สตง.ออกประกาศเอาผิดคนส่งต่อข้อความ 'ผู้ว่าฯ ' ถูกฟ้องปมรับสินบน
สตง.แพร่ประกาศเอาผิดบุคคลส่งต่อข้อความ ผู้ว่าฯ สตง.ถูกฟ้องปมรับสินบน ยันไม่ใช่เรื่องจริง -ใครฝ่าฝืนดำเนินคดีถึงที่สุด
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงเย็นวันที่ 27 พ.ย.2559 นี้ สตง.จะเผยแพร่ข้อความผ่านทางเว็บไซต์ สตง. เรื่อง ด่วนที่สุด ระบุว่า "ตามที่มีผู้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการฟ้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในเรื่องการรับสินบน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอเรียนว่า ข้อความที่นำมาลงเผยแพร่นั้นไม่ใช่ข้อความที่เป็นจริง การเผยแพร่ข้อความในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนังานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับความเสียหาย ผู้ที่ได้รับข้อความขอให้หยุดการเผยแพร่ สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อความต่อไป สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะดำเนินคดีกับบุคคลนั้นจนถึงที่สุดต่อไป"
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า การเผยแพร่ข้อความดังกล่าว เป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ สตง.รายหนึ่ง ในพื้นที่ภาคใต้ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับตน โดยกล่าวหาว่า มีการเรียกรับสินบนจากผู้บริหารสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง พร้อมมีคำสั่งห้ามและโยกย้ายตำแหน่งเพื่อไม่ให้เข้าตรวจสอบปัญหาการทุจริตในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
"ผมไม่เคยมีนโยบายสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบปัญหาการทุจริตของหน่วยงานใด ซึ่งกรณีการตรวจสอบสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ดังกล่าว ยอมรับว่าได้สั่งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ สตง.รายนี้ จริง เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการตรวจสอบโครงการต่างๆ ยังคงดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป " ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า กรณีนี้มีสาเหตุเกิดขึ้นจาก นายพงศ์ปณต สนิท ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ได้ยื่นฟ้องนายพิศิษฐ์ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคดีหมายเลขดำที่ 3766/2559 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ก.พ. 2560
โดยในสำนวนคำฟ้องระบุว่า เนื่องมาจากโจทก์ ได้เข้าตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงเสนอรายงานผลการตรวจสอบไปตามระบบราชการ จนถึงนายพิศิษฐ์ ก่อนที่ในเดือน พ.ย.2558 ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้ยื่นฟ้อง นายพิศษฐ์ ต่อศาลอาญา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.47/2558 จากนั้นก็มีการเจรจาต่อรองกัน ซึ่งหัวข้อหนึ่งคือ การสั่งห้ามโจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับการตรวจสอบ และขอให้มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดอื่นไกลจากนครศรีธรรมราช แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง และเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม
หลังจากนั้น โจทก์ก็ถูกออกคำสั่งย้ายไปเป็นผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบการดำเนินงาน สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 2 จ.ชลบุรี แต่ยังไม่ได้รับคำสั่ง ก่อนจะมีการออกคำสั่งฉุกเฉินกลางดึกของคืนวันที่ 13 พ.ย. 2559 สั่งการมายัง น.ส.อำไพ ยุกตเวทย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ปรึกษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 14 ให้ น.ส.อำไพออกคำสั่งห้ามโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2559 ซึ่ง น.ส.อำไพ ก็ปฏิบัติการออกคำสั่งสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 14 เลขที่ 28/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2559 สั่งห้ามโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ หากฝ่าฝืนถือว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยร้ายแรง
ในวันที่ 15 พ.ย. 2559 โจทก์จึงได้ยื่นฟ้องความผิดอาญา กับ น.ส.อำไพ ยุกตเวทย์ ข้อกล่าวหากระทำไม่สุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3682 /2559 ศาลประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 23 ม.ค. 2560 และยื่นฟ้องนายพิศิษฐ์ ในวันที่ 23 พ.ย. 2559 ดังกล่าว