สู่ไทยแลนด์ 4.0 นักวิจัย มธบ. จี้เพิ่มแรงงานที่มีทักษะให้ได้ 12 ล้านคน ภายใน 5 ปี
สสค.จัดประชุมวิชาการ "การยกระดับกำลังคนของไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 นักวิจัย มธบ. เสนอโมเดล 3 ประสาน เร่งเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ จากเดิม 5.47 เป็น 18.28 ล้านคน ขณะที่อาจารย์ ม.มหิดล ตั้งโจทย์ทำอย่างไรให้ผู้เรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาช่วง ม.1-ม.3 มีทักษะอาชีพ-มีอาวุธติดมือ เพื่อนำไปใช้ทำงานได้ ผู้เชี่ยวชาญอาวุทโส ธ.แห่งประเทศไทย ชี้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประชุมเชิงวิชาการ "การยกระดับกำลังคนของไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 " ณ ห้องป.1 สสค. ชั้น 13 อาคารเอส.พี. ถ.พหลโยธิน
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การสอนคนต้องสอน 3 อย่าง คือ 1.ความรู้ ให้คนมีสติ ปัญญา ฉลาด 2.คุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้คนเป็นคนดีของสังคม 3.การสอนอาชีพ เพื่อให้คนออกไปประกอบอาชีพได้ โดยปัจจุบันการใฝ่รู้ของเด็กค่อนข้างที่จะน้อย ควรสอนให้เด็กคิดแก้ปัญหาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ คือเป็นเหตุเป็นผล รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และบูรณาการตัดสินใจใช้ทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ใช่คิดแบบไสยศาสตร์อาศัยการดูดวง โชคชะตา สิ่งนี้ต้องให้แนวคิดกับเด็กยุคใหม่ อีกอย่างที่ควรสอน คือ ความคิดสร้างสรรค์
"ไทยแลนด์ 4.0 จะเปลี่ยนจากการแสวงหารายได้ที่ทำมากได้น้อย กลายเป็นทำน้อยได้มาก การที่จะทำน้อยได้มากนั้นสำคัญที่สุดคือจะต้องอาศัยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน อีกข้อที่มีความสำคัญมากจะทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามคำว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ ซึ่งไทยติดกับดักนี้มานาน 20-30 ปี คือเรื่องเชิงธุรกิจและการประกอบการ"
ดร.ประชาคม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กที่เรียนอยู่ในสถาบันต่าง ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจและการประกอบการน้อยมาก ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ สอนเด็กให้เป็นชาติการค้าตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่ประเทศไทยแทบจะหาหลักสูตรประเภทนี้ได้น้อยมาก ดังนั้น ทางอาชีวศึกษาจึงได้จัดให้มีรายวิชานี้เป็นวิชาบังคับทั้ง ปวช.และปวส. เพราะคนที่เรียนในสายช่างสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพที่เรียนมาเสมอไป แต่ถ้ามีทักษะในการสร้างงานสร้างอาชีพก็จะสามารถสร้างรายได้ได้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือทักษะด้านภาษาอังกฤษ โดยความคาดหวังในการพัฒนาประเทศไทยดูได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ประเทศมีความมั่นคง มั่นคั่ง ยันยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วตามเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือความคาดหวังของประเทศไทย คนที่จะทำให้ความคาดหวังเป็นจริงคือคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน
สำหรับปัญหาการพัฒนาประเทศไทยในส่วนของอาชีวะ ดร.ประชาคม กล่าวว่า คือ การขาดแคลนกำลังคนในภาคการผลิตและบริการ การผลิตคนเข้าสู่ตลาดงานยังมีปัญหา ทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพ หากได้พูดคุยประเทศต่าง ๆที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ มีความกังวลมากหากมาลงทุนที่ไทยแล้วเรามีกำลังคนที่จะทำงานเพียงพอหรือไม่ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ต้องพยายาม ไทยต้องเจอปัญหาเรื่องการผลิตกำลังที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีผู้เรียนอาชีวศึกษาในระบบ ได้แก่ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ประมาณ 1 ล้านคน แบ่งออกเป็นระดับปวช.ประมาณ 7 แสนคน ปวส.ปะมาณ 3 แสนคน ปริญญาตรีประมาณ 4 พันคน เด็กจบปวช.ปีละ 1.5 แสนคน เด็กจบปวส. 1 แสนคนเศษ แต่จบปวช.แล้วไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะต้องศึกษาต่อ จึงทำให้สถานประกอบการขาดแคลนอย่างมาก ปวส.ก็เช่นเดียวกัน
"ตรงนี้เป็นวิกฤตของการพัฒนาประเทศ เพราะการขับเคลื่อนประเทศต้องใช้กำลังคนในระดับขนาดกลาง"รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าว และว่า นี่คือสิ่งที่สถานประกอบการสะท้อนมา ซึ่งต้องพยายามแก้ไขต่อไป แนวทางในการแก้ไขปัญหาต้องยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เพื่อตอบสนองทั้งด้านการผลิตและการบริการ ต้องพัฒนาครู ต้องยอมรับในการประเมินสมรรถนะของครูในอาชีวศึกษา และต้องพัฒนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูสอนวิชาชีพต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมกับผู้ประกอบการ เพราะเรื่องของเทคโนโลยีในยุคนี้รวดเร็วมาก แต่ละปีมีนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาเป็นหลักแสน หากไม่ดึงเข้ามาสู่ระดับการศึกษาและการฝึกอาชีพแล้วเด็กเหล่านั้นจะไปอยู่ที่ไหน นี่คือโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย
ทั้งนี้ ดร.ประชาคม กล่าวยอมว่า ภาคการศึกษาผลิตคนไม่ใช่เพื่อใช้เอง แต่ผลิตเพื่อให้ผู้ใช้ทั้งภาคผลิตและบริการ เขาต้องยอมรับในความสามารถให้ตัวเด็กที่จบ เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกัน
ด้านดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีส่วนงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลสำรวจและการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยประจำปี 2559 และแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ประเทศไทยติดลำดับ 48 จาก 130 ประเทศ ซึ่งกลุ่มช่วงอายุ 25-54 ปี มีสัดส่วนการจ้างงานทักษะสูงประเทศไทยติดอันดับ 92 จาก 130 ประเทศ
ขณะที่ความหลากหลายทางทักษะประเทศไทยติดอันดับ 106 จาก 130 ประเทศ หากเทียบกับทักษะแรงงานจากประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ทั้ง 5 ประเทศล้วนมีผลิตภาพแรงงานที่สูงกว่าแรงงานไทย 1.6-3 เท่า
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดัชนีไทยสะท้อนให้เห็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทุนมนุษย์ที่ประเทศไทยมียังไม่ได้ถูกใช้ไปในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดีเท่าประเทศมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ ซึ่งเทียบกับดัชนีทุนมนุษย์และรายได้ต่อหัวประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุค 2.0-3.0 ดังนั้นแนวทางการพัฒนากำลังคนหรือการปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้จะต้องมีการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา เพื่อรองรับตลาดแรงงานจำนวน 3.32 ล้านคน โดยแบ่งเป็น ระดับอาชีวะศึกษา 1.99 ล้านคน ระดับมหาวิทยาลัย 1.33 ล้านคน
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ จากเดิมที่มีประมาณ 5.47 ล้านคนเป็น 18.28 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 12.81 ล้านคนด้ายการยกระดับทักษะแรงงานปัจจุบันด้วยโมเดล 3 ประสานคือ จะต้องทำงานร่วมกันระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะให้ได้ 2.56 ล้านคนต่อปี ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อนำพาให้ประเทศไทยก้าวออกจากเศรษฐกิจ 2.0 สู่ไทยแลนด์ 4.0
ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จากบทเรียนเชิงพื้นที่ได้มีโครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด และ โครงการเตรียมความพร้อมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาต้นสู่โลกการทำงาน โดยดำเนินงานในพื้นที่มีโจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนต้องออกจากระบบการศึกษาในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นระหว่าง ม.1-ม.3 ให้มีทักษะอาชีพหรือมีอาวุธติดมือ เพื่อความรู้และความสามารถในการนำไปใช้ทำงานได้ การที่เอาความรู้เรื่องทักษะอาชีพต่างๆ เข้าไปอยู่ในสายสามัญ เพื่อทำให้เด็กได้มองเห็นเส้นทางเลือกในการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพ ดังนั้นถ้าเลือกเรียนสายสามัญแล้วได้ความรู้ทางด้านอาชีวะไปด้วยจะตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์4.0
สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.สุมาลี กล่าวว่า มักพบปัญหาที่เด็กจำนวนมากออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด ดังนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหาในจุดนี้ก่อน เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความรู้สามารถไปประกอบอาชีพได้ในระยะหนึ่ง และต้องสร้างระบบการศึกษาที่ให้คนในวัยทำงานสามารถกลับเข้ามาศึกษาต่อได้ หากทำได้ตรงนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มพูนทักษะความสามารถของแรงงานไทยมากขึ้น จะเห็นได้ว่า อาชีวะศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพแรงงานของไทยอาชีวเร่งผลิตแรงงานเพื่อนำไทยสู่ยุค 4.0
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุทโส ด้านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มุมมองในระดับมหภาคต่อการยกระดับกำลังคนของไทยเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ซึ่งเกิดจากปัญหาของโครงสร้างหลักในการผลิตของประเทศ 3 ด้านคือ ด้านกำลัง ด้านทุนและเทคโนโลยี โดยการกระจุกตัวของการทุนในภาคบริการ ซึ่งวันนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคนทำงานน้อยลง รูปแบบการทำงานในสายการผลิตกว่าร้อยละ 70 มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในระดับมัธยมหรือต่ำกว่า ทำให้รายได้ในภาพรวมของประเทศเติบโตช้า ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานในกลุ่มนี้มีรายได้แทบไม่เติบโต เมื่อเทียบกับรายได้ตอนเริ่มเข้าทำงานกับรายได้ตอนเริ่มทำงานกับรายได้เมื่อเกษียณอายุ
ดร.เสาวณี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้แรงงานที่ใช้เฉพาะทางสาขาต่างๆ ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญ รวมถึงขาดแคลนบุคลากรที่มีทักาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงานและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ต้อพึ่งพาการเติบโตด้วยความรู้นวัตกรรมในโลกยุคใหม่ ดังนั้นแนวทางการพัฒนากำลังคนทั้งในส่วนของแรงงานเดิมจะต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีผลิตสูง สำหรับแรงงานในอนาคต ระบบการศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยนให้ตอบรับทันกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างคนที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกไร้พรมแดนที่กาารเข้าถึงความรู้มีข้อจำกัดน้อยลง