นักนิติศาสตร์ ยันม.12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ ไม่ใช่การุณฆาต ที่เร่งการตาย
นักนิติศาสตร์ย้ำ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ เป็นสิทธิการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การุณฆาต ระบุชัดสิทธิการตายตามธรรมชาติ มาตรา 12 ไม่ยื้อ ไม่ทิ้งผู้ป่วย แต่ใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองจนวาระสุดท้าย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมเสวนา ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อสร้างการรับรู้ของสังคมในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้าย โดยภายในงาน พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถา ‘สร้างสุขที่ปลายทางภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน’ ตอนหนึ่งถึงเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตว่า การตายอย่างสงบ สง่างาม สมศักดิ์ความเป็นมนุษย์ ตายอย่างธรรมชาติเมื่อถึงวาระอันควร หรืออาจจะเรียกว่า การตายดีนั้น จะต้องมีการเตรียมตัวตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิต
ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า การตายดีจึงเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ เพราะเป็นการตายอย่างธรรมชาติ แต่ในยุคปัจจุบันที่วิทยาการการแพทย์เจริญอย่างมาก สามารถช่วยยื้อชีวิตคนเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการที่ครอบครัวไม่อยากเห็นคนที่เรารักจากไปง่ายๆ จึงทุ่มเททั้งเครื่องไม้ เครื่องมือ บุคลากร ยารักษาโรค เพื่อให้ผู้ป่วยยังมีลมหายใจ แม้ผู้ป่วยบางรายจะอยู่ในสภาพผักถาวรก็ตาม ทั้งนี้โดยส่วนตัวเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากทรมาน และสิ่งที่ติดตามมาคือ ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา บางครั้งใบเสร็จออกมาหมายถึงเงินออมทั้งชีวิต ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความโหดร้ายอย่างหนึ่ง
พลเรือเอกณรงค์ กล่าวถึงการตายดี หรือการสร้างสุขที่ปลายทางนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายมาตรา 12 ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ให้แสดงเจตนาล่วงหน้าว่า ไม่ต้องการการรักษาที่ยื้อชีวิตในวาระสุดท้ายเกิดความจำเป็น เช่น สอดไส้สายระโยงรยางค์เกิดความจำเป็น แต่จะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบครัวต้องเข้าใจ ขณะที่ในทางการแพทย์ก็จะมีต้องมีการพัฒนาการรักษาให้เหมาะสมอย่างไร
ขณะที่ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในช่วงเสวนาหัวข้อ ‘ไม่ต้องใช้ ม.44 เรามี ม.12’ ถึงมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงเจตนาการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า กฎหมายนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการรักษา เดิมเมื่อผู้ป่วยอยู่ในช่วงวาระสุดท้าย และครอบครัว เครือญาติมีความเห็นไม่ตรงกัน มักเกิดปัญหาว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในสังคมไทย จีนที่อยู่กันแบบเครือญาติจะมีความยากกว่าฝรั่ง ที่ฟังคู่สมรส ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเขียนหนังสือแสดงเจตนา (Living will) ไว้ก็ช่วยได้มาก
“ที่ผ่านมาสังคมไทย เมื่อพูดถึงมาตรา 12 คนส่วนใหญ่จะคิดไปว่าคือการการุณยฆาต แต่ความจริงแล้วมาตรา 12 เป็นเรื่องการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การุณยฆาตที่เร่งการตาย เช่น ฉีดยาหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ตาย ขณะเดียวกันการไม่ยื้อ ปล่อยให้ตายตามธรรมชาติ ก็ไม่ใช่การทิ้งผู้ป่วย แต่จะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยไปอย่างสงบ” ศ.แสวง กล่าว และว่า สำหรับการุณยฆาตนั้น ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้ทำและมีกฎหมายรองรับ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลน เบลเยี่ยม และบางมลรัฐในอเมริกา
ศ.แสวง กล่าวถึงการทำ Living will ว่า กรณีผู้แสดงเจตนาจะทำแล้วเปลี่ยนใจฉีกทิ้ง หรืออยากเพิ่มเติมเนื้อหาเขียนหลายฉบับก็สามารถทำได้ เพราะสุดท้ายกฎหมายดูที่ฉบับสุดท้ายอยู่ดี ส่วนกรณีแพทย์บางรายกลัวว่า ถ้าไม่ทำตาม Living will จะมีความผิดหรือไม่ ซึ่งเคยมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นเช่นกันคือ แพทย์รักษาใส่ท่อไปแล้วมารู้ภายหลังการว่ามี Living will ระบุไว้ว่าไม่ต้องการ ตรงนี้ไม่ใช่ความผิด และเมื่อแพทย์รู้แล้วก็เดินหน้าตามเจตนา ค่อยๆ ปล่อยผู้ป่วยไปอย่างสงบ ฉะนั้นจะเห็นว่า Living will ต้องคู่กับการรักษาแบบประคับประคอง ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดผล
“ส่วนที่คนชอบถามกันมากว่า ยื้อก็ทรมาน ปล่อยก็ทรมาน คำตอบคือไม่ได้ยื้อ ไม่ได้ปล่อย เพราะจะมีการรักษาแบบประคับประคองจนวาระสุดท้าย”