บทเรียนกรณียิงหญิงตั้งครรภ์ แนะทุกหน่วยอบรมการช่วยชีวิต
ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ จากกรณีคนร้ายยิง น.ส.รัตติกาล จ่าหวัง วัย 26 ปี ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด จนเสียชีวิต เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.59 ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงนอกเหนือจากความโหดร้ายของมือปืน ก็คือประสิทธิภาพของการให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะกรณีของ น.ส.รัตติกาล ที่มีการพูดกันว่า แม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหลังถูกคนร้ายรัวกระสุนใส่ แต่ลูกในท้องไม่ได้ตายทันที หากได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที น่าจะรักษาชีวิตเด็กไว้ได้
ประเด็นนี้ถูกพูดถึงเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. เมื่อ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ ต.ควน อ.ปะนาเระ เพื่อให้กำลังใจครอบครัวของ น.ส.รัตติกาล ซึ่งญาติได้ตั้งศพผู้ตายไว้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดควน
“เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งใจมาให้กำลังใจ คนที่ทำเหมือนตั้งใจ เพราะเห็นว่าตั้งครรภ์อยู่ ไม่มีทางสู้ ไม่มีใครรับได้กับการทำร้ายผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กที่มีโอกาสมีชีวิตรอด คนที่ทำควรไปสู้รบกับคนที่มีอาวุธ”
“ดิฉันคิดว่าเราต้องให้ความรู้แก่หน่วยกู้ชีพกู้ภัยและเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีแบบนี้ รวมทั้งคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ควรให้ความรู้ด้วยว่า แม้แม่ตาย แต่โอกาสลูกจะรอดยังมีอยู่ เมื่อแม่สิ้นใจ ออกซิเจนในร่างกายของแม่ยังส่งถึงลูกระยะหนึ่ง กรณีแม่ช็อค ลูกจะดิ้นแรง ถ้าส่งโรงพยาบาลทันเวลาภายในครึ่งชั่วโมงและผ่าตัดทันจะสามารถช่วยชีวิตเด็กได้ แต่หากขาดออกซิเจนเกินเวลาจะทำให้เด็กเสียชีวิต”
“เหตุการณ์ครั้งนี้เจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่รอบๆ อาจเห็นว่าแม่ตายแล้ว จึงไม่กล้าแตะต้อง และทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทันเวลา”
สำหรับการกระทำของคนร้ายที่จงใจเลือกยิงคนพุทธที่เป็นผู้หญิง ซ้ำยังท้องแก่ด้วยนั้น อังคณา บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ของคนสองศาสนาถดถอยลงไป ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด อยากเรียกร้องคนที่เห็นเหตุการณ์มาเป็นพยานโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองดูแลพยานอย่างดี พร้อมนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกคนต้องช่วยกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ไม่เป็นเครื่องมือของคนที่คอยยุแหย่ให้เกิดความแตกแยก เพราะวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือญาติพี่น้อง เนื่องจากคนที่ทำไม่เลือกว่าเป็นใครหรือศาสนาใด
ขณะที่ เบญจวรรณ ซูสารอ เพื่อนสนิทของ วรรณาพร แก้วแก่นเพชร แม่ของรัตติกาล ก็แสดงความคับข้องใจกับกระบวนการชีวิตเช่นกัน
“ข้อกังขาข้องใจของญาติและทุกคนคือ ทำไมจึงไม่เอาเขา (รัตติกาล) ไปโรงพยาบาลด้วย แม้จะเห็นว่าตายแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเอาไป ทั้งที่เอาไปได้ทั้งสองคน (พร้อมกับ สายใจ ทองดี เหยื่อกระสุนอีกคน) เพราะใส่รถกระบะไป ใครมาตัดสินว่าเด็กในท้องต้องตายตามแม่ไปในตอนนั้น เมื่อเกิดเหตุแล้ว ไม่มีใครกล้าช่วย ทั้งที่อยู่ใกล้ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีใครมาช่วย ซ้ำยังกั้นไม่ให้เขาไปอีก"
"น้องชายคนตายพยายามเข้าไปบอกว่ามีลูกในท้อง เห็นว่าเด็กยังดิ้นอยู่ แต่กว่าจะได้ไปโรงพยาบาลก็ใช้เวลานาน อยากถามว่าถ้ากระบวนการช่วยเหลือทันเวลาและถูกต้อง เด็กก็มีโอกาสรอดชีวิต แต่จะไปถามความจริงจากใคร”
ด้าน นายปิติเลิศ ทองชูใจ สามีของรัตติกาล กล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยนัยน์ตาแดงก่ำว่า “ทำไมไม่เอาภรรยาไปโรงพยาบาลพร้อมกัน ลูกอาจรอดได้”
เรื่องนี้กลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนจากผลพวงจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่ายยังพูดถึงกันน้อยเกินไป...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเครียด ตัดพ้อ และน้ำตา ของครอบครัวและคนใกล้ชิด รัตติกาล จ่าวัง หลังต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก พร้อมกับเด็กในท้อง