เปิดชื่อเจ้าหนี้CTH 2.1หมื่นล.'วิชัย ทองแตง' มากสุด1.7หมื่นล.-จับตาปฏิบัติการ 'เจ๊ง&เจ๊า'
"..บริษัทในฐานะลูกหนี้คดีนี้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 ลูกหนี้มีสินทรัพย์จำนวน 9,909,365,712.83 บาท และลูกหนี้มีหนี้สินประกอบ ไปด้วยเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น มากถึงจำนวน 21,459,636,049.90 บาท โดยจำนนวนหนี้สินที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ประกอบด้วย หนี้สินค้างชำระเจ้าหน้าที่หลายราย ทั้งที่ เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้อื่น ๆ รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืม คิดเป็นจำนวน 97 ราย ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว.."
"ได้พยายามประคับประคองการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่อย่างสุดความสามารถเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็มิอาจทนต่อสภาวการณ์ในสภาวะปัจจุบันได้ จึงได้ตัดสินใจขอหยุดผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมืองตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป"
คือ ข้อความสำคัญในประกาศของ บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด (เจ้าของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง) ที่แจ้งถึงพนักงานทุกคน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2559 อันนำมาซึ่งการเปิดตำนาน หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งของเมืองไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการแสดงออกซึ่งความรู้สึกเสียใจ ของคนในแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนหลายคน
และนับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้อย่างชัดเจน
(อ่านประกอบ : ประคองสุดความสามารถแล้ว! ‘บ้านเมือง’ หยุดผลิต นสพ. 1 ม.ค. 60-เลิกจ้าง พนง.)
ย้อนกลับมาดู 'สื่อทีวีดิจิทัล' ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฎข่าวการยุติเลิกกิจการให้เห็นอย่างต่อเนื่องอยู่เช่นกัน ไล่เลียงมาตั้งแต่ 'คลื่นซี้ด' ที่เมื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ออกประกาศแจ้งยกเลิกกิจการ บริษัท ซี้ดเอ็มคอท จำกัด ที่บริหารคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz เป็นทางการไปแล้ว โดยระบุว่า ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจากการลดลงของรายได้ต่อเนื่อง เป็นผลจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม แตกต่างจากสถานีวิทยุที่ บมจ.อสมท ดำเนินการเองที่ยังสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงพิจารณาเห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดำเนินกิจการต่อไปได้ และจะนำคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz มาบริหารเอง
(อ่านประกอบ : โชว์ตัวแดง37ล.!ถุงเงิน'คลื่นซี้ด' ก่อน 'อสมท' เลิกกิจการ-หนีตายขาดทุนสิ้นปี 700ล.)
ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง มีเดีย 84 ของ บริษัท มีเดีย ซีน จำกัด ก็ประกาศยุติงานด้านการออกอากาศเป็นทางการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 เป็นต้นไปเช่นกัน
ส่วนความคืบหน้ากรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2559 บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี นายวิชัย ทองแตง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีหนี้สินล้นพันตัว กว่า 21,459,636,049.90 บาท โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้อง เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2559 และนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และแจ้งให้เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเพื่อคัดค้านคำร้อง โดยให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 3 วัน
โดยในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ดังกล่าว ระบุว่า ณ วันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนี้ ผู้ร้องขอมีกรรมการจำนวน 8 คน คือ นายธนา ทุมมานนท์ นายอัครเดช ศุภมหิธร นายอมฤต ศุขะวณิช นายเมธินทร์ สมนึก นายพิพัฒน์ อินทร์พงษ์พันธุ์ นางสาวโชติกา โยควิบูล นายไชยกร บุญลพาภัทร์ และนายภูษณ ปรีย์มาโนช มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเคเบิลทีวี ให้บริการระบบบอกรับสมาชิก และลงทุนในนิติบุคคลแห่งอื่น
และแจ้งต่อศาลว่า บริษัทในฐานะลูกหนี้คดีนี้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 ลูกหนี้มีสินทรัพย์จำนวน 9,909,365,712.83 บาท และลูกหนี้มีหนี้สินประกอบ ไปด้วยเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น มากถึงจำนวน 21,459,636,049.90 บาท
โดยจำนวนหนี้สินที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ประกอบด้วย หนี้สินค้างชำระเจ้าหน้าที่หลายราย ทั้งที่ เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้อื่น ๆ รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืม คิดเป็นจำนวน 97 ราย ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว คิดเป็นเงินจำนวน 21,458,322,859.81 บาท
(อ่านประกอบ : รับสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว 2.1 หมื่นล.! 'ซีทีเอช' ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า รายชื่อเจ้าหนี้ CTH จำนวน 97 ราย วงเงินรวม จำนวน 21,458,322,859.81 บาท (ณ วันที่ 31/08/2559) สามารถแยกเป็นกลุ่ม ได้ดังนี้
1. กลุ่มนายวิชัย ทองแตง จำนวน 8 ราย รวม 17,609.2 ล้านบาท (82.0%)
- นายวิชัย ทองแตง 15,857 ล้านบาท
- นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล 774.8 ล้านบาท
- บริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด 1 ล้านบาท
- บริษัท ซีทีเอช คอนเทนท์ จำกัด 5.4 ล้านบาท
- บริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด 108.4 ล้านบาท
- บริษัท ซีทีเอช จี-มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 7.1 ล้านบาท
- บริษัท ซีทีเอช เมมเบอร์ จำกัด 785.8 ล้านบาท
-บริษัท ซีทีเอช ฮาร์ดแวร์ จำกัด 69.7 ล้านบาท
2. กลุ่มสถาบันการเงิน จำนวน 4 ราย รวม 3,007.3 ล้านบาท(14.0%)
- ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2,911.5 ล้านบาท
- บริษัท ซิสโก ซีสเต็มส์ แดพปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด 73.0 ล้านบาท
- บริษัท เอชพีเอฟเอ็มลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 19.4 ล้านบาท
- กรุงไทยธุรกิจลิสซิ่ง จำกัด 3.4 ล้านบาท
3. กลุ่มเอกชนรายใหญ่ จำนวน 9 ราย รวม 497.5 ล้านบาท (2.3%)
- บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั้น จำกัด (มหาชน) 10.8 ล้านบาท
- บริษัท ซิสเต็ม แอ๊ดไวเซอร์ กรุ๊ป จำกัด 77.9 ล้านบาท
- บริษัท โซโนม่า จำกัด 1 ล้านบาท
- บริษัท มิน่าดิจิตอล มีเดีย แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด 300.2 ล้านบาท
- บริษัท ยูเซ็น โลจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 1.0 ล้านบาท
- บริษัท ริโก้ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด 6.3 ล้านบาท
- บริษัท สปอร์ตมาสเตอร์ จำกัด 1.3 ล้านบาท
- บริษัท อีซี่ โซลูชั้น จำกัด 71.9 ล้านบาท
- บริษัท เอเซีย บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 27.1 ล้านบาท
4. กลุ่มส่วนราชการ จำนวน 5 ราย รวม 337.0 ล้านบาท (1.6%)
- กรมสรรพากร 161.6 ล้านบาท
- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 159.3 ล้านบาท
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 10.8 ล้านบาท
- การไฟฟ้านครหลวง 1.3 ล้านบาท
- กสทช. 4 ล้านบาท
5. กลุ่มรายย่อยอื่นๆ จำนวน 71 รายรวม 7.3 ล้านบาท (0.1%)
หากพิจารณาข้อมูลรายชื่อเจ้าหนี้ทั้ง 97 ราย ของ CTH จะพบว่า มีรายชื่อของ นายวิชัย ทองแตง ผู้ถือหุ้นใหญ่รวมอยู่ด้วย และวงเงินหนี้ที่แจ้งไว้ก็มีจำนวนสูงสุด คือ 15,857 ล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้าที่ นายวิชัย ทองแตง จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับ CTH นั้น เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า การเข้ามาสู่ธุรกิจสื่อของเขา มาจากความบังเอิญ เนื่องจากบังเอิญเขามีส่วนเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาพี่น้องเคเบิ้ลทั่วประเทศ เพราะพวกเขาประสบปัญหาเลยเชิญ นายวิชัย มาเป็นที่ปรึกษา
" พอเขาเดือดร้อนด้านการเงินเราก็อดไม่ได้ที่จะช่วย เลยคิดว่า ถ้าใส่เงินลงไปจะได้คืนไหม เลยนั่งคุยกันเลยคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ สำหรับบริษัท เคเบิ้ล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH เพราะต่อไปการแข่งขันจะเข้มมากขึ้น และห้วงเวลานั้นเข้มข้นมากในเรื่องการจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล การมี กสทช. เป็นตัวกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้บริษัทเคเบิ้ลทั้งหลายต้องปรับตัว ไม่งั้นจะตกในภาวะกดดันและถดถอย เมื่อเขาประชุมกันแล้ว ก็เลยชวนผมเข้าไปถือหุ้นด้วย"
ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแรงและมั่นคงมากยิ่งขึ้น นายวิชัย จึงได้ไปเชิญ พาร์ทเนอร์หลายคนเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทเพิ่มเสริมทัพ และเส้นสายทางธุรกิจสื่อ
ขณะที่เป้าหมายทางธุรกิจ ของ CTH ที่วางไว้ ก็ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการเพิ่มฐานลูกค้า ให้ได้ 10 ล้านครัวเรือนภายใน 3 ปี นับจากเริ่มทำธุรกิจ และมีแผนจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย
"โมเดลของเราคือ เพิ่มรายได้ทุกปี และให้แตะหลักหมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี ส่วนจะกี่หมื่นล้านยังไม่บอกตัวเลข เรากำลังทำงานอยู่ ถึงวันที่เข้าตลาดน่าจะเป็นบริษัทในตลาดที่นักลงทุนให้ความสนใจ" นายวิชัยระบุ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแผนธุรกิจที่นายวิชัย วางไว้จะไม่ประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจ โดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการทางธุรกิจ ที่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้กว่าหมื่นล้านบาทในปี 2558 หรือราวต้นปี 2559 นั้น
ปรากฏว่า ตัวเลขผลประกอบการปี 2556 ขาดทุนสุทธิกว่า 3.2 พันล้านบาท และนำไปสู่การประกาศยุติการให้บริการแก่ลูกค้าโดยลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป (อ่านประกอบ: อวสาน 'CTH' ยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลไทย ก้าวพลาดทางธุรกิจของ 'วิชัย ทองแตง') และตามมาด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีหนี้สินล้นพันตัว กว่า 21,459,636,049.90 บาท ตามที่ปรากฎเป็นข่าว
ด้วยข้อมูลชุดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ในบรรดารายชื่อเจ้าหนี้ของ CTH นอกเหนือจากชื่อนายวิชัย แล้ว ยังมีรายชื่อของบุคคล เอกชนชื่อดัง รวมถึงสถาบันการเงินในฐานะพันธมิตรรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก
เมื่อแผนธุรกิจที่ตั้งไว้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คิด และบริษัทประสบปัญหาการขาดทุนเป็นอย่างมาก จนมีหนี้สินล้นพันตัว ปฏิบัติการติดตามเอาเงินทุนที่ลงไว้คืนกลับมาของ นายวิชัย และพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหลายมูลค่าสูงถึงกว่าหมื่นล้านบาท จึงเกิดขึ้นตามที่เห็น
ส่วนผลการดำเนินการกู้วิกฤต ของ CTH จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไป
แต่งานนี้บรรทัดสุดท้าย ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีคำว่า 'กำไร' มีแค่ 'เจ๊ง' กับ 'เจ๊า' เท่านั้น
อ่านประกอบ :
รับสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว 2.1 หมื่นล.! 'ซีทีเอช' ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ
อวสาน 'CTH' ยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลไทย ก้าวพลาดทางธุรกิจของ 'วิชัย ทองแตง'
เปิดรายได้ล่าสุด 'CTH' ยักษ์ใหญ่บอลพรีเมียร์ฯ 2.6 พันล.ขาดทุนสะสม7.9 พันล.
สำรวจอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลล่าสุด "GMM-MONO-AMARIN" ขาดทุน"ตัวแดง" พรึบ!
"วอยซ์ทีวี" โชว์รายได้ดิจิทัลปีแรก 117ล. ขาดทุน 310 ล้าน หลังใส่เงินเพิ่มพันล.