ป่าในเมือง สู่การสร้าง “ความเข้าใจ” คน เมือง ป่า อยู่ร่วมกันได้
"..ปัญหาของคนกรุงเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของป่าในเมืองคือยังคงมีความเข้าใจน้อยและเข้าใจไปคนละทาง ส่งผลให้เกิดความรู้ ความตระหนักถึงปัญหาของการลดลงของจำนวนป่าไม้ในเมืองยังไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนเมืองกลับมาตระหนักถึงคุณค่าตรงนี้ และให้คนเมืองเชื่อว่า “ป่าในเมือง” สามารถเกิดขึ้นได้.."
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีเพจหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นใช้ชื่อว่า “Urban Forest ป่าในเมือง ต้นไม้มากกว่าต้นไม้”
โดยเนื้อหาสำคัญในเพจนี้ ที่พยายามกำหนดวาระข่าวสาร สร้างความสนใจ และนำไปสู่ความเคลื่อนไหวของคนในสังคม คือ เรื่องการรณรงค์ดูแลรักษาต้นไม้ในเมือง
ภายใต้แนวคิดป่าในเมือง สู่การสร้าง “ความเข้าใจ” คน เมือง ป่า อยู่ร่วมกันได้
ทั้งนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ทันทีเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น ทั้งความเป็นอยู่ การค้าขาย การติดต่อสื่อสาร และการคมนาคม เมื่อความ “ล้าหลัง” ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ทันสมัย” เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับมนุษยชาติ ในขณะเดียวกันกลับค่อยๆ ทำลายพื้นที่ "ป่าไม้" ที่มีอยู่เดิมอย่างเลือดเย็น
เมื่อคนรุกรานธรรมชาติอย่างหนัก ธรรมชาติจึงต้องป้องกันตัวเอง
จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ที่เคยโอบอุ้มน้ำถูกบุกรุกจนหายไปเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดินโคลนถล่ม ฝนตกไม่ตรงฤดูกาล และที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลกอยู่ตอนนี้คือภาวะเรือนกระจก ที่นับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกลุ่มประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นถึงปัญหาตรงนี้และอยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต สังเกตได้จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่มีการมุ่งเน้นการทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาการอนุรักษ์ป่าไม้
ขณะที่งานวิจัย ภายใต้แนวคิดป่าในเมือง สู่การสร้าง “ความเข้าใจ” คน เมือง ป่า อยู่ร่วมกันได้ ก็ดูเหมือนจะหยิบประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ขึ้นมาศึกษาเช่นกัน
หากแต่เพียงกรอบแนวคิดการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ดูเหมือนจะพุ่งตรงมาเล่นประเด็น เรื่องป่าไม้ในพื้นที่เขตเมืองเป็นหลัก และมีการนำสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญของชีวิตคนในเมือง เข้ามาเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัย ด้วย
รศ.ดร. กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร หนึ่งในทีมงานวิจัยโครงการความเต็มใจจ่ายเพื่อพื้นที่ป่าในเมือง ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาความเต็มใจจะจ่าย(เงิน) เพื่อพื้นที่ป่าไม้ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการแสดงความเต็มใจจ่ายในวิจัยชิ้นนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการเงินต่อการจัดการป่าไม้ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน
ตัวแทนทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง เพจ “Urban Forest ป่าในเมือง ต้นไม้มากกว่าต้นไม้” เล่าให้สำนักข่าวอิศราฟัง ถึงรายละเอียดของโครงการนี้ว่า การทำงานครั้งนี้จะมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน โดยในระยะแรกนั้นคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ให้มีความเข้าใจคำว่า “ป่าในเมือง” ให้ตรงกัน โดยผ่านการขับเคลื่อนองค์ความรู้ผ่านทาง Facebook fanpage “Urban Forest ป่าในเมือง ต้นไม้มากกว่าต้นไม้” ซึ่งสื่อออนไลน์ถือเป็นช่องทางที่คนในเมืองนั้นเข้าถึงได้มากที่สุด
“การทำงานจะมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน แต่ว่าช่วงแรกเราต้อง ให้ความรู้กับสังคมไปเรื่อยๆ ก่อน ให้ความรู้กับสาธารณะโดยเฉพาะสาธารณะที่อยู่ออนไลน์ และ เราจะมีกิจกรรมต่างๆ ตามมาอีกหลายอย่าง อย่าง 6-8 เดือนแรก ขอให้คนเมืองเข้าใจคำว่าป่าในเมืองตรงกันก่อน เมื่อเขาเข้าใจ ตระหนัก แล้วเกิดความรู้สึกหวงแหนแล้ว เราจะไปพูดถึงขั้นตอนที่ 2 ซึ่งคือเรื่องความเต็มใจจ่ายของงานวิจัย ”
@ เมื่อคนเมืองแทบไม่เหลียวแล พื้นที่สีเขียวน้อยนิดใกล้ตัว
สำหรับคนเมืองกรุงที่ต้องพบเจอปัญหามากระทบในแต่ละวันทั้งจากครอบครัว การทำงาน และเพื่อนพ้อง รวมไปถึงปัจจัยภายนอกที่สะท้อนให้เห็นถึงความ “แห้งแล้ง” ในความเจริญ ส่งผลให้คนเมืองเกิดภาวะเครียดสูง เมื่อมีวันหยุดการเดินทางไปต่างจังหวัดที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มพลังงานชีวิตถือเป็นตัวเลือกทางหนึ่งที่คนนิยมทำกัน
จากการสอบถามกลุ่มนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการเลือกสถานที่พักผ่อนในวันหยุดพบว่า ส่วนใหญ่นิยมเลือกไปเที่ยวป่าเขาตามต่างจังหวัดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ มากกว่าที่จะใช้เวลาว่างตรงนั้นอยู่ในเมืองที่มีการจราจรที่แออัด “ถ้าวันหยุดที่ไม่มีธุระอะไรเลยจะไปต่างจังหวัด เขาใหญ่ เชียงใหม่ขึ้นดอย ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หรืออาจจังหวัดใกล้ๆ ก็ได้ที่มีป่า ในกรุงเทพฯ นี่อากาศไม่ค่อยดี ควันเยอะ และเสียเวลาตรงรถติด เสียเงินไปเที่ยวมากหน่อยแต่ได้ไปเจอธรรมชาติมันก็คุ้ม”
ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของรศ.ดร. กุลทิพย์ ที่ว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจเกี่ยวกับต้นไม้ในเมืองน้อย ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลให้คนมองข้ามความเป็นไปได้ที่ “เมือง” จะมี “ป่า” อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวยิ่งตอกย้ำว่าคนกรุงกำลังหลงลืมต้นไม้ใหญ่ในเมืองไปอย่างง่ายดาย
“ครูเอาเรื่อง Urban Forest ไปสอนนักศึกษา เขาไม่มองพื้นที่ป่าในกรุงเทพเลย เขามองไกลมากถ้าจะไปป่าเขาก็ไประยอง ไปเขาใหญ่ เพราะเขาไม่แคร์อะไร เขาอยากไปเขาก็เดินทางไปเอง โดยที่เขาไม่นึกว่า เขาสามารถสร้างและดูแลป่าในเมืองได้โดยไม่ต้องเดินทาง”
@ คน เมือง ป่า อยู่คู่กันได้
“Urban Forest” หรือ “ป่าในเมือง” คือการดูแลจัดการต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมในเขตพื้นที่เมืองให้มีความอุดมสมบูรณ์และช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจคำนี้ และคิดเพียงว่ากรุงเทพมีป่าที่เป็นสวนสาธารณะพอแล้ว แต่ในความจริงมันไม่พอ ทุกวันนี้หากพูดว่า ป่าในเมือง คงยากที่จะจินตนาการตาม
“ป่าในเมือง คนกรุงเทพจะคิดว่าป่าในเมืองคือสวนสาธารณะ คือเขาดิน คือต้นไม้กลางถนน แต่ความจริงมันไม่ใช่ ป่าในเมืองมันมีมากกว่านั้น เช่น คนที่มีบ้านส่วนตัวสามารถทำบ้านของตัวเองให้เป็นป่าได้ ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ ก็สามารถเป็นป่าในเมืองได้ ทุกๆ ที่เป็นป่าได้ถ้าคนหันกลับมาสนใจ” รศ.ดร. กุลทิพย์กล่าว
@ สร้างความรู้ ให้คนตระหนัก ว่า เมืองก็ต้องการป่า
ปัญหาของคนกรุงเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของป่าในเมืองคือยังคงมีความเข้าใจน้อยและเข้าใจไปคนละทาง ส่งผลให้เกิดความรู้ ความตระหนักถึงปัญหาของการลดลงของจำนวนป่าไม้ในเมืองยังไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนเมืองกลับมาตระหนักถึงคุณค่าตรงนี้ และให้คนเมืองเชื่อว่า “ป่าในเมือง” สามารถเกิดขึ้นได้
และนั้นดูเหมือนจะเป้าหมายสูงสุดในการทำวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่น่าท้าทายเป็นอย่างยิ่ง!