เชียงราย บ้านเกิดพญามังราย กับการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ชักชวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวจีนให้หันมาชื่นชมนับถือในศาสนา ประเพณี ศิลป วัฒนธรรมเราด้วย ไปเชียงรายเที่ยวนี้ผมได้เห็นวัดห้วยปลากั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวและศาสนิกชนจีนจำนวนมากมากราบพระพุทธและเจ้าแม่กวนอิมสีขาวงามผ่องตั้งตระหง่านอยู่กลางแจ้ง หัดมากราบพระ ไหว้พระ ทำบุญและขอพร นักท่องเที่ยวจีนกลายมาเป็นคล้ายคนไทย
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง เชียงราย บ้านเกิดพญามังราย กับการท่องเที่ยว
------
ผมเพิ่งกลับจากเชียงรายครับ ไปนอนที่โรงแรม "ปาร์คอินน์" ฉลอง 24 ปีของการนำเอาหลักสูตร MPE ธรรมศาสตร์ไปเปิดสอนที่ภาคเหนือ จัดที่ "เอกโอชา" เชียงรายปลายฝนต้นหนาวสวยมาก สดชื่น ไม่หนาว หอมกลิ่นดินและหญ้า เช้าๆ มีฝนตกเบาๆ เป็นละอองฝอย แต่ ความที่อากาศเริ่มเย็นแล้ว ดังนั้น เมื่อฝนสาดใส่หน้าตาและโดนร่างกายบางส่วน จึงเย็นฉ่ำใจครับ
เชียงรายคือบ้านเกิดพญามังรายปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาขึ้นครองราชย์ร่วมสมัยกับพญารามคำแหงแห่งรัฐสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งรัฐพะเยา แต่บ้านเกิดของท่านคือเมืองเชียงแสน พ่อของท่านเป็นชาวไทยวนกษัตริย์เมืองเงินยางเชียงแสน แต่แม่ของท่าน เป็นไทลื้อ ธิดากษัตริย์เชียงรุ้ง ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในสิบสองปันนาของจีนแต่ในอดีตบ่อยครั้งเชียงรุ้งตกอยู่กับล้านนา
เชียงรายเป็นหนึ่งใน 33 จังหวัดของไทยที่อยู่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน และเป็นหนึ่งในสองจังหวัดเท่านั้นที่อยู่ติดกับเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ ติดทั้งพม่า (แม่สาย) และลาว(เชียงแสนกับเชียงของ) ส่วนอีกหนึ่งจังหวัดนั้นคืออุบล ฯครับ ติดทั้งลาวและเขมร นักท่องเที่ยวที่มากขึ้นผิดสังเกตในตอนนี้ที่เชียงรายคือคนมีเงินจากพม่าและลาว ปิ๊กอัพคันใหญ่โตและรถเก๋งราคาแพงทะเบียนเวียงจันทน์จอดหน้าโรงแรมเชียงรายเป็นปกติ แต่รายได้จากผู้มาเยือนต่างประเทศนั้นยังมาจากจีนครับ เชียงรายนั้นอยู่ใกล้กับจีนมาก นักท่องเที่ยวจีนนั้นไม่ต้องพูดถึง ทั้งปริมาณ ทั้งกำลังซื้อ เหลือคณานับ
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยทั้งมวลโตร้อยละ 3 ต่อปี การส่งออกโตไม่ถึงร้อยละ 2- 3 ต่อปี ภาคเกษตรแทบไม่โตมีแต่ลดขนาดลงเรื่อยๆ การท่องเที่ยวกลับเติบโตเกินร้อยละ 10 ต่อปี "หลั่นล้าอีโคโนมี" ได้เป็น "กระดูกสันหลัง" ใหม่ของเศรษฐกิจไทยไปแล้ว "ข้อมูลใหม่" นี้แสดงออกมาให้เห็นแล้วที่ระดับชาติและยิ่งเห็นชัดเหลือเกินที่เชียงราย
ลูกค้า "หลั่นล้าอีโคโนมี"ของจังหวัดที่กำเนิดล้านนานี้มีทั้งมาจากกรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใครๆก็รู้กัน แต่เวลานี้ยังมีรถยนตร์ป้ายจังหวัดอื่นๆ จอดอยู่ในเชียงรายเกลื่อนตา เชียงรายในฐานะแหล่งท่องเที่ยวของคนไทย จึงสำคัญไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น เชียงรายในตอนนี้ ดึงนักท่องเที่ยวทางบกจากจีน น่าจะได้มากกว่าจังหวัดใดๆ ความที่ใกล้จีนที่สุดในทางบก และที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าอีก คือ ไม่กี่ปีมานี้ยังเริ่มดึงคนมีสตังค์จากลาวและพม่าได้ด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวพม่านี้ อาทิตย์ก่อนนี้ ผมก็ไปพบเข้าเป็นจำนวนมาก ขับรถข้ามพรมแดนมาค้างคืนที่แม่สอด ครับ มากิน มาดื่มที่ร้านแพงๆ มาเที่ยวช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าเลิศหรู สอบถามได้ความว่าพวกเขามาจากเมืองย่างกุ้งเกือบทั้งหมด
ประเด็นที่อยากจะชี้ก็คือ คนกรุงเทพฯบ่นกันว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าแค่ร้อยละ 3 ต่อปี แต่ "หลั่นล้าอีโคโนมี" ของเชียงรายดึงดูดเงินจากเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจเขาโตร้อยละ 6 ต่อปี--ลาว และ ร้อยละ 8 --พม่า และ ร้อยละ 6--จีน โดยเฉพาะจีนซึ่งนักท่องเที่ยวเข้าไทยใกล้จะ 10 ล้านคนต่อปีแล้ว ในจำนวนนี้ย่อมจะมาเยือนเชียงรายโดยทางบกได้สะดวกขึ้นเรื่อยๆ
อีกข้อสังเกตหนึ่ง ภาคเหนือตอนบนดูจะกำลังเข้าสู่ยุคการ "ฟื้นฟูล้านนา"ใช่หรือไม่ ไม่ว่าประวัติศาสตร์ ความรักความภาคภูมิในตัวตนเดิม ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ประเพณี เสื้อผ้า แฟชันการแต่งกาย สถาปัตยกรรม นานาศิลปวิทยาการของล้านนา กลับมาเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ในภาคเหนือ อนุรักษ์ไว้อย่างจริงจัง และยิ่งกว่านั้น ยังต่อยอดและปรับปรุงให้เคียงคู่และสมานฉันท์กับ "ความเป็นไทย" ของส่วนกลาง และประสานหรือสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และบูรพาภิวัตน์ได้พอควรด้วย กลายเป็นกิจกรรม เป็นรายได้ เป็นการงาน อาชีพ และวิชาชีพ ที่ล้วนส่งเสริมการท่องเที่ยวก้าวหน้าที่กล่าวมาในข้างต้นและจะกล่าวต่อไป
เมื่อคืนนี้ในงานผมได้เห็นการฟ้อนรำหลายชุดที่สวยงามและดูไม่เหมือนกับของส่วนกลางเลย เอานาฏศิลป์เชียงตุงและนาฏศิลป์เชียงรุ้งที่คล่องแคล่วว่องไวมาคลุกเคล้ากับนาฏศิลป์ล้านนาที่ชดช้อยและเชื่องช้ากว่า ดูน่าชมครับ แปลกใหม่มาก ดูเป็นกายกรรมไปด้วย แสดงโดยนักศึกษาหญิงจากราชภัฏเชียงราย ซึ่งตะเวณแสดงในสองสามห้องอาหาร ได้รับทิปกันไปคนละหลายร้อยบาทต่อคน
ได้เห็นวงขับร้องเพลงเก่าๆ เพราะๆของหญิงสอง ชายหนึ่งใช้กีร์ต้าและหีบเพลงปาก ผู้ชายนั้นเป็นหนุ่มล้านนา ศึกษาที่ราชมงคล อีกสองสาวนั้น สาวหนึ่งสวยหวานแบบล้านนา แต่อีกสาวหนึ่งเป็นไทลื้อ ตัวเล็กแต่มีเสน่ห์แบบคนไทในอดีต ร้องได้ทั้งเพลงคำเมือง เพลงไทลื้อ เพลงจีน ดูแล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคุณยายผมเองซึ่งเป็นไทยอง คล้ายไทลื้อ ตอนสาวๆ ยายก็คงสวยแบบนี้
อยากจะบอกว่าเชียงรายนั้นไม่ใช่แค่เป็นต้นกำเนิดของล้านนาเท่านั้น หากยังเป็นแหล่งรวมไทนานาชนิด เพราะที่ตั้งของเชียงราย จึงกลายเป็นแหล่งรวม ไท-ไต-ลาว ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดเช่น ชาวไทเขิน แห่งเชียงตุง ชาวไต แห่งรัฐฉาน ชาวลาวประเภทต่างๆจาก สปป ลาว รวมไปถึงชาวไตและผู้ไตหรือผู้ไทประเภทต่างๆ จากดินแดนเวียดนามตอนเหนือ ล้วนเดินทางเข้ามาสู่เชียงรายโดยไม่ลำบากเลย จึงไม่ควรพัฒนาเชียงรายเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของไทย หากควรทำให้ดูเป็นต้นกำเนิดของล้านนาด้วย พร้อมๆกับที่ให้กลายเป็นศูนย์กลาง หรือแหล่งรวบรวม หรือที่บรรจบกันของประวัติศาสตร์ ของศิลปะ ประเพณีและอารยธรรม แห่งชาวไท ไต ลาวทั้งมวล รัฐบาลควรจะทำพิพิธภัณฑ์ใหญ่แห่งล้านนา และ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ระดับนานาชาติ แห่ง ไท ไต ลาว ขึ้นมาที่เชียงราย ควรจะทำสถาบันศึกษา ผสมผสาน หรือ ต่อยอดศิลปกรรมสถาปัตยกรรม งานช่าง นาฏดนตรี ของไท ไต ลาว ขึ้นมา ไทยควรเสนอตนเองเป็นผู้ฟื้นฟูปกป้องและต่อยอด "ความเป็นไท ไต ลาว" โดยระดมเอาความร่วมมือจากไท ไต ลาว ในพม่า ลาว อินเดีย จีน และเวียดนาม ด้วย นี่ควรจะอยู่ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ
ในภาวะที่จีนส่งนักท่องเที่ยวจำนวนใกล้จะถึงสิบล้านไม่นานนี้ และกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ "มุ่งลงใต้" ผ่านไทยและพม่า สู่มหาสมุทรอินเดีย และ จะทำ "เส้นทางสายไหมทะเล" เชื่อมทะเลจีนเข้ากับอ่าวเบงกอล แทนที่เราจะมัวแต่พูดถึงปริมาณคนจีนมหาศาลที่จะเข้าสู่ไทย และ แอบกลัวว่าเขาจะ "กลืน" เราได้ แทนที่จะคิดกันอย่างนี้ ต้องมั่นใจว่าเรามีวัฒนธรรมที่ดูเหมือนอ่อนแต่จริงๆ แล้วแข็ง วัฒนธรรมที่ได้ "กลืน" บรรดาคนจีนอพยพระลอกแล้วระลอกเล่า จำนวนมากไม่รู้จะมากอย่างไร เข้ามาสู่สังคมไทย เราทำได้มาแล้ว ดังนั้น อย่าไปกลัวเลย รวมทั้งขอให้นึกถึงสิงคโปร์ คนของเขาน้อยกว่าเรายี่สิบเท่า เขายังไม่กลัวจีนกลืน ไม่กลัวฝรั่งกลืน
สุดท้าย ครับ ถึงอย่างไร เราต้องเพิ่มศักยภาพทางวัฒนธรรมให้สูงยิ่งขึ้นอีก ทางหนึ่งคือ รวมญาติไท ไต ลาว ไว้ด้วยกันให้เหนียวแน่น เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ใกล้เคียงกัน ของบรรดาผู้คนที่เป็น "ญาติ" พูดภาษาใกล้เคียงกัน ที่มีจำนวนนับรวมกันแล้วไม่น้อย อาจมีมากกว่า 100 ล้านคน อาจถึง 120 ล้านคน หากนับชาวจ้วงในจีนได้ด้วย
ต้องใช้การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ชักชวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวจีนให้หันมาชื่นชมนับถือในศาสนา ประเพณี ศิลป วัฒนธรรมเราด้วย ไปเชียงรายเที่ยวนี้ผมได้เห็นวัดห้วยปลากั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวและศาสนิกชนจีนจำนวนมากมากราบพระพุทธและเจ้าแม่กวนอิมสีขาวงามผ่องตั้งตระหง่านอยู่กลางแจ้ง หัดมากราบพระ ไหว้พระ ทำบุญและขอพร นักท่องเที่ยวจีนกลายมาเป็นคล้ายคนไทยเลยครับ ในแง่นี้ นี่คือตัวอย่างที่เรา "กลืน" เขาบ้าง โลกยุคนี้มีทั้งเขากลืนเรา มีทั้งเรากลืนเขา มีทั้งต่างคนต่างกลืนกัน แน่นอน เราต้องกลืนเขาให้ได้มากพอ เพื่อเราจะได้ยืนหยัดรักษาตัวตนเดิม พร้อมๆกับที่ยอมปรับเปลี่ยนตามกระแสใหม่ๆไปด้วยเหมือนกัน
ขอบคุณภาพจาก : chiangraifocus.com