นี่แหละคือความกดดัน สำรวจพบผู้บริหารระดับต้น-หน.งาน อัตราการลาออกสูงสุด
เอออน ฮิววิท สำรวจเทรนด์ค่าตอบแทนและสวัสดิการในประเทศไทย ประจำปี 2559 พบอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้นตามหน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานระดับผู้บริหาระดับต้น-หัวหน้างาน ลาออกสูงสุดถึง 14%
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 นายภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน หุ้นส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอออน ฮิววิท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนาผลการสำรวจการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการในประเทศไทย ประจำปี 2559 (Total Compensation Measurement (TCM) Study and Benefit Survey 2016) โดย เอออน ฮิววิท บริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ให้บริการและคำปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลรวม ภายใต้แบรนด์ เอออน (Aon plc.) ถึงผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากการสำรวจ พบว่า เทรนด์ค่าตอบแทนและสวัสดิการในประเทศไทย ประจำปี 2559 อัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้นตามหน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น, พนักงานระดับผู้บริหาระดับต้นและหัวหน้างานมีอัตราการลาออกสูงสุด อยู่ที่ 14%
"ค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสในปี 2016 คือ 2.6 เดือน ซึ่งมากกว่าปี 2015 ประมาณ 4.5% โดยผลการปฏิบัติงานยังคงเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเรื่องเงินเดือน"
นายภาณุวัฒน์ กล่าวถึงประเด็นคือพนักงานในระดับผู้บริหารระดับต้นและหัวหน้างานมีอัตราการลาออกสูงสุดเมื่อเทียบกับระดับงานอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความกดดันที่มีมากขึ้นตามหน้าที่รับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการทีม ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเฉลี่ยการจ่ายโบนัสสำหรับระดับพนักงานระดับต้นและผู้บริหารระดับกลางอยู่ที่ประมาณ 18% ของเงินเดือน ซึ่งคิดเป็น 3.6 เดือนโดยประมาณ โดยตัวเลขดังกล่าวอาจมีความแตกต่างกันสำหรับพนักงานแต่ละคน ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ซึ่งยิ่งเป็นความท้าทายหลักของหัวหน้างานและผู้บริหารระดับต้นที่เพิ่งมารับภาระงานที่หนักขึ้นกว่าเดิม
"อัตราการลาออกในระดับผู้บริหารทีมแบบนี้เป็นสัญญาณเอนให้นายจ้างปรับนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนที่เน้นการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร (retention) มากขึ้น และสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าการเน้น pay-for-performance คือทำอย่างไร องค์กรจึงจะสามารถเตรียมพร้อมพนักงานกลุ่มนี้เพื่อให้สามารถรับมือกับบทบาทในเชิงบริหารทีมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสาเหตุการลาออกอยู่ที่ตำแหน่งงานที่อื่นน่าสนใจกว่าและโอกาสการเติบโตมีจำกัด การให้ความสำคัญกับโปรแกรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้นำจากภายใน และสามารถจ่ายค่าตอบแทนได้อย่างเหมาะสม"
สำหรับ ข้อค้นพบอื่น ๆ จากการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการในประเทศไทย ประจำปี 2559 ได้แก่:
- ค่าเฉลี่ยโบนัสอยู่ที่ 22% ของฐานเงินเดือน เพิ่มขึ้นประมาณ 4% จากปี 2015
- ธุรกิจการค้าปลีกและธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์มีอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 6% ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีอัตราการขึ้นเงินเดือนที่น้อยที่สุดที่ 4.7% เท่านั้น
- อัตราการจ่ายค่าตอบแทนแบบแปรผัน (Variable Pay) อยู่ที่ 15% ในระดับสนับสนุน (Support Level) 18% ในระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร และ 20% ในระดับผู้บริหารระดับสูง
-72.2% ของบริษัทที่ทำการสำรวจให้รางวัลตอบแทนผลการปฏิบัติงานรายบุคคล และ 38.9% มีการให้รางวัลพิเศษเพื่อเป็นวิธีในการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร
- 43% ของบริษัทมีโปรแกรมการบริหารการเงิน (Financial Wellness) ในรูปของสวัสดิการสำหรับพนักงานในทุกระดับ
- งบประมาณรวมของสวัสดิการคิดเป็น 11% ของงบเงินเดือนทั้งหมด โดยค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก (medical outpatient) เป็นงบก้อนใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้ โครงการการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการของเอออน ฮิววิท ครอบคลุมข้อมูลด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการใน 180 ประเทศ กว่า 715 ตำแหน่งงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ในประเทศไทยมีการทำการสำรวจเป็นประจำทุกปี ในช่วงระหว่างเดือน เมษายน ถึง กรกฎาคม โดยในปี 2559 นี้ มีองค์กรเข้าร่วมสำรวจทั้งหมด 174 องค์กรจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม