ไกร ตั้งสง่า กับข้อเสนอในร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การที่มหาวิทยาลัยมารับจ้างประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุมด้วยการตกลงกับภาครัฐโดยวิธีพิเศษ ทั้งทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่มีบุคลากรประจำที่มีหน้าที่โดยตรงในการออกแบบก่อสร้าง ทำให้ต้องใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาเอกชนในการรับจ้างช่วงต่อ โดยการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
นายไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร ทำหนังสือ ถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เรื่องข้อเสนอคณะกรรมาธิการฯ ในร่างพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ใจความในหนังสือระบุว่า ด้วยคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร เรื่อง มาตรฐานใหม่การป้องกันและปราบปรามทุจริตในยุคปฏิรูปประเทศ เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ณ อาคารรัฐสภา 2 และได้เสนอความเห็นให้แก่คณะกรรมาธิการฯ ในร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... ดังต่อไปนี้
1.ในการจัดซื้อจัดจ้างนิติบุคคลเพื่อประกอบงานวิชาชีพสถาปัตยกรรม วิศวกรรมควบคุมของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ขอให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 การจัดจ้างนิติบุคคลเพื่อประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือวิศวกรรมควบคุม ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคลจากสภาสถาปนิก หรือสภาวิศวกร เป็นสำคัญ
2.การจดทะเบียนนิติบุคคล กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กระทรวงการคลังในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุม นิติบุคคลนั้น ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคล จากสภาสถาปนิก หรือสภาวิศวกร
3.หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถว่าจ้างสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุมได้ เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 และพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล จากสภาสถาปนิกหรือสภาวิศวกร ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 หรือพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542
4.มหาวิทยาลัยมีจุดประสงค์ในด้านการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการที่มิใช่การประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมควบคุม การที่มหาวิทยาลัยมารับจ้างประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรมควบคุมด้วยการตกลงกับภาครัฐโดยวิธีพิเศษ ทั้งทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่มีบุคลากรประจำที่มีหน้าที่โดยตรงในการออกแบบก่อสร้าง ทำให้ต้องใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาเอกชนในการรับจ้างช่วงต่อ โดยการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
การกระทำของมหาวิทยาลัยดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม เข้าข่ายกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 75 หมวด 6 ว่า รัฐจะต้องไม่แข่งขันกับเอกชน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติวิชาชีพรัฐโดยรัฐ โดยไม่มีค่าบริการวิชาชีพในลักษณะเดียวกันกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมศิลปกร ฯลฯ
นอกจากนั้นการที่มหาวิทยาลัยมารับงานสถาปัตยกรรมควบคุมหรือวิศวกรรมควบคุม อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กล่าวคือ ไม่จ่ายภาษีการค้า ภาษีรายได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งไม่ต้องผ่านระบบการตรวจสอบจากป.ป.ช.ม.103/7 และปัญหาเรื่องคุณภาพของผลงานและความรับผิดชอบต่อผลงาน ที่จะมานำไปสู่ซึ่งปัญหาทั้งคุณภาพและความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพราะไม่ได้อยู่ในการควบคุมของสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร
หวังอย่างยิ่งว่า คณะกรรมาธิการฯ จะผลักดันบรรจุเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมอยู่ในพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อันซึ่งจะนำประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามทุจริต จะเป็นผลทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อผลงาน มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ศิริพล ยอดเมืองเจริญ' ยันไม่คิดถอนร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ออกจากสนช.
รายละเอียดมาก ปธ.กมธ. ขอต่อเวลาอีก 30 วันพิจารณาร่างกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ
เปิดข้อสังเกตศาลปกครอง 2 ฉบับ ที่มีต่อร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
นักนิติศาสตร์จี้รัฐถอนร่างกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ้นสนช. หวั่นทำปท.ถอยหลังไปยุคจอมพลสฤษดิ์
ที่มาภาพ:http://www.oag.go.th/