ดร.เดชรัต ชี้แจกเงินคนจนช่วยได้เดือนเดียว แนะแก้ยาวให้ดูค่าจ้าง-สินค้าเกษตร
ดร. เดชรัต ชี้มาตรการแจกเงินคนจน ช่วยได้แค่เดือนเดียว จากนั้นก็เดือดร้อนอีก แนะควรระวังสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียม การแบ่งแยก จากเรื่องการทำสวัสดิการแบบพุ่งเป้า แทนถ้วนหน้า
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “ชะตากรรมคนจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของใคร? ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ มธ. ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวนำการสัมมนาตอนหนึ่งถึงชะตากรรมคนจน หัวข้อเสวนาอาจเรียกว่า อยู่ในยุคแฟชั่นก็ว่าได้ เพราะระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนคนจน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ จนถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็มีการจดทะเบียนคนจนใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยหวังว่า จะนำทะเบียนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์วางแผนจัดบริการทางสังคมต่อไป
"เป็นเรื่องแปลก หากเราดูข้อมูลระหว่างประเทศ ไทยแทบไม่มีคนจนเหลือเลย แต่ข้อมูลของไทยมีประมาณ 8 ล้านคน และยังเถียงกันอยู่ว่า จนจริงหรือไม่ ขณะที่มาของความยากจนก็มีการพูดถึงกันมาก ซึ่งแต่ละกระทรวงพยายามออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาคนจนด้วยเช่นกัน"
ขณะที่ดร. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของครัวเรือรากฐานของประเทศไทย แบ่งกลุ่มครัวเรือนเป็น 5 กลุ่ม โดยเรียงลำดับรายได้ จากกลุ่มที่จนที่สุด 20% แรก ไปจนถึงกลุ่มที่รวยที่สุด 20% สุดท้าย
"ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรายได้น้อย หรือ กลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด 20 % ของประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ อยู่ร้อยละ 27 และแนวโน้มภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้มีแนวโน้มผันผวนโดยตลอด เมื่อเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายกลุ่มครัวนี้จากผลสำรวจ ปี 2558 เรื่องรายได้และรายจ่ายของกลุ่มครัวเรือน จะพบว่า กลุ่มรายได้น้อยที่สุด จะมีรายได้ประมาณ 9,604 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายประมาณ 12,163 บาทต่อเดือน เมื่อคำนวณจะพบว่าติดลบประมาณ 2,500 - 3,000 บาท นี่จึงทำให้มีมาตการการช่วยเหลือคนจน 1,500 - 3,000 บาท ของรัฐบาลที่ออกมา"
ดร.เดชรัต กล่าวถึงมาตรการช่วยคนจน เชื่อว่า สามารถช่วยได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นในส่วนที่ขาดอยู่ หลังจากเดือนนั้นก็เดือดร้อนกันใหม่
ดร. เดชรัต กล่าวถึง เรื่องค่าใช้จ่ายของกลุ่มครัวเรือนที่รายได้น้อยที่สุด จะมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าอาหาร ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารร้อยละ 48 เพราะอาหารเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มแพงขึ้น รองมาเป็นค่าที่อยู่ ค่าการเดินทาง และสื่อสาร เมื่อคิดเป็นรายจ่ายเป็นร้อยละ 83 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งมากกว่ารายได้ของครัวเรือนด้วย ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มครัวเรือนที่รายได้สูงที่สุด เรื่องค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าการเดินทางและค่าการสื่อสาร
ดังนั้นหากลดค่าใช้จ่ายในหมวดนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในชีวิตให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยได้มากขึ้น
ดร. เดชรัต กล่าวอีกว่า แหล่งรายได้ที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด คือ รายได้ที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน เข่น มาจากการปลูกผักไว้กินเองบ้าง หรือการหาของป่าเป็นแหล่งสำคัญที่สุด โดยปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 32.0 แต่ปี 2558 กลับลงลดเหลือ ร้อยละ 30.0 ต่างกับรายได้ที่มาจากเงินช่วยเหลือสงเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.9 เป็นร้อยละ 21.2 ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าเงินช่วยเหลือสงเคราะห์จะเป็นหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ ถามว่า จะใช่แนวทางการพัฒนาที่อยากให้เป็นหรือไม่
"ค่าจ้าง/เงินเดือน มีความสำคัญสำหรับครัวเรือนที่จนที่สุด 20% แรกของประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับเพิ่มน้อยมาก รวมถึงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากทำให้ค่าจ้างเพิ่ม สินค้าเกษตรเะิ่มขึ้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาคนจนได้ในระยะยาวได้ทางหนึ่ง"
ดร. เดชรัต กล่าวถึงสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการด้านการศึกษา เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดได้อย่างดี แต่รัฐบาลกำลังมองว่าไม่อยากให้กลุ่มอื่นเข้ามาแย่งบริการของคนกลุ่มรายได้น้อย แม้จะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการ จึงคิดสวัสดิการรูปแบบใหม่ขึ้นมาว่าควรมีสวัสดิการที่ตรงกับกลุ่มรายได้น้อยจริงจัง หรือเรียกว่า สวัสดิการแบบพุ่งเป้า ให้สำหรับกลุ่มรายได้น้อยโดยเฉพาะ ทำให้รัฐบาลเกิดความพยายามในการจดทะเบียนคนจนขึ้น เพื่อจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มคนเป้าหมายเป็นการเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่จะพบและควรข้อระวังมีถึง 3 ประการด้วยกัน คือ
1. รายได้ของครัวเรือนอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามสภาวะการทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นครัวเรือนที่มีรายได้มากในวันนี้ อาจกลายเป็นครัวเรือนที่รายได้น้อยในอนาคต เช่น ปีนี้เพิ่งป่วยค่ารักษาต้องใช้มาก ปีหน้ากลายเป็นคนจน
2.การแบ่งระบบสวัสดิการที่แตกต่างกันอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพบริการที่แตกต่างกัน
3. การกำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งต้องจดทะเบียนว่าเป็นคนจน จึงจะได้รับสวัสดิการบางรูปแบบจากรัฐบาล อาจมีผลกระทบทางสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เช่น เรื่องความแบ่งแยก ความรู้สึกไม่เท่าเทียมเป็นต้น เป็นต้น
ฉะนั้น การมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้า นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มก. กล่าวว่า เชื่อจะดีกว่าสวัสดิการแบบพุ่งเป้า
ทั้งนี้ ดร. เดชรัต กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย กรณีที่นักวิชาการบางท่านหวั่นว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนกลุ่มรายได้น้อยติดนิสัยของการช่วยเหลือจนชิน ทำให้ต้องรอให้รัฐบาลมาช่วยเหลือตลอดนั้น กังวลว่าจะเป็นรัฐบาลแทนเสียมากกว่าที่จะติดนิสัยการแก้ปัญหารูปแบบการช่วยแบบสงเคราะห์ เพราะความจริงคนกลุ่มนี้ไม่เรียกร้องการสงเคราะห์ แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาที่เป็นแบบถาวร