ศราวุฒิ อารีย์ : การต่อสู้กับจิตใจ และกฎการทำศึกของอิสลาม
แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนว่าใครคือผู้ลงมือลั่นไกสังหาร น.ส.รัตติกาล จ่าวัง หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด เสียชีวิตพร้อมลูกในท้อง ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.59
แต่ทิศทางการสืบสวนสอบสวนของตำรวจก็ให้น้ำหนักไปที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยนัยย่อมหมายถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็คือคนมลายูมุสลิมในพื้นที่
แต่ไม่ว่าผู้ก่อเหตุอุกอาจนี้จะนับถือศาสนาใด หรือไม่มีศาสนา การกระทำที่เหี้ยมโหด ฆ่าได้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ ย่อมไม่มีใครยอมรับได้ และพฤติการณ์เช่นนี้ผิดหลักศาสนาทุกศาสนาอย่างแน่นอน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แท้ที่จริงแล้วการต่อสู้ที่ใช้อาวุธเป็นวิธีการสุดท้ายของอิสลาม และกฎของศาสนาห้ามฆ่าเด็ก สตรี และคนชรา
“โลกของอิสลามมีวิธีการต่อสู้หลากหลายวิธี ส่วนใหญ่แล้วการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง ส่วนการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นวิธีการสุดท้ายในอิสลาม”
“นอกจากนั้น เวลาเกิดศึก อิสลามมีกฎในการทำศึกว่าจะฆ่าสตรี เด็ก หรือคนชราไม่ได้ แม้แต่สิ่งแวดล้อมเองก็ไม่สามารถทำลายได้ เพราะฉะนั้นในศาสนาอิสลามมีกฎการทำศึกที่ค่อนข้างเข้มงวดในแง่ที่ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน คือทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุด”
“สำหรับเหตุการณ์ยิงผู้หญิงท้อง ตอนนี้เรายังไม่ทราบว่าใครเป็นคนก่อเหตุ แต่ผู้ที่กระทำต้องถือเป็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง ผิดหลักทั้งกฎหมายสากลและกฎหมายอิสลาม เหมือนอย่างที่พูดว่าการทำศึกในอิสลามนั้นทำได้ แต่ต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายหลังจากเครื่องมืออื่นๆไม่สามารถทำงานได้แล้ว และการทำศึกในศาสนาอิสลามมีกฎเข้มงวดมาก ในลักษณะของการห้ามไปเข่นฆ่าหรือทำลายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี คนชรา เด็ก รวมถึงสิ่งแวดล้อม”
“วิธีการที่ใช้ในการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างเปลี่ยนรูปแบบไปมาก เพราะถ้าหากเรามองย้อนกลับไป เราจะเห็นได้ว่ากองกำลังผู้ก่อความไม่สงบจะพุ่งเป้าไปที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่าการใช้ความรุนแรงพุ่งเป้าไปที่พลเรือน เป็นลักษณะของการก่อความรุนแรงในแง่ของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นไปทั่ว การใช้วิธีรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือนนี้ จะทำให้ฝ่ายผู้กระทำการเสียความชอบธรรมทางการเมือง”
“เราจะเห็นได้ว่าในหลายพื้นที่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางหรือดินแดนที่เกิดความไม่สงบ เวลาที่ผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้ก่อความรุนแรงใช้วิธีการก่อการร้าย จะไม่ได้รับความชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสของการต่อต้านการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 911 จะเห็นได้ว่าประชาคมโลกค่อนข้างจะตื่นตัวกับเรื่องของการก่อการร้าย ฉะนั้นการใช้วิธีการฆ่าผู้หญิง ฆ่าเด็กอย่างที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และผู้นำของศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ ผมเข้าใจว่าได้ออกมาประณามการใช้วิธีการเช่นนี้”
ดร.ศราวุฒิ มองว่า ข้อสังเกตจากบางฝ่ายที่ชี้ว่ารูปแบบการโจมตีที่เกิดขึ้น ขับเคลื่อนความรุนแรงด้วยความเกลียดชัง ถือว่าน่ากังวล และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน
“เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ลอบยิงลอบฆ่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือเด็ก หรือแม้แต่พระ เรื่องแบบนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธในพื้นที่ จริงๆ แล้วปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนไม่ดี ไม่ว่าจะระหว่างศาสนา หรือระหว่างนิกายอะไรต่างๆ มันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น”
“เพราะฉะนั้นนับจากนี้ต่อไป การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิมก็ดี คนพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี จะต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มแนบแน่น ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเลวร้ายลงกว่าเราเห็นกันในปัจจุบัน”
ดร.ศราวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขต ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลใด ถือเป็นความรุนแรงที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันประณาม เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนแอ ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้เป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ด้วย ศาสนาอิสลามไม่ยอมรับ และถ้ามองกันในเชิงของมนุษยธรรมก็เชื่อว่าขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากลอย่างร้ายแรง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากสถานีโทรทัศน์ NOW26