ยกระดับ"คนขับ"รถโดยสารให้เป็น"กัปตัน"เพื่อความปลอดภัย
ความสูญเสียครั้งใหญ่ของชมรมผู้เกษียณอายุของ กสท.โทรคมนาคม จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถสาธารณะในเมืองไทย
จากกรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร บขส.999 ทะเบียน 32-4188 กรุงเทพมหานคร ซึ่งชมรมผู้เกษียณอายุ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เช่าเหมาเดินทางมาเที่ยวที่ จ. แพร่ และ จ.น่าน ได้ประสบอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ตกเหวลึกข้างทางบริเวณเขาพลึง ต.ด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีผู้เสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บ 20 คน ทั้งนี้ รมว.คมนาคมฯ ได้เน้นย้ำการบริการของ บขส. ให้มีความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานการเดินรถเทียบเท่ากับมาตรการด้านการบิน โดยเฉพาะการกำหนดเส้นทางการเดินรถจะต้องมีความชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางไปที่ไหน เพื่อมีหลักฐานเก็บบันทึกไว้หากมีปัญหาเกิดขึ้น ขณะที่คนขับรถและพนักงานต้อนรับบนรถโดยสาร (บัสโฮสเตส) ก็ต้องแนะนำตัวเองต่อผู้โดยสารว่าชื่อ นามสกุลอะไร เนื่องจากเป็นบุคคลที่ดูแลชีวิตของผู้โดยสาร ขณะเดียวกันต้องคุมเข้มในเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย โดยบัสโฮสเตสจะต้องแจ้งให้ผู้โดยสารได้รับทราบ ถ้าไม่คาดเข็มขัดก็ไม่สามารถที่จะออกรถได้
พร้อมทั้งสั่งการให้กรมการขนส่งทางบก กำหนดมาตรการที่ชัดเจนให้กับ บขส. และรถร่วม บขส. เกี่ยวกับการจำกัดชั่วโมงการขับขี่รถโดยสารประจำสัปดาห์ด้วยว่า แต่ละสัปดาห์จะต้องมีชั่วโมงขับรถไม่เกินเท่าใด ทำเหมือนกับการจำกัดชั่วโมงการบินของนักบินหรือกัปตันบนเครื่องบิน เพื่อให้ผู้ขับขี่พักผ่อนเพียงพอและไม่เป็นความเสี่ยงภัยในการขับรถ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อกำหนดเฉพาะกำหนดเวลาการพักรถในระหว่างวันเท่านั้นซึ่งกำหนดว่าทุกๆ 4ชม. ผู้ขับขี่จะต้องมีการจอดพักรถเป็นระยะเวลา 30 นาที ซึ่งต่อไปอาจมีการกำหนดเป็นรายสัปดาห์ว่า สัปดาห์หนึ่ง คนขับรถจะสามารถขับได้กี่ชั่วโมง รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบกและบขส.ติดตามข้อมูลเรื่องระบบติดตามรถ (จีพีเอส) เพื่อเฝ้าติดตาม (มอนิเตอร์)รถโดยสาร ควบคุมความเร็ว และป้องกันไม่ให้รถออกนอกเส้นทาง “อาคม”สั่งทางหลวง-ทางหลวงชนบทสำรวจเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยงหาแนวป้องอุบัติเหตุ-หลังทัวร์ตกเหวที่อุตรดิตถ์
การผลักดันให้เกิดนโยบาย “คนขับรถ” ที่มีความเป็นวิชาชีพเทียบเท่ากัปตัน ถือเป็นสิ่งที่ดีกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องฝากชีวิตไว้กับรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทางและรถไม่ประจำทาง (เช่น รถทัศนาจร รถนักเรียน รถรับส่งพนักงาน ฯลฯ) ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้นในหลายบริษัทฯ เช่น ระบบบริหารจัดการของ บ.นครชัยแอร์ มนตรีทรานสปอร์ต ฯลฯ แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับบริการที่มีอยู่ โดยสาเหตุที่ทำให้ระบบจัดการลักษณะนี้ทำได้ช้าและจำกัด มีหลายปัจจัยแต่ที่สำคัญ คือ
(1) โครงสร้างการประกอบการรถสาธารณะ ทั้งรถประจำทางและรถไม่ประจำทาง ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 80) จะเป็นรายย่อย มีรถ 1-2 คัน ทำให้การลงทุนเพื่อยกระดับความปลอดภัย พัฒนาคนขับเป็น “กัปตัน” การดูแลรักษา (maintenance) สภาพรถ การเปลี่ยนอะไหล่ตามระยะเวลา เป็นไปได้ยากเพราะมีต้นทุนที่สูง
(2) เมื่อเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้ระบบบริหารจัดการพนักงานขับรถ ตั้งแต่การคัดเลือก การฝึกอบรมพัฒนาทักษะ การกำหนดเงินเดือนในระดับที่สูงเพียงพอ สวัสดิการคนขับ การพักตามกำหนด การให้รางวัลหรือลงโทษ ฯลฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ที่มีจำนวนรถ ระบบบำรุงรักษาและระบบบริหารจัดการพนักงานขับรถ กรณีตัวอย่าง
1) วันที่ 10 พ.ย. 2559 รถตู้ร่วม บขส. (กท-ชัยนาท) ได้สกัดจับคนขับรถตู้เมาขับแหกด่านตำรวจ วัดแอลกอฮอล์ได้ 241 mg% โดยคนขับให้การว่านั่งดื่มเหล้ากับเพื่อน แต่ถูกเรียกตัวมาขับรถแทนคนขับหลักที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ แสดงว่าวินรถตู้/ผู้ประกอบการรายนี้ ไม่มีระบบที่จะเตรียมคนขับสำรองให้พร้อมกรณีคนขับประจำไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ขนส่งชัยนาท เชือดโชเฟอร์รถตู้เมาขับแหกด่าน แถมโดนไล่ออก ทำผิดซ้ำ
2) วันที่ 23 ต.ค. 2556 ชมรมผู้สูงอายุ ต.ชมภู อ.สารภี ได้นำคณะทัวร์ผ้าป่าฯ เช่าเหมารถทัศนาจร หจก.วีระพันธ์ทัวร์ และประสบเหตุที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 19 ราย โดยผู้ประกอบการดังกล่าว ใช้คนขับรถที่แม้จะมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะแต่ไม่ได้เป็นพนักงานขับรถประจำ และมาขับรถให้กับคณะทัวร์นี้เป็นงานแรกของปี (ล่าสุด 20 ธค.2558 รถทัวร์นำเที่ยวของ หจก.วีระพันธ์ฯ ได้นำคณะท่องเที่ยวมาเลเชียเกิดเหตุที่ดอยสเก็ต มีผู้เสียชีวิตถึง 14 รายและทางกรมการขนส่งทางบกได้เพิกถอนใบอนุญาตหลังจากเกิดเหตุติดกัน 3 ปี 39 ศพ) 3 ปี สังเวย 39 ศพ!เปิดตัว 'หจก.วีระพันธ์ทัวร์' เจ้าของรถทัวร์มาเลฯมรณะดอยสะเก็ด
(3) อุปกรณ์-ระบบเสริมต่างๆ เพื่อให้คนขับ ทำหน้าที่เทียบเท่า “กัปตัน” ในความเป็นจริงยังไม่เอื้ออำนวย อาทิ ระบบแจ้งตื่น (alert) เมื่อขับเร็วเกินกำหนด ขับเข้าสู่เส้นทางเสี่ยงหรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น อุบัติเหตุในเส้นทาง การซ่อมสร้างทาง จุดที่ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งอุปกรณ์ที่จะอำนวยให้รับข่าวสารได้สะดวกปลอดภัยในระหว่างขับรถโดยไม่ต้องใช้มือถือหรือ Hand free ระหว่างขับ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์และข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญ แต่คนขับมักจะต้องจัดหา ต้องสังเกตุหรือสื่อสารกันเอง
ปัจจุบันได้เริ่มมีระบบการใช้การ์ดแสดงตนก่อนขับรถ การตรวจวัดแอลกอฮอล์ และระบบ GPS ติดตาม ซึ่งจะช่วยระบุชั่วโมงการทำงาน การต้องจอดพักเมื่อครบ 4 ชั่วโมง ห้ามขับเกินชั่วโมงที่กำหนด และแจ้งเตือนเมื่อขับเร็วเกินกำหนด โดยระบบเหล่านี้ถ้าดำเนินการได้ครอบคลุมและกำกับอย่างจริงจังก็จะเป็นระบบที่มาช่วยกำกับให้เกิดความปลอดภัยได้อีกทางหนึ่ง แต่ขณะนี้ ก็ยังพบข้อจำกัดที่ต้องเร่งแก้ไข อาทิ
1) กรณีจอดเสียริมทาง แต่ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปในที่ปลอดภัย (วันที่ 21 สค. 59 จ.ลำปาง รถร่วม บขส.หมายเลข 175-29 จอดเสียริมทางตั้งแต่ช่วงเย็นและมีรถปิกอัพมาชนท้ายติดๆ กัน 2 เหตุการณ์ ในช่วงกลางคืน)
2) กรณีขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในเส้นทางเสี่ยง จำเป็นต้องมีการแจ้งเตือนเพื่อให้คนขับได้ใช้ความเร็วที่เหมาะสม ก่อนจะเกิดเหตุ ซึ่งที่เป็นอยู่ยังทำได้จำกัดและจะทราบตัวเลขความเร็วจาก GPS ก็เมื่อเกิดเหตุแล้ว (หรือบางกรณีก็ยังไม่ได้ติดตั้ง GPS)
3) กรณีแท็กซี่ รับเบอร์ผู้โดยสารจากศูนย์วิทยุ (โดยเฉพาะในต่างจังหวัด) ยังคงต้องขับไปพิมพ์เบอร์โทรศัพท์ไป ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้
(4) ผู้โดยสารหรือคณะทัวร์เองบางครั้งก็ละเลยเรื่องความปลอดภัย แต่กลับเน้นเรื่องราคา ความสะดวกสบาย หรูหรา รวมทั้งขาดการตรวจสอบประวัติบริษัทหรือผู้ประกอบการ การตรวจสภาพรถ การทำประกันภัย สัญญาเช่าเหมาที่รัดกุม และที่สำคัญคือไม่ได้เน้นคาดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างการเดินทาง เพราะการไปทัศนาจรมักจะมีกิจกรรมสันทนาการบนรถ ร้องเพลงการเดินไปมา ฯลฯ ดังนั้น การคาดหวังให้คนขับ เจ้าหน้าที่หรือบัสโฮสเตสมาช่วยกำกับผู้โดยสารให้ร่วมมือก็ไม่ง่ายเหมือนบนเครื่องบิน
1) ผลสำรวจการใช้เข็มขัดนิรภัยในปี 2558 โดย TDRI ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พบว่า ยังมีถึง 10% ที่ยังไม่ได้ติดตั้งทุกที่นั่ง ผู้โดยสารรถทัวร์กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดมีการคาดเข็มขัดสูงสุด แต่ค่าเฉลี่ยเพียง 46% และมีสัดส่วนคาดเข็มขัดลดลงโดยเฉพาะกรณีนั่งรถตู้
2) ทั้งนี้เหตุผลที่ระบุว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ได้แก่ อึดอัดไม่คุ้นเคย เดินทางใกล้ อายไม่กล้าใส่ และบางส่วนพบว่าเข็มขัดผูกติดไว้กับเบาะที่นั่ง
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายพนักงานขับรถสาธารณะมีความเป็นวิชาชีพแบบ “กัปตัน” และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับรถสาธารณะจึงเป็นความท้าทายที่ทางกระทรวงคมนาคมจะหาแนวทางจัดการช่องว่างของปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
1) คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง
1.1 ทบทวนหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบการที่จะต้องเข้มงวดเรื่องระบบบริหารจัดการความปลอดภัย เพื่อป้องกันผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่พร้อมมาวิ่งร่วมบริการ หรือกำหนดให้มีระบบรวมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้มีศักยภาพในการจัดการระบบความปลอดภัย ทั้งมาตรฐานพนักงานขับรถ มาตรฐานการดูแลรักษารถ และอื่นๆ
1.2 จัดทำ Poll สำรวจความปลอดภัยของรถสาธารณะเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการติดตามและประเมินผลมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่กำหนดไว้
2) กรมการขนส่งทางบก และ บขส. เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับติดตามเรื่อง “การขับเร็ว” โดยใช้ระบบ GPS ที่มีอยู่ให้สามารถแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ ทั้งรถที่รับผิดชอบดูแลและรถร่วมบริการ รวมทั้งความเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การทำรอบ-ขับเกินชั่วโมงการทำงาน ส่งผลให้อ่อนล้าหลับใน การจอดรถในที่ห้ามจอด ฯลฯ
3) กระทรวงคมนาคม พัฒนาระบบการสืบสวนสาเหตุเชิงลึกในเหตุการณ์สำคัญหรืออุบัติเหตุซ้ำซาก เพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริง (ไม่เฉพาะเรื่องขับรถประมาท) แบบเดียวกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการ จะมี NTSB (National Transportation Safety Board) เป็นหน่วยงานอิสระที่เชี่ยวชาญเพื่อสอบสวนสาเหตุทั้งทางบก อากาศ ทางน้ำฯ และให้ข้อเสนอหรือมาตรการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาซ้ำซาก รวมทั้งมีระบบตรวจสอบ (Audit) ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมให้บริการ ต้องระงับบริการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ
4) กรมการขนส่งทางบก จัดทำข้อมูลประวัติผู้ประกอบการให้สามารถสืบค้นได้ เช่น มี Application สืบค้นเมื่อต้องใช้บริการรถสาธารณะ (ประวัติให้บริการ การเกิดเหตุที่ผ่านมา ผลการตรวจสภาพ การทำประกันภัย ฯลฯ)
5) การส่งเสริมการคาดเข็มขัดนิรภัย
5.1 กรมการขนส่งทางบก ทบทวนระเบียบการคาดเข็มขัดนิรภัย ให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ แทนที่กฎหมายเดิมที่กำหนดผู้โดยสารถูกปรับสูงสุด 5,000 บาทถ้าไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
5.2 กรมการขนส่งทางบก กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานต่างๆ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนตระหนักความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อโดยสารรถประจำทาง
5.3 หน่วยงานทั้งรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ร่วมกำหนดเป็นมาตรการองค์กรให้พนักงานที่โดยสารรถขององค์กรต้อง “คาดเข็มขัดนิรภัย”
วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาถือเป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจาก UN กำหนดให้เป็นวัน “โลกรำลึก ผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 เพื่อให้ทุกๆ ความสูญเสียได้รับการรำลึกและที่สำคัญคือนำมาเป็น “บทเรียน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ดังนั้น ความสูญเสียครั้งใหญ่ของชมรมผู้เกษียณอายุของ กสท.โทรคมนาคม จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถสาธารณะในเมืองไทย
ขอบคุณภาพจาก : โพสต์ทูเดย์