จนท.ป้องนายหน้า-วิบากกรรม21หญิงไทย แฉให้ทำงานถึงตี2 – เอ็นจีโอยันค้ามนุษย์
เหตุการณ์ที่ "ทีมข่าวอิศรา" ติดตามเกาะติดอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องราวของ 21 หญิงจากชายแดนใต้ที่ถูกชักชวนไปขายแรงงานผิดกฎหมายที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีนายหน้าคนไทยเป็นผู้นำพา ทุกคนเข้าใจว่าเป็นการไปขายข้าวเกรียบ แต่ปรากฏว่าหญิงเหล่านี้ถูกให้ทำงานไม่ต่างจากขอทาน ญาติของเหยื่อก็ถูกข่มขู่เรียกเงิน
เกือบ 1 เดือนที่ “ทีมข่าวอิศรา” ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ และจากความปรารถนาดีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตลอดจนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลซีย ทำให้ตอนนี้ญาติใกล้จะมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมหญิงเหล่านี้ได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าปัญหายังไม่จบ เพราะติดปัญหาการร้องเรียนเอาผิดกับนายหน้าที่ประเทศไทย
เส้นทางการช่วยเหลือ 21 หญิงจากชายแดนใต้
ก่อนอื่นลองย้อนกลับไปดูกันก่อนว่าเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางบ้าง
9 พ.ย. “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับเรื่องร้องเรียน 21 หญิงจากชายแดนใต้หายตัวไป หลังเดินทางไปขายแรงงานในมาเลเซีย เนื่องจากทีมข่าวได้ไปพบพิธีฝังศพของชายคนหนึ่งที่เป็นสามีของหญิง 1 ใน 21 คนนี้ โดยเขาตรอมใจตายที่ติดต่อภรรยาของตัวเองไม่ได้นานนับเดือน ถามไปถามมาจึงทราบว่าถูกนายหน้าชักชวนไปขายข้าวเกรียบ แล้วก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย
10 พ.ย. “ทีมข่าวอิศรา” ประสานทูตไทยในมาเลเซีย และ “ครม.ส่วนหน้า” ให้ช่วยตรวจสอบข้อมูล
11 พ.ย. เจ้าหน้าที่ทูตไทยในมาเลเซียพบตัว 21 หญิงจากชายแดนใต้ถูกกักตัวในบ้านพักฉุกเฉินสตรี รัฐยะโฮร์ ในฐานะของพยานคดีค้ามนุษย์ที่ทางการมาเลเซียตั้งของหานายหน้า 2 คนที่เป็นคนชักชวนหญิงเหล่านี้ไปขายแรงงาน
15 พ.ย. ทางการมาเลเซียอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าเยี่ยม 21 หญิงจากชายแดนใต้เป็นครั้งแรก
16-17 พ.ย. ครอบครัวหญิงจากชายแดนใต้ร้องเรียน “ทีมข่าวอิศรา” ว่าถูกนายหน้าค้าแรงงานข่มขู่-เรียกเงิน โดยกลุ่มญาติบอกว่านายหน้าเรียกเงินเป็นค่าพาตัวของหญิงทั้งหมดกลับบ้าน เงินที่เรียกนั้นเรียกแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน บางคน 2 หมื่นบาท บางคน 3 หมื่นบาท
18 พ.ย. “ทีมข่าวอิศรา” พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ช่วยเหลือและพาครอบครัว 21 หญิงจากชายแดนใต้บางส่วนเข้าแจ้งความ
19-20 พ.ย. ญาติ 21 หญิงจากชายแดนใต้ทยอยเข้าแจ้งความ
22 พ.ย. เจ้าหน้าที่ไทยได้เข้าเยี่ยม 21 หญิงจากชายแดนใต้เป็นครั้งที่ 2
23 พ.ย. เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ประสานญาติเดินทางเข้าเยี่ยมหญิงทั้งหมดในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย.
จนท.บางหน่วยป้องนายหน้า-อ้างไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์
ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่ญาติๆ จะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมหญิงทั้ง 21 คน แต่จากการลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวอิศรา” ยังพบว่ามีปัญหาใหญ่อยู่ นั่นก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนมองว่าไม่ใช่การค้ามนุษย์ ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีเอาผิดกับกลุ่มนายหน้าได้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถร้องทุกข์เพื่อให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
“ไม่อยากใช้คำว่าหลอกลวง แต่คงไม่ทราบข้อกฎหมายมากกว่า คิดว่าเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์” เป็นเสียงจาก นายสัมพันธ์ มูซอดี หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.ที่บอกกับชาวบ้านครอบครัว 21 หญิงจากชายแดนใต้ระหว่างเดินสายเยี่ยมเยียนหลังกรณีนี้ตกเป็นข่าวโด่งดังกระทั่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานจากส่วนกลางลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน
ท่าทีของเจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต.ทำให้ครอบครัว 21 หญิงจากชายแดนใต้เกิดความสับสน เนื่องจากหญิงทั้งหมดถูก “นายหน้า” ชักชวนไปทำงานในมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน อ้างว่าไปขายข้าวเกรียบ แต่ให้เตรียมเสื้อผ้าเก่าๆ ไปสวมใส่ คนจะได้สงสาร เมื่อไปถึงก็ส่งไปนั่งขายแกมขอความเห็นใจตามหน้าตู้เอทีเอ็มและธนาคารทั่วเมืองยะโฮร์บารู ทำงานตั้งแต่เช้าถึง 5 ทุ่ม ไม่ต่างจากขอทาน กระทั่งทั้งหมดถูกจับกุม รวมถึงผู้นำพาซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารในมาเลเซีย และแยกฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ไปแล้ว พร้อมกันตัวหญิง 21 คนจากประเทศไทยไว้เป็นพยาน
สามียืนยัน "ภรรยาสั่งแจ้งความ" แฉทำงานถึงตี 2
ตั้งแต่เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว “เครือข่ายนายหน้า” ได้ปฏิบัติการข่มขู่ญาติของหญิงเหล่านี้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่เรียกเงินเพิ่ม อ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือกลับบ้าน กระทั่งคุกคามต่างๆ นานาเพื่อไม่ให้ญาติของหญิง 21 คนเข้าแจ้งความ
“ภรรยาโทรกลับมาบอกให้ไปแจ้งความเอาเรื่องก๊ะนี (นายหน้า) เขาบอกว่าก๊ะนีเป็นคนดูแลทั้งหมด” นี่คือคำยืนยันจาก สุกรี สาเหาะ สามีของหนึ่งใน 21 หญิงจากชายแดนใต้ที่ประสบชะตากรรมอยู่ที่รัฐยะโฮร์ โดยสุกรีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
“ข้าวเกรียบทั้งหมดเป็นของสามีก๊ะนี เวลาขายของเขาไปส่งผู้หญิงทั้งหมด 9 โมงเช้า รับกลับตี 1 ตี 2 หากข้าวเกรียบไม่หมดก็ถูกด่าอีกว่าขายยังไงไม่หมด ข้าวก็ต้องหากินเอง กลับจากขายแล้วยังต้องทำงานเอาข้าวเกรียบใส่ถุงอีก มีเวลานอนแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ยืนยันว่าทั้ง 21คนขอร้องให้สามีและครอบครัวไปแจ้งความกับก๊ะนี”
“ที่สำคัญตั้งแต่ถูกจับไม่มีนายหน้าไปเยี่ยมเลย หนีเอาตัวรอด วันนี้ก๊ะนีกลับมาขอเงินชาวบ้านรายละ 2 หมื่น บอกว่าจะไปประกันคนที่ถูกจับ แต่ที่ไหนได้จะไปประกันแฟนเขาที่ถูกจับ” สุกรี บอก
ขณะที่ มูดอ กาเจมูสอ สามีของหนึ่งใน 21 หญิงจากชายแดนใต้ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี บอกว่า เถ้าแก่ (นายหน้า) ไม่ช่วยอะไร บอกอย่างเดียวว่าจะเอาเงิน 2 หมื่นบาท แต่ตนไม่ได้ให้ เพราะเถ้าแก่บอกว่าถึงจ่ายเงินก็ไม่แน่ว่าจะช่วยภรรยาออกมาได้หรือเปล่า
มองต่างมุมเรื่องพฤติการณ์นายหน้า-ข้อกฎหมาย
ด้านความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมอย่าง พ.อ.ศุภณัฏฐ์ หนูรุ่ง นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักคุ้มครองพยาน มองต่างมุมกับ ศอ.บต.ว่า เรื่องนี้ญาติของหญิงทั้งหมดต้องได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครอง
“ได้ลงพื้นที่พบกับชาวบ้านแล้ว แต่ละคนอยากแจ้งความว่านายหน้าข่มขู่เรียกเงิน บางคนโดนไป 2 หมื่น บางคน 7 หมื่น ยืนยันว่าเรื่องนี้กฎหมายคุ้มครองได้ ไม่ต้องกลัว” พ.อ.ศุภณัฏฐ์ กล่าว
ปัญหาที่เกิดตามมาอีกคือ เมื่อชาวบ้านเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในภูมิลำเนาของแต่ละคน กลับได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ญาติไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ จึงทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น มีเพียง สภ.เมืองปัตตานีที่ยืนยันว่านี่คือคดีค้ามนุษย์แล้ว และรับแจ้งความเอาไว้
พ.ต.ท.สืบสกุล ขุนเพิ่ม สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี บอกว่า คดีค้ามนุษย์เริ่มที่มาเลเซีย ขณะนี้ทางการมาเลย์ดำเนินการอยู่ โดยจะออกหมายจับนายหน้าทั้งหมด ซึ่งนายหน้าบางส่วนอยู่ที่ไทย ก็เชื่อว่าจะส่งหมายจับมาให้เจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการต่อ
เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง โดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้ เป็นไปตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่กลับยังมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บางหน่วยปฏิบัติสวนทาง
ประเด็นที่ยังมองต่างมุมก็คือ การกระทำของนายหน้า โดยเฉพาะการส่งแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงอายุไปขายข้าวเกรียบในมาเลเซีย เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ เพราะหญิงเหล่านั้นเดินทางไปด้วยความเต็มใจ เนื่องจากต้องการเงิน ขณะที่ฝ่ายนายหน้าก็ไม่ได้บังคับขู่เข็ญ และไม่ได้ให้ไปขอทาน แต่ให้ไปขายข้าวเกรียบ
จากการตรวจสอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา 4 และมาตรา 6 พบว่า การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์นั้น ให้รวมถึง การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
ฉะนั้นความยินยอมหรือไม่ยินยอมย่อมไม่ใช่ข้ออ้างว่าไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ส่วนกฎหมายค้ามนุษย์ไทยกับมาเลเซียก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะยกร่างบนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้
ขณะที่ปากคำของหญิงบางคนใน 21 คนที่บอกผ่านครอบครัวระบุว่า ถูกข่มขู่ บังคับ และทำร้าย รวมถึงชั่วโมงทำงานก็ยาวนาน ตั้งแต่เช้าถึง 5 ทุ่มหรือตี 2 โดยมีเครือข่ายนายหน้าจัดรถรับ-ส่งตามสถานที่ต่างๆ และหักส่วนแบ่งรายได้ 80% จากยอดขาย โดยการขายข้าวเกรียบเสมือนใช้เป็นการบังหน้าจุดประสงค์จริงคือ “การขอทาน”
ประเด็นนี้ได้รับคำยืนยันจากนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านนี้มานานอย่าง นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความว่า หลักเกณฑ์ของการค้ามนุษย์ หากเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของนายหน้าโดยกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเหยื่อจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม ถือว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์แล้ว
เหตุการณ์นี้ญาติผู้เสียหายสามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ เนื่องจากการกระทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นในมาเลเซียทั้งหมด แต่เกิดในไทยด้วย และญาติก็มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะถูกข่มขู่ คุกคาม เรียกเงิน จึงสามารถเข้าฟ้องร้องได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
จากเรื่องราวทั้งหมด ทำให้มองเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่ยังไม่ให้ความคุ้มครองประชาชน คนที่ต้องแบกรับความเจ็บช้ำย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่มีทางสู้ต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายสุกรี (ซ้าย อุ้มลูก) และนายมูดอ (เสื้อขาว)