการบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้บทลงโทษที่เห็นชัด หากทำผิดและถูกสั่งปิดการใช้อาคาร ก็ไม่คุ้ม ตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาทุเลาลง
“2.เสนอให้เพิ่มโทษการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต จากเดิมปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งต่ำเกินไป ควรเพิ่มเป็น 200,000 บาท โดยขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้เสนอเรื่องผ่านคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรมให้มีการเพิ่มโทษดังกล่าว 3.เสนอให้มีออกกฎหมายเรื่องโฆษณาประชาสัมพันธ์โรงแรม โดยการประชาสัมพันธ์โรงแรมจะต้องมีการระบุหมายเลขผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม หากไม่ระบุให้ครบองค์ประกอบความผิดและมีบทลงโทษ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ล้อไปกับ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ที่การโฆษณาบริษัททัวร์ โปรแกรมทัวร์ต้องระบุหมายเลขผู้ประกอบธุรกิจ หากไม่ระบุหมายเลขผู้ประกอบธุรกิจ ปรับไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกัน”
นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการยื่นข้อเสนอ นอกจากดำเนินการผ่านคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรมส่วนหนึ่งแล้ว เรากำลังดำเนินการผ่านคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กลุ่มดีสาม ที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวผ่านไปยังกลุ่มดูแลเรื่องกฎหมาย รวมถึงยังมีการทำงานผ่านทางหอการค้าไทย ซึ่งจะส่งต่อเรื่องนี้ไปยังสภานิติบัญญัติอีกด้วย