ปัดมีข้อตกลงม.วลัยลักษณ์! สตง.เผยคำชี้แจงกรณีผู้ว่าฯถูกฟ้อง กล่าวหาสินบน
สตง.เผยคำชี้แจงเป็นทางการ กรณี ผู้ว่าฯ ถูก จนท.ฟ้อง กล่าวหาปมรับสินบน ยันไม่เคยกลั่นแกล้งห้ามตรวจสอบทุจริต ปัดมีข้อตกลงยอมความผู้บริหารวลัยลักษณ์ ระบุพฤติการณ์ลูกน้องเข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมาย จึงออกคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น แต่ฝ่าฝืน จำเป็นต้องย้ายออกนอกพื้นที่ไว้ก่อน
จากกรณี นายพงศ์ปณต สนิท ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ยื่นฟ้อง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคดีหมายเลขดำที่ 3766/2559 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ก.พ.2560 หลังถูกสั่งโยกย้ายตำแหน่งออกนอกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบปัญหาทุจริตในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่าไม่เคยมีนโยบายสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปตรวจสอบปัญหาการทุจริตของหน่วยงานใด ยอมรับว่าได้สั่งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ สตง.รายนี้ จริง เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ และยืนยันว่า ไม่เคยเรียกรับสินบนตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : สตง.ออกประกาศเอาผิดคนส่งต่อข้อความ 'ผู้ว่าฯ ' ถูกฟ้องปมรับสินบน)
ล่าสุด สตง. ได้ส่งคำชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้สำนักข่าวอิศรา รับทราบ ระบุรายละเอียดดังนี้
ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีฟ้องผู้ว่าการ สตง.
1. เท่าที่ทราบคดีนี้ นายพงศ์ปณต ยื่นฟ้องคดีเอง ซึ่งศาลต้องไต่สวนก่อนว่าที่นายพงศ์ปณตอ้างนั้นมีมูลความจริงหรือไม่ ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ก.พ. 2560 ดังนั้น คดีนี้ศาลจึงยังไม่ได้ประทับรับฟ้องคดีแต่อย่างใด
2. กรณีกล่าวหาผู้ว่าการ สตง. ว่ายอมความกับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่องนี้เป็นคดีฟ้องกันที่ศาลอาญา การไกล่เกลี่ยประนีประนอมจะต้องรายงานศาล ดังนี้ การตกลงยินยอมในเรื่องที่ผิดต่อ กม. จึงไม่สามารถทำได้
3. เรื่องการย้ายนายพงศ์ปณต เนื่องจากนายพงศ์ปณตเป็นคู่กรณีกับหน่วยรับตรวจคือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการฟ้องคดีอาญากันหลายคดี ซึ่งมีคดีที่นายพงศ์ปณตเป็นจำเลยและศาลประทับรับฟ้องแล้ว การให้ตรวจมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่อไปจึงต้องห้ามตาม ม. 13 วิปฏิบัติ
สตง. จึงออกคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น แต่ยังมีการฝ่าฝืน จึงจำเป็นต้องย้ายนายพงศ์ปณตออกนอกพื้นที่ไว้ก่อน กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการกลั่นแกล้งแต่ประการใด
อนึ่งก่อนหน้านี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่เคยเรียกรับสินบนตามที่ นายพงศ์ปณต กล่าวอ้างแต่อย่างใด และไม่เคยมีนโยบายให้สตง.หยุดตรวจสอบปัญหาการทุจริต ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แต่อย่างใด และผลการตรวจสอบของสตง.ที่ผ่านมา ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถูกคำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พักการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
"ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ ลักษณะการทำงานของข้าราชการ สตง.รายนี้ ที่เข้าไปทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับหน่วยงานรับตรวจ จนเกิดคดีฟ้องร้องจำนวนมาก เมื่อขอให้ออกมาอยู่ข้างหลัง ไปต้องไปออกหน้า ส่วนจะตรวจสอบก็ตรวจสอบต่อไป เพื่อลดความขัดเแย้ง เจ้าตัวก็ไม่ยอม เมื่อถูกสั่งย้ายก็ไปเข้าใจเอาเองว่า ไปรับสินบนมา ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย เพราะแม้ข้าราชการรายนี้ จะถูกย้ายออกนอกพื้นที่ไปแล้ว สตง.ก็ยังจะตรวจสอบติดตามคดีนี้ต่อไปเหมือนเดิม"
ส่วนกรณีที่มีการนำข้อความไลน์ (line) เรื่องการสั่งย้ายนายพงศ์ปณต ไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ นั้น ผู้ว่าฯ สตง. ยอมรับว่า มีการส่งไลน์จริง เพราะปัจจุบันการบริหารงานของผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ก็มีการใช้ไลน์ส่งข้อความแจ้งคำสั่งงานกันภายในอยู่แล้ว
"แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ ที่มาของการออกคำสั่งคืออะไร ซึ่งกรณีนี้ หัวใจสำคัญคือ ผู้ตรวจสอบ ไม่ควรเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับหน่วยงานรับตัว จนกลายเป็นปัญหาส่วนตัว ควรดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนและข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้น ผลการตรวจสอบที่ออกมาจะไม่น่าเชื่อถือเพราะมีเรื่องอคติและคดีความส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง" ผู้ว่าฯ สตง.