เอ็นจีโอ ห่วงสมาคมประมงเสียงแตก-งัดข้อ ส่อไร้ทิศทางแก้ปัญหาไอยูยู
ศปมผ.รับใช้ยาแรงแก้ใบเหลืองประมง เอ็นจีโอ ห่วงสมาคมประมงเสียงแตก-งัดข้อ ส่อไร้ทิศทางแก้ปัญหา IUU Fishing ขณะที่นักวิชาการเผยต่างด้าวไหลเข้าไทย เพราะรายได้ต่อหัวสูง ชี้คนลอบเข้าเมือง เพราะขั้นตอนกฎหมายไทยยุ่งยาก จ่ายแพง
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 โครงการ TCIJ School ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเวทีเสวนา ‘ทะเลไทย...ใบเหลือง EU - TIER กับการค้ามนุษย์’ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองประเทศไทย กรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ว่า ปัจจุบัน ศปผม. ได้แก้ปัญหาไปหลายเรื่องแล้ว เช่น ออกพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558, ติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS), จำกัดการทำประมงให้สมดุล โดยเรือที่หาปลาฝั่งอ่าวไทยออกเรือได้ 220 วันต่อปี ฝั่งอันดามันออกเรือได้ 235 วันต่อปีจากเดิมออกได้ 250 วันต่อปี, ปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ, จดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง เพื่อแก้ปัญหาเรือผี เรือสวมทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีเรือจำนวน 8,024 ลำ ที่ไม่มาให้ตรวจก็ถูกยกเลิกทะเบียนไป และบางส่วนก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ , มีการยึดทำลายเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ไอ้โม่ง โพงพาง เรือปั่นไฟ
ส่วนประเด็นด้านแรงงาน พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า EU มีข้อเรียกร้องให้แรงงานมีสิทธิเสรีในการตั้งสหภาพกันเองได้ แต่ในกฎหมายบ้านเราอนุญาตให้แรงงานเป็นสมาชิกของสหภาพที่ตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ เพราะ EU ต้องการให้แรงงานมีอำนาจต่อรองหรือนำข่าวสารที่ถูกข่มขู่บังคับออกมาเปิดเผย หรือขอความช่วยเหลือ อีกกรณีคือ EU ต้องการให้คุ้มครองแรงงาน เช่นกรณีที่แรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงาน นายจ้างต้องเป็นฝ่ายรับผิด เอาโทษเฉพาะนายจ้าง ให้คุ้มครองแรงงาน ส่วนข้อสุดท้ายคือ การต่ออายุใบอนุญาตปกติเมื่อครบ 2 ปี แรงงานต้องกลับประเทศก่อนแล้วค่อยเข้ามาใหม่ แต่ EU ขอให้ช่วยเหลือแรงงาน ต่อครั้งละ 2 ปีโดยไม่ต้องเดินทางกลับ ซึ่งบางเรื่องเราก็ทำให้บางเรื่องก็ต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย ส่วนเรื่องการจดทะเบียนต่างด้าวนั้นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
“การทำงานของ ศปมผ. ในห้วงแรกใช้ยาแรง กระทบผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านที่ใช้เครื่องมือทำประมงที่ผิดกฎหมาย แต่เราก็ช่วยเหลือเยียวยา สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย รัฐก็มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืม ทั้งนี้ยืนยันว่า การทำงานของ ศปมผ. ต้องการให้ทรัพยากรทางทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์ สร้างความยั่งยืน และธรรมภิบาลในการทำประมง ซึ่งเชื่อว่าถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ จะสามารถปลดใบเหลืองปลดได้แน่นอน”
ส่วนกรณีสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report :TIP Report) นั้น พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ระดับ Tier 2 Watch List ในกรณีที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาอาจถูกลดหรือตัดสิทธิทางการค้า ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษเชิงสัญลักษณ์ เพราะสิทธิทางการค้าตรงนี้มีมูลค่าไม่มากนัก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ประมงในปัจจุบันพบว่า สภาพแรงงานถูกบังคับค้ามนุษย์มีน้อยลง เพราะกฎหมายแรง เจ้าหน้าที่ตรวจตราเข้มงวด จึงเปิดช่องให้กระทำความผิดน้อยลง
“จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า แรงงานมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท ในกรณีแรงงานประมงพื้นบ้านค่าแรงวันละ 600 บาท ขณะเดียวกันยังพบว่า มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนขยับฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของเรือประมงลำเล็กๆ เป็นเจ้าของแผงขายอาหารทะเลในตลาดสด ซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องเข้าไปจัดการ เพราะในทางกฎหมายยังเป็นข้อห้ามอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้สะท้อนว่า แรงงานไม่ได้อยู่ในสภาพถูกบังคับ ในทางกลับกันก็มีเสียงจากฟากเรือพาณิชย์ นายจ้างบางรายระบุว่าจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าไปแล้ว 3 เดือน แต่เอาเข้าจริงทำงานแค่เดือนสองเดือนแรงงานต่างด้าวก็หนี้ก็ลาออก อีกทั้งยังต้องเสียค่าจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีก 1,000 บาทต่อคน เรื่องเหล่านี้นายจ้างก็อยากให้คุ้มครองเช่นกัน” พล.ร.ท.วรรณพล กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการค้ามนุษย์นั้น สิ่งที่ต้องกำจัดให้หมดไปคือ โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นนายหน้าค้าแรงงาน เพราะคนเหล่านี้เข้ามาสร้างปัญหา ผ่องถ่ายแรงงานไปยังที่ต่างๆ
ด้านนายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่าในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแรงงานกับภาครัฐ อยากให้มีการเข้าไปสำรวจสอบถามคนทำงานว่า หลังจากที่ภาครัฐเข้ามาจัดระเบียบอยู่ได้หรือไม่ ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบการ นายทุน สมาคมฯ ในภาคการประมงก็ยังเสียงแตก แบ่งเป็นฝั่งฟาก สุดท้ายจะแก้ปัญหา IUU Fishing ไปทิศทางไหนบนแนวคิดที่กลุ่มมีความแตกต่างกัน และจะหาสมดุลสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร
ส่วนสถานการณ์การค้ามนุษย์นั้น ผอ.สมพงษ์ กล่าวว่า มีกรณีร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิฯ ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อน บ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่า สถานการณ์ค้ามนุษย์ในภาคการประมงเริ่มลดลง และแรงงานประมงเด็กก็พบเห็นเพียงปละปลาย ขอตรวจเอกสาร ดูบัตรก็พบว่าส่วนใหญ่อายุเกิน 18 ปี ตรงนี้ก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่ง
ขณะที่ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณี TIP Report ว่า ปี 2559 เราอยู่ระดับ Tier 2 Watch List ส่วนปี 2557-2558 เราอยู่ระดับ Tier 3 ขณะเดียวกันหากมองในประเทศกลุ่มอาเซียนและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะพบว่า แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสิงคโปร์ ก็ยังมีปัญหาในเรื่องนี้ และไม่สามารถกดมาอยู่ในระดับ Tier 1 ได้ ส่วนกรณี IUU Fishing ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการค้ามนุษย์ แต่ครอบคลุมถึงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย เรือ อาชญาบัตร เครื่องมือจับปลา ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ การตรวจสอบที่มาของปลาแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งไทยได้ใบเหลือง แจ้งเตือนว่าไทยไม่ให้ความร่วมมือกับอียูในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
รศ.ดร.กิริยา กล่าวถึงสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทย เพราะรายได้ต่อหัวสูงกว่าเพื่อนบ้าน ลาวอยู่ที่ 1,759 เหรียญสหรัฐฯ กัมพูชาอยู่ที่ 2,078 เหรียญสหรัฐฯ ไทยอยู่ที่ 7,595 เหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนคนจน ลาว ร้อยละ 26 กัมพูชา ร้อยละ 34 ไทย ร้อยละ 2 ประกอบกับไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นปัจจัยดึงให้แรงงานเหล่านี้เข้ามา ซึ่งก็มีทั้งคุณและโทษ
“ข้อมูลแรงงานข้ามชาติจำแนกตามสัญชาติ ณ เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า มีแรงงานเมียนมาเข้ามาในไทยร้อยละ 57 กัมพูชา ร้อยละ 32 และลาว ร้อยละ 11 อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า บ้านเรายังไม่สามารถกำหนดทิศทางของนโยบายแรงงานได้ชัดเจนและสอดรับกับแผนของประเทศ มีปัญหาบริษัทนายหน้า การเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาและเงินมาก รวมถึงยังขาดนโยบายเชิงรุกในการคัดเลือกแรงงานต่างชาติที่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลในการกำหนดตัวเลขความต้องการใช้แรงงานต่างชาติของประเทศ จำแนกตามอุตสาหกรรมและบริษัท”