อดีตปธ.สภานสพ.ชี้บทบาทสื่อใหม่ต้องชัดเจนในวิชาชีพ กล้ารับผิดชอบสิ่งที่นำเสนอ
'จักร์กฤษ เพิ่มพูล' อดีตปธ.สภานสพ. ลั่นสื่อใหม่ต้องชัดเจนในวิชาชีพ รับผิดชอบข่าวที่นำเสนอ ระบุหากขาดความน่าเชื่อถือกลายเป็นไร้ประโยชน์ ส่วน 'สกุลศรี ศรีสารคาม' นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ชี้ทางรอด เร่งปรับตัว ทั้งการทำงาน-เนื้อหา มีความแตกต่างควบคู่คุณภาพ เจาะจงเฉพาะทางมากขึ้น ขายข่าวเน้นปริมาณผู้อ่านอย่างเดียวไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลิตสื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และมีจริยธรรม ณ โรงแรมพักพิงอิงทาง บูทิคโฮเทล จังหวัดนนทบุรี โมีผู้เข้าร่วมอบรมได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและผู้ผลิตสื่อ สื่อท้องถิ่น นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นักเรียนและนักศึกษา
โดยมี ผศ. สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นาย ระวี ตะวันธรงค์ Social Media Manager ของไทยรัฐ และนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้
ผศ.สกุลศรี กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเลือกรับข่าวสารมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง ผู้รับสารจึงเลือกเสพสื่อที่เฉพาะทางมากขึ้น ส่งผลให้สื่อในปัจจุบันต้องมีการปรับตัวทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการทำงานเพื่อความอยู่รอด
"สื่อต้องมีการปรับตัว ทั้งในเรื่องการทำงานและเนื้อหา สื่อต้องมีความแตกต่างควบคู่ไปกับคุณภาพ สื่อไม่สามารถสร้างเนื้อหาเน้นปริมาณคนอ่านอย่างเดียวได้แล้ว แต่ต้องสร้างเนื้อหาที่เจาะจงมากขึ้น เฉพาะทางมากขึ้น เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกในสิ่งที่ตนเองชอบเพราะเขามีตัวเลือกมากในปัจจุบัน "
ผศ.สกุลศรี ยังกล่าวอีกว่า การสร้างเครือข่าย(community) คือสิ่งสำคัญ สำหรับการทำข่าวในยุคปัจจุบัน เนื่องจากด้วยจำนวนนักข่าวที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถเดินทางไปทำข่าวในหลายพื้นที่ได้ในเวลาเดียว การใช้ community จากสื่อออนไลน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบุคคลที่เป็นผู้ใช้งานสื่อออนไลน์มีอยู่ในทุกพื้นที่ และพร้อมจะบอกข่าวตลอดเวลา
"การทำข่าวบางครั้งประเด็นที่สนใจมันต้องใช้ข้อมูลจากหลายพื้นที่ การดึงประชาชนให้มาอยู่ในกระบวนการทำข่าวจึงสำคัญ นักข่าวสามารถสร้าง community ของตนเองบนโซเชียลมีเดีย (social media) เพื่อร่วมระดมข้อมูลมาทำข่าว ช่วยกันตรวจสอบ นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลมาแตกประเด็นได้อีกด้วย "
ในส่วนของกฎหมายและจริยธรรมสื่อนั้น นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ในปัจจุบันที่ต้องอาศัยความเร็วในการนำเสนอ แต่ต้องมีการตรวจสอบก่อนนำเสนอ ทั้งยังต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนที่ตกเป็นข่าวและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม การเลือกภาพหรือพาดหัวข่าวก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้สื่อยังต้องทำหน้าที่รายงานข่าวตามวิชาชีพด้วยจิตสำนึก เพื่อประโยชน์ของสาธารณะชน และต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับข่าวของตนเองในทุกกรณี
"สื่อต้องมีความชัดเจนในวิชาชีพ และต้องมีความรับผิดชอบต่อข่าวของตนเอง ตระหนักรู้ถึงผล กระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นจากการทำข่าวของสื่อเอง เพราะสื่อเป็น กระจกสะท้อนสังคมและทำงานอยู่บนพื้นที่สาธารณะ หากสื่อไม่รับผิดต่อสิ่งที่ทำ สื่อก็จะไม่น่าเชื่อถือ และเมื่อไหร่ที่สื่อไม่น่าเชื่อถือ สื่อก็จะไม่มีประโยชน์"