บรอดแบนด์แห่งชาติ บทสรุปจากการประชุมระดับโลก
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ในการประชุม ITU Telecom World 2016 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลายประเทศได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในเรื่องการเข้าถึงบรอดแบนด์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมโลกสู่เป้าหมาย Connect 2020 โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประมาณว่า ในปัจจุบันมีประชากรโลกเพียง 3,500 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต อีกกว่า 3,900 ล้านคนยังไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ตเลย และเป้าหมายของ ITU คือการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับประชากรโลกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านคนในปี 2020 โดยมุ่งให้ร้อยละ 55 ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 60 ของประชากรได้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนพื้นที่ให้บริการบรอดแบนด์ต้องครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเขตชนบท และอัตราค่าบริการต้องลดลงเพื่อให้อยู่ในระดับที่ประชาชนทั่วไปจ่ายได้ โดยมีดัชนีเบื้องต้นว่า ค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมควรต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้เฉลี่ยในแต่ละเดือน
ผู้แทนจากกัมพูชา รายงานว่า ในปัจจุบันมีประชากรร้อยละ 40 เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และตั้งเป้าว่าในปี 2020 อัตราการเข้าถึงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 โดยต้องมีบริการบรอดแบนด์ครอบคลุมในเขตเมืองทั้งหมด และครอบคลุมร้อยละ 70 ในเขตชนบท ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นใยแก้วนำแสงใต้ทะเล ตลอดจนโครงข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่
ผู้แทนจากมาเลเซีย รายงานว่า ในปัจจุบันมีประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตร้อยละ 70 และตั้งเป้าว่าในปี 2020 อัตราการเข้าถึงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 95 โดยความเร็วของบริการบรอดแบนด์ในเขตเมืองต้องไม่ต่ำกว่า 100 Mbps และในเขตชนบทไม่ต่ำกว่า 20 Mbps ส่วนอัตราค่าบริการรายเดือนต้องไม่เกินร้อยละ 1 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากร
ผู้แทนจากสิงคโปร์ รายงานว่า แผนบรอดแบนด์แห่งชาติของสิงคโปร์ ก้าวข้ามพ้นเรื่องอัตราการเข้าถึงบริการไปแล้ว และมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์จากบรอดเแบนด์เพื่อเปลี่ยนแปลงประชาชนและเอกชนให้เข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยส่งเสริมการทดลองประกอบการใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงภายใต้สภาพ Regulatory Sandbox และมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เข้าถึงบรอดแบนด์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
จากการรายงานดังกล่าว เราจะเห็นระดับพัฒนาการของบริการบรอดแบนด์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เริ่มจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม การปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายให้ดียิ่งขึ้น และการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ
ในที่ประชุมมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงข่ายสาย แม้ว่าในปัจจุบันประชากรโลกเข้าถึงบรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายไร้สายมากกว่าก็ตาม เพราะแท้จริงแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเสาหลักของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตโลกคือโครงข่ายสาย ซึ่งรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาได้ดีกว่าโครงข่ายที่ใช้คลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว รัฐบาลจึงไม่ควรละเลยที่จะสนับสนุนการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสง และจากประมาณการของ ITU คาดว่า ในการเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรอีกกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกนั้น ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงจำเป็นที่รัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ และต้องมีมาตรการป้องกันการผูกขาดโครงข่ายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ทุกรายใช้งานโครงข่ายได้โดยไม่ถูกกีดกัน คือรัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนโครงข่ายที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล และสร้างการแข่งขันในตลาดการให้บริการบรอดแบนด์ให้เกิดขึ้นควบคู่กันให้ได้
และในอินเดียก็มีการพยายามหาแนวทางเพิ่มการเข้าถึงบรอดแบนด์ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวีซึ่งครอบคลุมกว่า 100 ล้านครัวเรือนอยู่แล้ว และการพัฒนาจุดให้บริการ Wi-Fi ทั่วประเทศเพื่อสร้าง National Wi-Fi Grid
นอกจากประเด็นเรื่องโครงข่ายแล้ว ความสำเร็จของการใช้ประโยชน์บรอดแบนด์เพื่อพัฒนาประเทศยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านบริการ คือการพัฒนาบริการหรือเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการภายในของแต่ละประเทศ รวมถึงเนื้อหาที่ใช้ภาษาของประเทศนั้นๆ (Relevant Local Content / Service) ซึ่งจะทำให้ประชาชนรับรู้ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าถึงบรอดแบนด์ได้จริง และต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยของโครงข่ายและบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ สำหรับปัจจัยด้านผู้บริโภคนั้น จะต้องมีการพัฒนาทักษะการใช้งานและการเท่าทันโลกดิจิทัล และสร้างความตระหนักถึงภาระหรือค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้ไม่ใช้บริการบรอดแบนด์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้บริการ
ผู้แทนจาก Internet Society ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนมาตรฐานอินเทอร์เน็ตโลกได้เน้นย้ำถึงผลสำรวจในประเทศแถบเอเชียว่า ประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมากที่สุดเมื่อพูดถึงอินเทอร์เน็ต คือการเข้าถึงบริการและความปลอดภัยของบริการ ในที่ประชุมเห็นว่า ความปลอดภัยในโลกออนไลน์นั้นต้องจัดการในหลายระดับ ได้แก่ ในระดับนโยบายที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ระดับเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยให้ทันสมัย และที่สำคัญคือระดับการใช้งาน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องลงมือถึงจะเห็นความสำเร็จได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุค Internet of Things และ Big Data ซึ่งความปลอดภัยคือเสาหลักที่ขาดไม่ได้
สำหรับผู้ประกอบการ มีการระบุถึงการลงทุนจากภาครัฐร่วมกับเอกชน เนื่องจากโครงข่ายระดับชาติต้องการเงินลงทุนมหาศาล รวมถึงการจัดการปัญหาสิทธิแห่งทาง (ในการปักเสา เดินสาย หรือวางท่อ) และความชัดเจนแน่นอนของกฎระเบียบ เพื่อให้สามารถวางแผนธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ
โดยสรุปแล้ว ในอนาคตบรอดแบนด์คือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคม ไม่ต่างจากไฟฟ้า ถนนหนทาง และน้ำประปา การวางแผนบรอดแบนด์ต้องมองทั้งระบบนิเวศน์ ซึ่งมีทั้งในภาคธุรกิจโทรคมนาคม และภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงรัฐและประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและใช้งาน และมุ่งหวังถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ยุคดิจิทัล การสร้างการแข่งขันในตลาดบริการบรอดแบนด์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค การมีบริษัทโครงข่ายที่เป็นกลางอาจเป็นคำตอบ รวมถึงการกำหนดให้อาคารหรือหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ มีหน้าที่วางสายภายในเพื่อรองรับการเชื่อมต่อจากผู้ให้บริการรายใดก็ได้เพื่อป้องกันการผูกขาดบริการทั้งหมดโดยผู้ให้บริการรายเดียว
แม้ว่าตัวเลขการลงทุนบรอดแบนด์จะสูงมาก แต่หากคำนวณค่าเสียโอกาสของประเทศจากการไม่มีบริการบรอดแบนด์ที่ทั่วถึง รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันหาทางออกที่เหมาะสม
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.smilguide.com