นักวิชาการ มธ. แนะสื่อลดขายประเด็นดราม่าเพื่อยกระดับคุณภาพสังคม
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มธ. ห่วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนสื่อสังคมออนไลน์ ชี้สถาบันต่างๆ ทางสังคมต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ เรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพสิทธิ-เสรีภาพผู้อื่น เชื่อจะช่วยลดวัฒนธรรม ‘ล่าแม่มด’ บนโลกออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประไพพิศ มุทิตาเจริญ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และธุรกิจสื่อสารมวลชนที่มีการแข่งขันสูงในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อมวลชนมีการปรับตัวในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข่าวที่มีความรวดเร็วฉับไว โดยเฉพาะประเด็นที่กำลังเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือดราม่า เพื่อสร้างฐานคนดูและผู้ติดตามให้มีจำนวนมากๆ อันจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป
สำหรับการนำเสนอดราม่า ผศ.ประไพพิศ กล่าวว่า ในหลายกรณีได้ส่งผลให้ผู้เสพสื่อที่ไม่มีวิจารณญาณ เกิดการใช้อารมณ์ และแสดงพฤติกรรมอันน่าเป็นห่วง อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การคิดตามกลุ่ม การลงโทษทางสังคม และการเกิดเหยื่อทางอ้อม ฯลฯ ซึ่งอาจบานปลายกลายเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้
"สื่อมวลชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเด็นสาธารณะ รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และพฤติกรรมของคนในสังคมควรจะมีการนำเสนอข่าวสารที่มากไปกว่าการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน โดยในการนำเสนอข่าวดราม่าควรมีการพิจารณาถึงกระแสตอบรับจากผู้เสพว่า เป็นไปในทิศทางใด ซึ่งหากชาวเน็ตมีการใช้อารมณ์รุนแรง แสดงความเห็นอย่างเกินพอดี สื่อมวลชนก็มีหน้าที่ที่จะเป็นกระจกสะท้อนให้คนโซเชียลได้เห็นผลของการกระทำที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เป็นปกติ ช่วยลดอารมณ์ และเรียกสติของผู้เสพกลับมา"นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังควรมีการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ที่ทำให้คนในสังคมได้เข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ประเด็นปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม โดยสะท้อนผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมได้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายมิติอย่างสร้างสรรค์
ด้าน ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ นักวิชาการด้านนวัตกรรมการสื่อสารและสังคม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีดราม่าที่เป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นดราม่าแอร์กราบ ดราม่าเต้าหู้ไข่ ดราม่าครูปาแก้วใส่นักเรียน ดราม่าครอบครัวดารา ดราม่าคนไทยไม่ใส่เสื้อดำ ดราม่ากราบรถกู ฯลฯ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังขาดความตระหนักรู้ และความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากต้นเหตุการเกิดดราม่าส่วนใหญ่จะมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนใจ และการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะเดียวกันผู้เสพดราม่าก็ได้ใช้เสรีภาพการในแสดงออกทางความคิดอย่างเกินพอดี จนกลายเป็นศาลเตี้ยทำลายเสรีภาพและความมั่นคงในการใช้ชีวิตของเหยื่อดราม่า ซึ่งในหลายกรณีส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าบทลงโทษทางกฎหมายที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับเสียด้วยซ้ำไป
"สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น อาจเพราะว่าทุกคนเติบโตขึ้นในสังคมไทยที่ยังคงพันธนาการอยู่กับระบบอาวุโส และระบบอุปถัมภ์ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน คือผู้ใหญ่มักจะใช้มายาคติ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ กับคนที่มีอายุต่ำกว่า จนกลายเป็นวัฒนธรรม ‘เด็กห้ามเถียง’ อันส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในสถาบันทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงสถาบันการเมือง โดยยังไม่รวมถึงปัญหาในระดับประเทศอีกมากมาย อาทิ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ระบบการเมืองการปกครองที่ไม่มั่นคง มลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้คนไทยตอกย้ำในความคิดที่ว่า สิทธิและเสรีภาพเป็นแค่ภาพลวงตาในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วหันไปพึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวใหม่อย่างโลกออนไลน์ อันเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้แสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี และสามารถแสดงออกซึ่งตัวตนได้อย่างใจต้องการ"
ดร.สุวรรณ กล่าวด้วยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนบนสื่อสังคมออนไลน์มีต้นตอมาจากปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยถึงแม้ว่าหลายปัญหาจะไม่สามารถแก้ไขได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งหนึ่งที่สถาบันทางสังคมต่างๆ สามารถช่วยกันได้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็คือการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สมาชิกของตนอย่างจริงจัง เป็นต้นว่า สถาบันครอบครัวควรปลูกฝังให้สมาชิกรู้จักสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียม ขณะที่สถาบันการศึกษาควรสอนให้นักเรียนรู้จักมารยาท และการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่กว้างขึ้น โดยอย่างน้อยที่สุดเมื่อคนในสังคมไทยรู้จักขอบเขตและข้อจำกัดของสิทธิและเสรีภาพแล้ว ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการก้าวล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นให้ลดลงได้บ้าง ตลอดจนช่วยลดโอกาสการเกิดวัฒนธรรม ‘ล่าแม่มด’ หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเหยื่อดราม่าด้วยอารมณ์และบรรทัดฐานส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ได้