รสนา ร้อง คตง. สอบ ปตท. ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่-รัฐเสียหายสัดส่วนเจ้าของลด
'รสนา' ลุยยื่นหนังสือ ถึง ปธ.คตง. -ผู้ว่าฯ สตง. รอบใหม่ ขอให้ตรวจสอบมติเห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ปตท. ชี้ประเด็นทำให้รัฐเสียหาย ส่วนการเป็นเจ้าของลดลง จี้เกาะติดคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้ทำหนังสือถึง ประธานกรรมการตรวเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบมติเห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)
ระบุว่า เนื่องด้วยคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก่อนที่จะนำหุ้นสามัญ PTTOR เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย บมจ.ปตท.จะถือหุ้นในบริษัทนี้ไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อไม่ให้บริษัทใหม่นี้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น
ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนไทยที่มีหน้าที่รักษาประโยชน์ของแผ่นดิน มีความเห็นเกี่ยวกับมติคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ข้างต้น ดังนี้
1. มติดังกล่าวที่มีความประสงค์ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้รัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของกิจการใหม่ PTTOR ลดลง ซึ่งธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นธุรกิจที่มีกำไรที่แน่นอนมาจากโครงสร้างราคาขายน้ำมันในประเทศส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นกำไรจากการค้าปลีกอื่นในสถานีจำหน่ายน้ำมัน เช่น กาแฟ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการประกอบการที่ผ่านมาจะพบว่ามีกำไรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อมติดังกล่าวกำหนดให้รัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของลดลง กล่าวคือ บมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51 เดิมถือหุ้นใน บริษัท PPTOR ร้อยละ 100 แต่เมื่อทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.ปตท.จะถือหุ้นในบริษัท PPTOR ไม่เกินร้อยละ 50 ทำให้รัฐถือหุ้นในบริษัท PPTOR เพียงร้อยละ 25 (โดยประมาณ) ย่อมทำให้ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่โอนไปและรายได้หรือกำไรที่จะเข้ารัฐลดลงด้วย จึงถือได้ว่ามติดังกล่าวทำให้รัฐได้รับความเสียหาย จากการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและรายได้ที่พึงได้รับจากการดำเนินกิจการ
2. การโอนย้ายสินทรัพย์ตามมติดังกล่าวซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เปิดเผยว่ามีสินทรัพย์ใดบ้างนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าใน 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 สินทรัพย์หรือทรัพย์สินที่โอนไปตามมูลค่าทางบัญชีอาจจะไม่ใช่มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง แต่เป็นมูลค่าที่น้อยกว่าความเป็นจริง ดังมีตัวอย่างให้เห็นเป็นประจักษ์ในอดีต การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โอนทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติในมูลค่าทางบัญชีประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท ไปให้แก่ บมจ. ปตท. ในปี พ.ศ. 2544 แต่ในปี พ.ศ. 2552 บมจ.ปตท.ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นใหม่ (re-value) มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ทั้งที่ทรัพย์สินนั้นมีการหักค่าเสื่อมลงทุกปีและไม่มีการลงทุนเพิ่ม แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินนั้น แต่ความเป็นเจ้าของของรัฐ (กระทรวงการคลัง) ขณะเป็น ปตท.รัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ 100 แต่เป็น บมจ.ปตท.รัฐเป็นเจ้าของเพียงร้อยละ 51 เท่านั้น ดังนี้จะเห็นได้ว่าการโอนทรัพย์สินตามมูลค่าทางบัญชี ขณะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจไม่ใช่การโอนทรัพย์สินตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น มีข้อพิจารณาว่าเป็นการโอนทรัพย์สินที่เจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์สินของรัฐที่มีไปให้แก่เอกชนโดยมิชอบหรือไม่ และโดยมูลค่าทรัพย์สินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ย่อมทำให้รัฐเสียหาย เสียประโยชน์ที่แท้จริงในมูลค่าทรัพย์สินนั้น
ประเด็นที่ 2 เนื่องจากสานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มติ คตง.) วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและปฏิบัติตามมติ คตง. ที่ว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสาคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสาคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ผู้เกี่ยวข้องยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และยังมิได้ปฏิบัติ มติ คตง.ให้ถูกต้องครบถ้วน จึงมีเหตุอันควรให้คิดไปได้ว่า การมีมติดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมติ คตง.หรือไม่
นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าสินทรัพย์ที่โอนไปนั้นเป็นทรัพย์สินที่ บมจ.ปตท.โอนไปให้ PTTOR โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด เพราะในอดีตการโอนทรัพย์สินจาก ปตท. ไปให้ บมจ.ปตท.ก็เคยทำการโอนทรัพย์สินผิดพลาดมาก่อนแล้วจนเป็นปัญหาถกเถียงกับหลายหน่วยงานดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันว่า บมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินให้แก่รัฐครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพียงใด
3. การที่มติข้างต้นกำหนดให้บริษัท PPTOR ไม่ให้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาว่า มีความประสงค์จะหลีกเลี่ยงการบริหารงานแบบรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนการบริหารภายใน ทั้งด้านการใช้จ่ายและด้านบุคลากร การจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายแต่อย่างใด ตลอดรวมถึงการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบขององค์กรอิสระ หรือองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ เช่น สตง., สานักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น
4. การที่มติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะลดรายได้หรือกำไรที่จะนำสู่รัฐ เร่งรีบให้มีการโอนสินทรัพย์และหนี้สิน หลีกเลี่ยงการทำงานในระบบรัฐวิสาหกิจ และการตรวจสอบจากองค์การต่าง ๆ ย่อมมีข้อพิจารณาว่าเป็นการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเข้าข่ายการฟอกเงิน ทำให้ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ (เหมือนกับที่ ปตท.โอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปให้ บมจ.ปตท.โดยมิชอบและต้องโอนคืนให้แก่รัฐ แต่ปัจจุบัน บมจ.ปตท.ยังคืนไม่ครบถ้วนตามมติ คตง.) เปลี่ยนสถานะมาเป็นทรัพย์สินที่ดูเสมือนว่าชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นการกระทำที่มีข้อพิจารณาว่ามีเจตนาในการทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง แสวงประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐ และรายได้ของรัฐหรือไม่ ซึ่งจำต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนที่อยู่รวมกันในประเทศและนานาชาติ
ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนมาข้างต้น ขอท่านได้โปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบ มติคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก่อนที่จะนำหุ้นสามัญ PTTOR เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้โปรดมีคำสั่งอย่างใด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ของแผ่นดินต่อไป