ฆ่าผู้หญิงท้องทำไม
เหตุการณ์คนร้ายยิงผู้หญิงท้องแก่จนเสียชีวิต หน่วยงานรัฐได้ออกมาประณามคนร้ายตามระเบียบ จากนั้นก็สั่งระดมปิดล้อม ตรวจค้น ไล่ล่า และอาจจบด้วยการจับกุมหรือวิสามัญฆาตกรรม วงจรของสถานการณ์มักเป็นเช่นนี้
คำถามคือคนร้ายยิงผู้หญิงท้องแก่ ควรปล่อยให้จบลงแค่การประณามและจับกุมผู้ก่อเหตุหรือไม่ เพราะสิ่งที่น่าค้นหามากไปกว่านั้นคือ “อะไร” เป็น “แรงกระตุ้นความเกลียดชัง” ที่ทำให้ “คนฆ่าคน” ได้อย่างไร้เมตตาธรรมถึงเพียงนี้
แม้แต่ในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ทั่วโลก ก็มีไม่บ่อยนักที่จะได้ยินการฆ่าคนไม่มีทางสู้แบบเฉพาะเจาะจง ข้อมูลจากศูนย์ข่าวอิศราระบุว่าที่ชายแดนใต้มีผู้หญิงตั้งครรภ์ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาแล้วอย่างน้อย 21 กรณี ตาย 9 เจ็บ 12
ในบริบทการแก้ปัญหาชายแดนใต้บ้านเรา มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็น “ความเกลียดชัง” ทั้งๆ ที่สิ่งนี้เป็นดั่ง “พาหะ” ที่ขับเคลื่อนขยายความรุนแรงอยู่ ในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเอง ภาษาที่เขาเรียกคนไทยพุทธ ไม่ใช่แค่ “ซีแย” หรือ “สยาม” แต่มีถ้อยคำที่สะท้อนอคติทางชาติพันธุ์อย่าง “บาบี” ที่แปลว่า “หมู” คล้ายกับคนไทยทั่วไปเรียกเหมาคนชายแดนใต้ในสถานการณ์นี้ว่า “โจรแขก”
การที่คนเหล่านี้สามารถลั่นไกฆ่าคนพุทธที่พวกเขาเรียกว่า “บาบี” โดยไม่สนว่าจะเป็นผู้หญิง เป็นครู เป็นเด็ก หรือเป็นผู้หญิงท้อง แปลว่าเขามองว่าคนพุทธไม่ใช่คน
การแก้ปัญหาด้วยการยิงปะทะ วิสามัญฯ หรือฆ่าทิ้ง ไม่ได้ช่วยหยุดวงจรความเกลียดชังนี้ แต่จะยิ่งกระพือความเกลียดชัง เพราะมันมาจากอคติที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ
นี่คือหัวใจของปัญหาชายแดนใต้ที่ไม่มีใครพูดถึงมากนัก และน่าแปลกไหมที่ไม่มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาต่อต้านอย่างจริงๆ จังๆ เลย หากมีก็เป็นประเภท “จัดตั้ง” เท่านั้น จริงหรือที่พวกเขาไม่กล้าประณามเพราะหวาดกลัวผู้ก่อความไม่สงบ หรือมันยังมีเงื่อนไขในใจที่เป็นอคติอยู่เช่นกัน และเราก็ไม่เคยสนใจที่จะปลดเงื่อนไขเหล่านั้น
ทฤษฎีปัญหาความไม่สงบ มีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการ คือ 1.ฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้ก่อเหตุที่ต่อสู้กัน 2.ประชาชนหรือมวลชนที่ทั้งสองฝ่ายแย่งชิง และ 3.องค์กรต่างประเทศ
สิ่งที่เราทำอยู่ คือ ตั้งด่าน ตรวจค้น จับกุม และจัดชุดไปเจรจาที่มาเลย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที้่ด้วยการขยายถนน ฟื้นเหมือง หรือปลูกปาล์ม 2 หมื่นไร่ ในขณะที่สวนยางของชาวบ้านยังกรีดไม่ได้ ลองกองกิโลละ 2 บาท ฯลฯ นี่คือยุทธศาสตร์ที่เราจะเอาชนะทั้งผู้ก่อความไม่สงบ และชนะใจประชาชนได้จริงๆ หรือ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจัน่ทร์ที่ 28 พ.ย.2559 ด้วย